ดูแบบคำตอบเดียว
  #9  
เก่า 07-02-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,107
Default


หลายคำถามกับปะการังฟอกขาว (1) .................. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์




เหตุการณ์ปิดจุดดำน้ำในเขตอุทยานอันเนื่องมาจากผลกระทบของปะการังฟอกขาว ทำให้เกิดเสียงฮือฮาในสังคม มีคำถามมากมายเกิดขึ้นเกี่ยวกับท้องทะเลไทย ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอคั่นจังหวะการไปฝรั่งเศสไว้หนึ่งตอน เพื่อบอกเล่าแนวคิดของผมเกี่ยวกับคำถามเหล่านี้ครับ

ปะการังฟอกขาวเพิ่งเกิดเหรอ ? - หากใครติดตามข่าวสารเกี่ยวกับทะเลไทย อาจจำได้ว่าเราเคยมีข่าวเกี่ยวกับปะการังฟอกขาวเมื่อกลางปี 2553 แต่ถ้านับข้อมูลที่รายงานโดยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เราทราบเหตุการณ์มาตั้งแต่ต้นปีก่อน และเริ่มพยายามหาทางรวบรวมข้อมูลเรื่อยมา เช่น ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการศึกษาวิจัยใน “โครงการ สำรวจและจัดทำข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่วิกฤตทางความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Hotspots) จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล” ภายใต้ความสนับสนุนของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เรามีโอกาสติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังในกลุ่มจังหวัดเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง

เหตุการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดมาตั้งแต่ต้นปีถึงกลางปีก่อน จนสถานการณ์ผ่านพ้นไปหมดแล้ว ปัจจุบัน เรากำลังรับมือจากผลของปะการังฟอกขาวที่ทำให้เกิดปะการังตายในหลายพื้นที่ทั่วทะเลไทย มิใช่รับมือกับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว

แล้วทำไมเพิ่งฮือฮา ? - สำหรับสังคมแล้ว นี่อาจเป็นเรื่องเพิ่งฮืฮฮา แต่สำหรับเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เราติดตามสถานการณ์นี้มาตลอด หากจำกันได้ ผมเขียนเรื่อง “ความตายสีขาว” ใน “ผู้จัดการ” ในเดือนพฤศจิกายน 2553 โดยบอกรายละเอียดต่างๆไว้แล้วบ้าง กลุ่มนักดำน้ำบางท่านก็ไปเห็นเหตุการณ์จริงและเป็นกระทู้ในเว็บไซต์บางแห่งมาตลอด

ความหมายของ “ฮือฮา” เกิดเมื่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ประสานกับเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เห็นว่าสถานการณ์ไม่สู้ดี ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่รับทราบปัญหา อีกทั้งฤดูการท่องเที่ยวกำลังเริ่มต้นแล้ว จึงออกมาแถลงข่าวเพื่อรายงานสถานการณ์จริงให้เป็นที่รับทราบ ตามด้วยข้อเสนอแนะในการปิดพื้นที่บางแห่งไม่ให้ท่องเที่ยว จากนั้นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงเรียกประชุมกลุ่มนักวิชาการและเจ้าหน้าที่อุทยาน เพื่อหาทางออกร่วมกัน ก่อนกลายเป็นการแถลงข่าวในภายหลัง

เมื่อเทียบกับสึนามิแล้วเป็นเช่นไร ? - ภัยพิบัติตามธรรมชาติที่เกิดผลกระทบรุนแรงกับแนวปะการังไทย แยกง่ายๆเป็น 3 แบบ
-อันดับแรกคือพายุ เช่น พายุไต้ฝุ่นเกย์ทำให้ปะการังในเกาะเต่าและหมู่เกาะชุมพรแตกหักเป็นจำนวนมาก
-อันดับที่สองคือสึนามิ ทำให้ปะการังหลายพื้นที่ในทะเลอันดามันเกิดความเสียหาย
-อันดับสุดท้ายคือปะการังฟอกขาวที่เคยเกิดในทะเลไทยอย่างรุนแรงมาแล้วอย่าง น้อย 2 ครั้ง เช่น ปี 2540-41

ปะการังฟอกขาวเกิดผลกระทบต่างจากไต้ฝุ่นหรือสึนามิ ในสองกรณีนั้น ปะการังจะแตกหักจากความรุนแรงของคลื่นและกระแสน้ำ จุดที่ตั้งของแนวปะการังจึงเกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวปะการังในร่องน้ำหรือจุดที่คลื่นพัดผ่านย่อมเกิดผลรุนแรง แนวปะการังที่ไม่โดนคลื่นหรือโดนน้อยย่อมเกิดผลเบากว่า ผิดจากเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเลแบบผิดปรกติ น้ำร้อนไปถึงทุกที่ซึ่งมีแนวปะการัง ทำให้ผลกระทบกระจายกว้างกว่า อย่างไรก็ตาม จุดที่ตั้งของแนวปะการังอาจมีความเกี่ยวข้องอยู่บ้าง เช่น แนวปะการังบริเวณที่มวลน้ำไหลเวียนดี อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า แต่ไม่มากนัก

ชนิดของปะการังยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ปะการังเขากวาง ปะการังพุ่ม ปะการังแผ่นตั้งและแผ่นนอน จะได้รับผลกระทบมากกว่าปะการังก้อน โดยเฉพาะปะการังเขากวางที่ตายเกือบหมด อ่าวหลายแห่งที่มีปะการังเขากวางจำนวนมาก เช่น เกาะตอรินลา หมู่เกาะสุรินทร์ จะได้รับผลกระทบสูง จนเหลือปะการังที่รอดชีวิตไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ผิดจากแนวปะการังที่มีปะการังก้อนเป็นหลัก อาจมีปะการังที่รอดชีวิตมากกว่าครึ่ง

เมื่อเทียบความรุนแรงกับภัยพิบัติต่างๆที่ผ่านมา รวมทั้งเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวในอดีต เราถือว่าครั้งนี้คือเหตุการณ์รุนแรงที่สุด เพราะเราได้รับผลกระทบในแทบทุกเกาะทั้งสองฝั่งทะเล ไม่ใช่เฉพาะแต่ในทะเลอันดามัน แม้แต่การปิดจุดดำน้ำในอุทยานฯ ยังรวมถึงบางแห่งในอ่าวไทย เช่น เกาะพร้าว อุทยานฯหมุ่เกาะชุมพร

ปิดอุทยานหมายความว่าอย่างไร ? - นี่คือข้อความที่ต้องอธิบายให้กระจ่าย การปิดอุทยานแห่งชาติ หมายถึงไม่เปิดให้บริการด้านการท่องเที่ยวนันทนาการ เป็นอำนาจของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่การปิดพื้นที่ดำน้ำในอุทยานฯ เป็นอำนาจของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ไม่จำเป็นต้องรออธิบดีออกคำสั่ง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือการ “ปิดพื้นที่ดำน้ำ” มิใช่ “ปิดอุทยาน” เราสามารถไปหมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน พีพี ฯลฯ ตามปรกติ แต่เราอาจไม่สามารถดำน้ำในบางพื้นที่ซึ่งถูกปิด ในพื้นที่เหล่านั้นจะไม่มีทุ่นจอดเรือ แต่มีทุ่นสีขาวขึงไว้กั้นแทน อุทยานฯแต่ละแห่งยังประสานกับกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อแจ้งให้ทราบ

ปิดแล้วช่วยได้จริงหรือ ? - คำถามนี้ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด ในอดีตเราเคยปิดจุดดำน้ำแฟนตาซี หมู่เกาะสิมิลัน เพราะผลกระทบจากนักดำน้ำที่มีมากเกินไป หลังจากปิดมาแล้วเกือบสิบปี สภาพปะการังอ่อนและกัลปังหาฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ เช่น อ่าวแม่ยาย หมู่เกาะสุรินทร์ ได้รับผลกระทบจากปะการังฟอกขาวในปี 2538 ปะการังเขากวางตาย มีสาหร่ายเห็ดหูหนูขึ้นคลุมพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร เราจึงปิดพื้นที่นั่นติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่ชัดเจน สาหร่ายอาจหายไปบ้าง แต่ก็กลับมาบ้าง หากดูการฟื้นตัวของแนวปะการังเขากวางนับว่าช้ามาก

การ “ปิด” จึงไม่ใช่วิธีการที่ยืนยันว่าจะได้ผล พื้นที่เปิดให้บริการบางแห่งอาจฟื้นตัวเร็วกว่าพื้นที่ปิดให้บริการ เพราะฉะนั้น การปิดพื้นที่จึงต้องกระทำควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามการฟื้นตัวที่เกิดขึ้น รวมถึงหาแนวทางให้เหมาะสมในการจัดการ เพราะสำหรับธรรมชาติแล้ว เวลาเพียงหนึ่งปีหรือสิบปีน้อยนิดยิ่งนัก เมื่อเทียบกับเวลากว่า 8,000 ปีที่แนวปะการังอยู่คู่ประเทศไทย (แนวปะการังหมู่เกาะสุรินทร์เก่าแก่ที่สุด) หรือเวลา 400 ล้านปีที่ปะการังอยู่คู่โลก (ปะการังคือสัตว์โบราณที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก ควบคู่มากับฟองน้ำ)

การปิดครั้งสำคัญเกิดขึ้นในช่วงคลื่นสึนามิ แต่ครั้งนั้นเป็นการปิดทั้งอุทยานเนื่องจากเกิดความเสียหายอย่างหนักบนแผ่นดิน รวมถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมถึงการปิดจุดดำน้ำในแทบทุกพื้นที่ การติดตามผลเห็นการฟื้นตัวของปะการังอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้อาจแตกต่างกัน เพราะผลที่เกิดขึ้นจากคลื่นสึนามิคือปะการังแตกหัก สามารถงอกใหม่ได้รวดเร็ว (ยกเว้นในพื้นที่โดนตะกอนทรายทับที่ไม่สามารถฟื้นคืนได้) แต่ครั้งนี้ปะการังตาย ที่เหลือแม้จะรอดอยู่ แต่อยู่ในสภาพอ่อนแอ การฟื้นตัวจึงแตกต่างกัน ยิ่งถ้าคิดถึงสาหร่ายทะเล

สาหร่ายเกี่ยวข้องอย่างไร ? - แนวปะการังไม่ได้มีเพียงปะการัง แต่ยังมีสาหร่ายหลายชนิดเป็นคู่แข่งสำคัญ สาหร่ายจะพยายามแย่งพื้นที่การลงเกาะ หากเป็นแนวปะการังในสภาพสมบูรณ์ ปะการังจะชนะสาหร่ายในเกือบทุกพื้นที่ แต่หากแนวปะการังผิดปรกติ สภาพการณ์อาจเปลี่ยนไป สาหร่ายจะชนะแนวปะการังและยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ ดังเช่นแนวปะการังหลายแห่งในอ่าวไทยที่เปลี่ยนไปเป็นแนวสาหร่าย กลายเป็นพื้นที่ไร้ประโยชน์ในด้านการดำน้ำ รวมถึงเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีความหลากหลาย ไม่สามารถเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนได้เหมือนแนวปะการัง

ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ให้ละเอียด เพื่ออธิบายให้พวกเราเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่า เราอาจเผชิญกับเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวอีกในอนาคตไม่ไกล เพราะฉะนั้น คงต้องขอต่อตอนสองในสัปดาห์หน้าครับ




จาก .................. ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 30 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม