ดูแบบคำตอบเดียว
  #88  
เก่า 03-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,336
Default


'จุลินทรีย์' บำบัดน้ำเสีย ฟื้นคืนคุณภาพแหล่งน้ำ



พิบัติภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน อีกด้านหนึ่งหลังจากน้ำท่วมขังนิ่งเป็นเวลานานยังทำให้เกิดการเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น

การฟื้นฟูคุณภาพน้ำ จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาน้ำเน่าเสียในช่วงเวลานี้ รวมทั้งยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายหลังจากน้ำลดและจากที่หลายหน่วยงานได้ร่วมกันให้ความช่วยเหลือ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาประสานความร่วมมือกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. นำดาสต้าบอลจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง

อ.ดำรงศักดิ์ แก้ววงษ์ไหม ที่ปรึกษาองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ให้ความรู้ว่า ในสถานการณ์น้ำท่วมขังการใช้จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นกระบวนการทางชีวภาพ แต่อย่างไรก็ตามคงต้องทราบก่อนว่าทำไมจึงต้องใช้จุลินทรีย์ทั้งนี้อาจเป็นเพราะจุลินทรีย์ในพื้นที่บริเวณนั้นมีไม่พอที่จะสามารถกำจัดของเสียได้

ขณะเดียวกันพื้นที่บริเวณนั้นมีสภาวะไม่เหมาะสมทำให้จุลินทรีย์ตายไป อีกทั้งอาจมีจุลินทรีย์ที่ไม่เหมาะสมอยู่ในพื้นที่จึงมีความจำเป็นต้องใช้จุลินทรีย์เติมลงไปในการกำจัดของเสีย ดังนั้นหากน้ำท่วมขังนานเกินกว่าสัปดาห์ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะเริ่มส่งผลเกิดการหมักตัวของของเสียไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ใบหญ้า ขยะ ฯลฯ สารอินทรีย์จำนวนมากเหล่านี้จะไปดึงออกซิเจนในน้ำต่ำลงเกิดการหมักตัวของของเสีย กลุ่มจุลินทรีย์ก็จะทำให้เกิดก๊าซมีเทน จุลินทรีย์บางสายพันธุ์ทำให้เกิดซัลเฟอร์ ฯลฯ ซึ่งเมื่อน้ำท่วมขังเน่าเสียก็จะส่งผลกระทบในหลายด้านทั้งเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค แพร่ระบาดของเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นฉี่หนู เชื้อรา ฯลฯ อีกทั้งน้ำที่เน่าเสียไม่สามารถนำน้ำมาใช้อุปโภคบริโภคได้

“การฟื้นฟูคุณภาพน้ำหากเป็นช่วงที่สถานการณ์ปกติอาจมีหลายแนวทางแก้ไข อย่างการเติมอากาศเพิ่มออกซิเจนซึ่งก็เป็นทางหนึ่ง แต่ช่วงน้ำท่วมขังการควบคุมพื้นที่เป็นไปได้ยากลำบากจึงมีความพยายามในการเพิ่มจุลชีพหรือจุลินทรีย์ลงไป ซึ่งจุลินทรีย์นั้นมีด้วยกันหลายชนิด โดยทั่วไปจะใช้เชื้อที่เหมาะสมเป็นสายพันธุ์ที่แข็งแรงไม่กลายพันธุ์ง่ายและเป็นเชื้อที่มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้ดี”

จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียจากที่มีใช้กันและมีการจัดทำขึ้นในลักษณะทรงกลมทำเป็นจุลินทรีย์บอลจะมีการเติมเชื้อจุลินทรีย์ลงไปผสมกับส่วนผสมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแกลบ ขี้เถ้า ฯลฯ นำมาปั้นเป็นก้อนซึ่งที่รู้จักคุ้นเคยกันในลักษณะของ อีเอ็มบอล ซึ่งก็เป็นจุลินทรีย์อย่างหนึ่งที่นำมาปรับปรุงฟื้นฟูคุณภาพน้ำ

ส่วนความร่วมมือฟื้นฟูคุณภาพน้ำ อพท. ได้ผลิต ดาสต้าบอล (DASTA Ball) จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียที่ผู้ศึกษาวิจัยมอบชื่อเป็นเกียรติแก่หน่วยงานโดยจุลินทรีย์บอลดังกล่าวเกิดจากสายพันธุ์ที่คัดเลือก อีกทั้งมีปริมาณส่วนผสมที่เหมาะสมสามารถปรับสภาพให้ดำรงชีพในน้ำที่เน่าเสียหรือมีระดับความเค็มตามสภาพพื้นที่จริงได้ดี

จากการปั้นส่วนผสมทั้งหมดเป็นลูกกลมขนาดเท่าลูกปิงปองเพื่อให้จุลินทรีย์มีพื้นที่เกาะและสามารถได้รับออกซิเจนในการหายใจ ทั้งยังมีน้ำหนักพอเหมาะจมลงในน้ำได้ดีจึงทนกับสภาพแวดล้อม ส่วนประกอบสำคัญของจุลลินทรีย์บอลได้แก่ จุลินทรีย์ เพอร์ไลท์ ขี้ไก่ น้ำหมักปลา รำละเอียด อาหารกุ้งและกากน้ำตาล ซึ่ง อพท. ได้จดสิทธิบัตรส่วนผสมของดาสต้าบอลไว้ พร้อมกันนั้นที่ผ่านมาได้เผยแพร่ความรู้ต่อเนื่องแก่ผู้ที่สนใจ

“ดาสต้าบอลเป็นจุลินทรีย์บอลที่มีการคัดสายพันธุ์ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นมากว่าสองปี จากส่วนประกอบมีเพอร์ไลท์แร่ธรรมชาติที่มีคุณสมบัติดี จุลินทรีย์หลายสายพันธุ์ที่คัดเลือกนำมาทำหน้าที่ฟื้นฟูสภาพน้ำอย่างมีประสิทธิผล ฯลฯ การใช้จะโยนดาสต้าบอลลงในบริเวณที่มีน้ำเน่าเสียในอัตราส่วน 1 ลูกต่อ 1-4 ลูกบาศก์เมตร โดยหลังจากใช้ภายใน 48 ชั่วโมงมีการรายงานถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำทั้งในเรื่องของกลิ่น สีน้ำที่เปลี่ยนไป”

จุลินทรีย์บอลดังกล่าวสามารถ กำจัดน้ำเสีย ได้เนื่องจากภายในดาสต้าบอลเต็มไปด้วยจุลินทรีย์ที่กินสิ่งเน่าเสียเป็นอาหาร มีเพอร์ไลท์ที่มีลักษณะทางกายภาพเป็นรูพรุนทำให้แบคทีเรียสามารถยึดเกาะและช่วยปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำให้อยู่ที่ pH 5-8 เหมาะกับการทำงานของจุลินทรีย์

ขณะที่การ กำจัดกลิ่น สามารถกำจัดไนโตรเจนซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นได้ เนื่องจากมีส่วนประกอบของขี้ไก่ซึ่งมีไนโตรเจนอยู่เพื่อปรับสภาพของจุลินทรีย์ให้คุ้นเคยกับสภาพจริงและเป็นอาหารของจุลินทรีย์ เมื่อจุลินทรีย์ในดาสต้าบอลลงไปอยู่ในน้ำเสียก็จะกินไนโตรเจนที่อยู่ในน้ำเสียนั้นทำให้ไนโตรเจนหมดไป กลิ่นเหม็นจึงหายไปด้วย

การสังเกตคุณภาพน้ำนอกเหนือจากการตรวจวัดด้วยเครื่องมือ คุณภาพน้ำที่ดีขึ้นยังสังเกตได้จากกลิ่นเหม็นที่ห่างหายไป ขณะที่สีของน้ำจะดีขึ้นและนอกเหนือจากจุลินทรีย์ซึ่งมีส่วนช่วยบำบัดน้ำเสีย อาจารย์ท่านเดิมยังฝากถึงการมีส่วนร่วมช่วยกันดูแลธรรมชาติ รักษาน้ำไม่ให้เน่าเสียทั้งในภาวะปกติและน้ำท่วมเวลานี้อีกว่า สิ่งที่ไม่ควรละเลยมองข้ามคือการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ไม่ทิ้งสิ่งสกปรกต่างๆลงในแม่น้ำลำคลอง รวมทั้งการมีจิตสำนึกรักษ์โลก ห่วงใยธรรมชาติสิ่งแวดล้อมซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นแนวทางการรักษาคุณภาพน้ำให้คงความสมบูรณ์ไว้ได้อย่างยั่งยืน.




จาก ....................... เดลินิวส์ หน้าวาไรตี้ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม