ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 02-12-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


บทบรรณาธิการ: หมอกควันธันวา ปัญหามลพิษฝุ่นไม่มีวันหมด ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีแก้ ................. โดย ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

และแล้วประเทศไทยก็เข้าสู่ฤดูหนาวเต็มตัว ในเดือนสุดท้ายของปี พ.ศ.2563 เช่นเดียวกับลมเย็นๆ ที่พัดผ่านหน้าชาวกรุงฯ ยามรอรถไฟฟ้าตอนเช้า หากเรามองออกไปยังเส้นขอบฟ้า ชั้นอากาศขมุกขมัวที่ปกคลุมเหนือป่าคอนกรีตก็กลับมาตามสัญญาอีกครั้ง และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ปัญหาฝุ่นควันพิษก็จะแผ่ปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนบนของประเทศ เกิดเป็นวิกฤตด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเรื้อรัง ปีแล้วปีเล่า

แม้ว่านักวิชาการและหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาชั้นนำ ต่างคาดการณ์ว่า ฤดูหนาวปีนี้ ไทยเราจะเผชิญกับปรากฏการณ์ ลานีญา (La Ni?a) ระดับแรง ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสภาพอากาศเย็นและฝนตกชุกกว่าปกติ ทำให้สถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 ในไทยฤดูกาลนี้ น่าจะรุนแรงน้อยกว่าปีก่อนๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวกรุงเทพฯ ก็เริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันมลพิษในพื้นที่เมืองหลวงและปริมณฑลกันแล้ว


เปลวไฟเผาผลาญผืนป่าบนดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา //ขอบคุณภาพจาก: ฝ่าฝุ่น

จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของ PM2.5 ในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ.2541 ? 2559 ด้วยข้อมูลดาวเทียม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ประเทศไทยเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศ และฝุ่น PM2.5 มาอย่างยาวนาน โดยข้อมูลจากดาวเทียมพบว่า แนวโน้มความเข้มข้นของมลพิษฝุ่น PM2.5 มีค่ากระจุกในพื้นที่ภาคเหนือค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ จ.น่าน จ.พะเยา จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และ จ.แม่ฮองสอน ซึ่งอยู่ในจุดเสี่ยงที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานมานานเกือบ 20 ปี

ถึงแม้เราเริ่มตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว แต่การแก้ปัญหาฝุ่นควันยังคงเสมือนพายเรือวนในอ่าง ปีแล้วปีเล่า หน่วยงานรัฐยังคงเน้นใช้มาตรการแก้ปัญหาแบบรวมศูนย์ และใช้กฎหมายนำในการควบคุมกิจกรรมการเผาในที่โล่งและไฟป่า โดยมองชาวบ้าน เกษตรกร และกลุ่มชาติพันธุ์ ว่าเป็นผู้ต้องหาหลักที่ทำให้เกิดไฟป่าและปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ซึ่งสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือรุนแรงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า มาตรการเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษฝุ่น PM2.5

ในช่วงปีนี้ เราได้เห็นความกระตือรือร้นของภาครัฐในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่มีมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อรรถพล เจริญชันษา เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการถอดบทเรียนและทบทวนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ?การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง? และจัดทำแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 ข้อ โดยได้ยืนยันว่าการดำเนินแผนเฉพาะกิจฯ จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเชิงรุกมากขึ้น

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ กรมควบคุมมลพิษ ยังได้ทดลองใช้ระบบบัญชาการดับไฟป่า ผ่านแอปพลิเคชัน Line Chatbot รวมถึงแอปพลิเคชัน ?FIRE Ranger? และ ?จองเบิร์น? เพื่อสนับสนุนปฎิบัติการควบคุมไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือในปีนี้

กระนั้น กองบรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม ยังสังเกตุว่า มาตรการทั้งหลายเหล่านี้ แม้จะมีความเข้มข้นมากขึ้น แต่ก็ยังเน้นการปฏิบัติการแบบรวมศูนย์ ที่เน้นการใช้กฎหมายและการสั่งการโดยหน่วยงานรัฐเป็นหลักอยู่ดี เนื้อแท้ของการปฏิบัติการยังแทบไม่ต่างจากรูปแบบที่ภาครัฐเคยปฏิบัติซ้ำๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการ ออกมาตรการห้ามเผา 60 วัน หรือการควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรโดยใช้กฎหมายควบคุมที่ตัวเกษตรกร

ภาครัฐยังคงไม่มีความชัดเจนในเรื่องมาตรฐานการแจ้งเตือนภัยคุณภาพอากาศผ่านช่องทางของภาครัฐ เช่น แอปพลิเคชัน Air4Thai และ social media ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยังคงใช้ค่าเฉลี่ย PM2.5 ราย 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่เหมาะสมกับการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ที่ควรใช้ค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมง อีกทั้งยังใช้เกณฑ์มาตรฐานค่าฝุ่น PM2.5 ที่ 50 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ขององค์การอนามัยโลกกว่า 2 เท่า ทำให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน ต่อความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นควัน

นี่จึงยังทำให้เรากังขาว่า แผนเฉพาะกิจฯ แก้ไขปัญหาหมอกควันในปีนี้จะมีประสิทธิภาพเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นพัฒนาการของเครือข่ายนักวิชาการ ประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น ที่ได้ประสานกำลังกันในการสนับสนุนภาครัฐแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 อาทิ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ที่ได้ผลักดันการออกกฎหมายอากาศสะอาด เพื่อผลักดันการแก้ไขมลพิษทางอากาศอย่างรอบด้าน หรือเครือข่าย ?ฝ่าฝุ่น? ที่ได้ทำงานสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันภาคเหนือ จนเห็นผลสัมฤทธิ์ที่ชุมชนบ้านก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน

ที่กล่าวมา ยังไม่นับถึงโครงการต่างๆ อีกจำนวนมากที่ริเริ่มผลักดันโดยชุมชนท้องถิ่น ในการป้องกันไฟป่า รวมถึงจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน ทำให้เห็นว่า ภาควิชาการและประชาสังคมไทย มีศักยภาพสูงมากในการช่วยเหลือสนับสนุนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ของภาครัฐ

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ภาครัฐจะหันมาทบทวนมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 อย่างแท้จริง และหันมาสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพิษอย่างรอบด้าน รวมถึงปฎิรูปมาตรฐานการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นควันแก่ประชาชนให้ทันกาลและตรงกับความเป็นจริงที่สุด เพื่อปกป้องคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศอย่างยั่งยืน


https://greennews.agency/?p=22229

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม