ดูแบบคำตอบเดียว
  #6  
เก่า 10-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,355
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


'หญ้าทะเลที่หายไป' ความเสื่อมโทรม กระทบระบบนิเวศ .............. ต่อ


การดำเนินงานที่ผ่านมา

การอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล ?กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม? ระบุว่า ที่ผ่านมา ใช้แนวทางการจัดการแหล่งหญ้าทะเลแบบผสมผสาน โดยเน้นการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ซึ่งประกอบด้วย 4 แผนงาน ดังนี้


1) สำรวจและประเมินสถานภาพ

ติดตามตรวจสอบสถานภาพและปัญหาของแหล่งหญ้าทะเลอย่างเป็นระบบ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลทรัพยากรแหล่งหญ้าทะเล เกี่ยวกับที่ตั้งและความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งหญ้าทะเลทั่วประเทศ ตลอดจนวิเคราะห์ประเด็นปัญหาความเสื่อมโทรมว่ามีสาเหตุจากธรรมชาติหรือจากกิจกรรมของมนุษย์

ข้อมูลดังกล่าว สามารถใช้เพื่อรองรับการกำหนดแนวทางการจัดการและฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลที่เหมาะสมกับสถานการณ์โดยร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชุมชนและกับนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ความสำคัญด้านระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอันควรค่าแก่การอนุรักษ์ รวมถึงกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์สำหรับการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมตามกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน


2) เผยแพร่ข่าวสารความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหญ้าทะเลสู่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกระดับ

เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักเกี่ยวกับลักษณะ ถิ่นอาศัย ประโยชน์ และปัจจัยที่มีผลกระทบทั้งในทางบวก และทางลบของหญ้าทะเล เพื่อหยุด/ลดสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อสภาพแวดล้อมของคุณภาพน้ำและดินซึ่งมีผลถึงหญ้าทะเล ตลอดจนแนวทางป้องกันการเสื่อมโทรมและการอนุรักษ์หญ้าทะเล

โดยจัดทำสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น ชาวประมง หรือผู้เข้าไปใช้ประโยชน์ รวมถึงเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นให้ทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของแหล่งหญ้าทะเล เพื่อให้เกิดจิตสำนึกและตระหนัก รัก และหวงแหน ในที่สุดก้าวเข้ามามีบทบาท หรือมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรแหล่งหญ้าทะเลของตนเอง


3) การคุ้มครองและฟื้นฟู

มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลให้กลับคืนมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเน้นการจัดการกับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์แหล่งหญ้าทะเล การควบคุมการระบายน้ำเสีย สนับสนุนการลงทุนก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนหนาแน่นและบริเวณใกล้เคียง

การควบคุมผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นตามรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) จากการพัฒนาชายฝั่งและในทะเลรูปแบบต่าง ๆ บริเวณแหล่งหญ้าทะเล


4) กำหนดขอบเขตแนวหญ้าทะเลด้านนอกชายฝั่งทะเล

ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งของชุมชน โดยการวางทุ่นเป็นสัญลักษณ์แสดงพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล กวดขันผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบหรือข้อบังคับ การห้ามใช้เครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสม สนับสนุนองค์ความรู้ การจัดหาพันธุ์และวิธีการปลูกหญ้าทะเลทดแทนแก่องค์กรและประชาชนในท้องถิ่น และทำการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติ เพื่อนำผลของการศึกษาวิจัยมาประกอบการพิจารณาสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรม คือ การป้องกันและลดผลกระทบต่อพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ที่เหมาะสม โดยกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ แบ่งเป็นเขตรักษาพืชพันธุ์ และเขตอนุญาตสำหรับกิจกรรมประมงพื้นบ้าน และการฟื้นฟูโดยย้ายปลูกหญ้าทะเล


เร่งฟื้นฟูหญ้าทะเล

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เปิดเผยขณะตรวจสอบสาเหตุพะยูนเกยตื้นตาย ที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง วานนี้ (8 มีนาคม 2567) ว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มีการเร่งแก้ไขปัญหาวิกฤตของหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ ซึ่งที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ ร่วมมือทีมนักวิจัย ด้านสมุทรศาสตร์ระดับประเทศหลายท่าน เร่งลงพื้นศึกษาวิจัยเพื่อหาสาเหตุการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล

ซึ่งเบื้องต้นพบแนวโน้มสาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทำให้ระดับน้ำทะเลแห้งลงต่ำกว่าปกติ เป็นผลให้หญ้าทะเลต้องตากแห้งเป็นพื้นที่กว้างและนานกว่าปกติ หญ้าทะเลจึงเกิดความอ่อนแอซึ่งทีมวิจัยยังอยู่ระหว่างการศึกษาปัจจัยอื่น ได้แก่

- การทับถมของตะกอนจากการขุดลอกปากแม่น้ำ

- โรคระบาดในหญ้าทะเล

- การถูกกินโดยสัตว์น้ำ

- หรือประเด็นเรื่องสารพิษ ที่อาจซ้ำเติมให้หญ้าที่มีภาวะความอ่อนแอให้อยู่ในสภาพ
แย่ลงไป


ปัจจุบัน พบว่า หญ้าทะเลบางพื้นที่ เช่น เกาะลิบง มีพื้นที่หญ้าทะเลหายไปมากกว่า 50% และยังพบว่าสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศหญ้าทะเลหายไป เช่น หอยชักตีน หอบตลับ ปลิงทะเล รวมถึงปลาหน้าดินหลายชนิด

อีกทั้ง การกำหนดแนวทางการฟื้นฟูจำเป็นต้องทราบสาเหตุที่ชัดเจนก่อน หากเป็นเรื่องของการทับถมของตะกอนจากการขุดลอกร่องน้ำ ก็ต้องมีแนวทางลดผลกระทบจากการขุดลอกให้ได้ก่อนทั้งในระยะดำเนินการ

สถานการณ์หญ้าทะเลเกาะลิบงและพื้นที่ใกล้เคียง ข้อมูล ณ ธันวาคม 2566 พบว่า

- พื้นที่หญ้าทะเล 15,547 ไร่

- พื้นที่หญ้าคาทะเลเสื่อมโทรม ประมาณ 7,997 ไร่ (51% ของพื้นที่สำรวจ)

- การปกคลุมพื้นที่เฉลี่ยลดลงจาก 224% เป็น 9% (ธ.ค. 66 เทียบกับ ก.พ. 66)

อนึ่ง หญ้าทะเลมีโอกาสฟื้นฟูตัวเองได้โดยธรรมชาติ แต่ระหว่างการพักฟื้นเราสามารถช่วยกระบวนการฟื้นตัวได้ โดยไม่สร้างมลพิษหรือภัยคุกคามเพิ่มเติม


อ้างอิง :
- คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

- กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



https://www.bangkokbiznews.com/environment/1116955

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม