ดูแบบคำตอบเดียว
  #129  
เก่า 05-12-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default


10 แนวทางซ่อมบ้าน หลังการจากไปของน้องน้ำ



SCG จัดทำ คู่มือ 'ซ่อมบ้าน สร้างสุข กับ เอสซีจี' รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นที่เป็นประโยชน์สำหรับการฟื้นฟูบ้านหลังน้ำลด โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ

ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในการใช้ชีวิต สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย เมื่อน้ำลด สิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ก็คือ การเร่งฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็ว เอสซีจี (SCG) จัดทำ คู่มือ 'ซ่อมบ้าน สร้างสุข กับ เอสซีจี' รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการฟื้นฟูบ้าน โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุก่อสร้าง วิศวกร สถาปนิก จากตราช้างและคอตโต้ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างง่าย 10 ข้อเบื้องต้น ดังนี้


1. การตรวจสอบสภาพก่อนเข้าบ้าน

ก่อนเข้าสำรวจบ้านที่พักอาศัย ต้องสอบถามการไฟฟ้าในพื้นที่เรื่องการจ่ายไฟ (Call Center การไฟฟ้านครหลวง โทร.1130, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โทร.1129) หากขณะนั้นมีการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่ ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ

ควรสวมใส่รองเท้ายาง ถุงมือยาง หรือสวมถุงพลาสติกแห้งหลายๆ ชั้น เพื่อป้องกันการถูกไฟฟ้าดูด

ตรวจสอบแผงไฟฟ้าหลักให้มั่นใจก่อนว่า ได้ปิดคัตเอาท์ หรือ เบรกเกอร์หลักที่จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่บ้านก่อนอพยพออกจากบ้านแล้วหรือไม่


2. การตรวจสอบระบบไฟฟ้า

ปลดเครื่องใช้ไฟฟ้า ดึงปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าออกทั้งหมด และปิดสวิตช์ไฟฟ้าทั้งหมด

ตรวจสอบ 'เต้ารับ' และสวิตช์ที่ติดตั้งบนผนังในส่วนที่โดนน้ำท่วมขัง ตรวจสอบหลอดไฟฟ้าและสายไฟฟ้าว่ามีสภาพสมบูรณ์หรือไม่ จากนั้นให้ลองเปิด 'คัตเอาท์' หรือ 'เบรกเกอร์' ดูมิเตอร์ไฟหน้าบ้านว่าหมุนหรือไม่ ทดลองเปิดหลอดไฟฟ้าทีละจุด


3. การตรวจสอบระบบน้ำประปา

ถ้ามีบ่อเก็บน้ำใต้ดิน หรือถังเก็บน้ำในระดับน้ำท่วมถึง ให้ตรวจสอบว่ามีการทรุดตัว-รั่วซึมของน้ำจากภายนอกเข้าไปหรือไม่

ตรวจสอบลูกลอยภายในถังเก็บน้ำใต้ดิน ว่ามีการงอเสียหายหรือไม่
บ้านที่มีระบบปั๊มน้ำ หากถูกน้ำท่วม ควรเรียกหาช่างมาดำเนินการ หรือหากปั๊มน้ำอยู่ในที่สูง ไม่ถูกน้ำท่วม หลังจากเปิดใช้งานแล้ว ให้สังเกตเสียงเครื่องทำงาน ดูแรงดันน้ำในท่อว่าแรงเหมือนเดิมหรือไม่ หากมีความผิดปกติ ควรตรวจสอบด้วยการเปิดทำความสะอาด นำเศษผง สิ่งสกปรกที่เข้าไปอุดตัน กีดขวางการทำงานของอุปกรณ์ออกมา


4. การตรวจสอบระบบท่อน้ำและสุขภัณฑ์

ก่อนอื่นควรดูว่า มีวัสดุต่างๆเข้าไปอุดท่อระบายน้ำ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน รวมถึงสุขภัณฑ์หรือไม่ จากนั้นตรวจสอบระบบระบายน้ำทิ้งในห้องน้ำ หากน้ำไหลช้าผิดปกติ ให้ใช้น้ำ หรือลมแรงดันสูง อัดดันให้สิ่งที่อุดตันหลุดออกจากท่อ

ส้วมแบบบ่อเกรอะ หรือ มีถังบำบัด ควรเปิดปากบ่อเกรอะหรือบ่อซึมเพื่อดูระดับน้ำ หากระดับน้ำสูงกว่าปกติให้ดูดน้ำออก

ควรตรวจสอบใต้ฐานโถสุขภัณฑ์ว่ามีน้ำรั่วซึมหรือไม่ ถ้าพบเห็นการรั่วซึม แนะนำให้รื้อติดตั้งสุขภัณฑ์ใหม่


5. การซ่อมแซมประตู หน้าต่าง

หากประตูทำมาจากไม้จริง และเกิดอาการบวมจากการแช่น้ำ ให้ทิ้งไว้จนแห้งสนิท หากโก่งงอ แนะนำให้ถอดออกมาผึ่งลมและกดทับด้วยแผ่นสมาร์ทบอร์ดและหาวัสดุหนักๆ ทับทิ้งไว้จนแห้งสนิท จากนั้นจึงให้ช่างปรับแต่งขนาดให้ได้พอกับวงกบ และเก็บงานสีให้เรียบร้อย

ประตูไม้อัด มักจะเสียหายมากกว่าประตูไม้จริง เพราะวัสดุจะมีกาวและรังผึ้งกระดาษหรือโครงไม้อยู่ด้านใน ควรเปลี่ยนใหม่

ประตูเหล็ก อะลูมิเนียม ต้องตรวจสอบการเสียรูปและการบิดงอตัวบานประตู


6. การบำรุงรักษาพื้น

พื้นบ้านที่เป็นคอนกรีต หากมีรอยแตกร้าวมาก แนะนำให้หาช่างมาทุบและรื้อพื้นเดิมทิ้ง ถมดินหรือทราย บดอัด และเทคอนกรีตใหม่ หากเป็นลานนอกบ้านที่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาซ้ำจากแรงดันน้ำดันคอนกรีตจนแตกอีก อาจเปลี่ยนเป็นการปู 'บล็อก' แทน หากพบว่าเกิดความเสียหายไม่มาก อาจทำความสะอาดและซ่อมแซมเป็นจุดๆก็ได้

พื้นในบ้านที่เป็นแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป และตกแต่งด้วยวัสดุประเภทต่างๆ เช่น เซรามิค หินอ่อน แกรนิต วัสดุกลุ่มไม้ทั้งลามิเนตและไม้จริง วัสดุกรุผิวต่างๆ อาจเกิดความเสียหายได้ง่าย ควรเรียกช่างเข้ามาซ่อมแซม


7. การดูแลผนัง ฝา และ ฝ้าเพดาน

บ้านที่มีผนังหรือฝาแบบก่ออิฐ ถ้าเป็นรอยแตกร้าวที่ขยายอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดจากปัญหาทางโครงสร้าง ให้ซ่อมแซมตามคำแนะนำของวิศวกร

บ้านที่มี 'ผนังเบา' หรือฝาทำจากวัสดุประเภทสมาร์ทบอร์ด ไม้อัดซีเมนต์ ไม้อัด สามารถซ่อมแซมเฉพาะจุดได้ หรือรื้อติดตั้งใหม่ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น

กรณีฝ้าระแนงภายนอก ตรวจสอบได้โดยการปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิท และดูด้วยสายตาว่ามีการโก่ง บิดงอ หรือเสียรูปหรือไม่

กรณีฝ้าภายใน ซึ่งมักจะใช้เป็นฝ้ายิปซัม หากถูกน้ำจะเกิดความเสียหายจากการเสียรูป แนะนำให้รื้อและติดตั้งด้วยของใหม่ทั้งหมด


8. การตรวจสอบกำแพงรั้วบ้าน

กำแพงรั้วบ้าน อาจเกิดปัญหาดินที่ฐานรั้วอ่อนตัวลง ให้สังเกตที่ความเอียงของรั้ว หากพบรั้วเอียงเพียงเล็กน้อย หาวัสดุมาค้ำยันไว้ก่อนได้ และติดต่อช่างมาปรับปรุงแก้ไขเมื่อพร้อม แต่หากรั้วเอียงมากเห็นได้ชัด หรือกำแพงรั้วล้มไปแล้ว ให้สกัดช่วงของกำแพงรั้วที่ล้มออกเสียก่อน เพื่อป้องกันการดึงให้กำแพงที่ยังสมบูรณ์เสียหายตามไปด้วย และติดต่อช่างเข้ามาปรับปรุงแก้ไขต่อไป


9. การดูแลเฟอร์นิเจอร์

เร่งเอาความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถดูดซับน้ำไว้ภายในได้ หากไม่จำเป็น อย่านำกลับมาใช้อีก เพราะขณะที่นํ้าท่วมอาจดูดซับเชื้อโรคและสิ่งไม่พึงประสงค์เข้าไปเป็นจำนวนมาก

เฟอร์นิเจอร์ประเภทติดกับที่ (Built In Furniture) ให้พิจารณาจากชนิด ประเภทของวัสดุที่ใช้ หากทำด้วย 'ไม้' ไม่ควรนำไปตากแดดโดยตรง เพราะจะทำให้เกิดการโก่งตัว บิดเบี้ยว หรือ แตกเสียหายได้ หากเฟอร์นิเจอร์เกิดเชื้อราหรือรอย สามารถเช็ดหรือล้างออกด้วยผ้าชุบน้ำสบู่อ่อนๆ


10. การดูแลตรวจสอบเรื่องอื่นๆ

ขยะ วางแผนแบ่งชนิดและประเภทของขยะให้ชัดเจน และวางแผนแนวทางการจัดเก็บและกำจัด โดยแยกประเภทของขยะ

ต้นไม้ตกแต่งบ้าน สำหรับต้นไม้ขนาดเล็กที่จมน้ำ อาจต้องปลูกใหม่ หากเป็นไม้ยืนต้น รากจะอ่อนแอ ต้องใช้เวลาฟื้นตัว จึงไม่ควรให้ปุ๋ยในช่วงนี้

สัตว์เลี้ยง หากจำเป็นต้องทิ้งไว้ที่บ้าน ให้ปล่อยไว้ในบ้านโดยมีอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ ติดป้ายหน้าบ้านให้เห็นชัดเจนว่ามีสัตว์เลี้ยงอะไรอยู่ในบ้านและอยู่ที่บริเวณไหน พร้อมทั้งชื่อและเบอร์โทรที่ติดต่อได้

ชาวชุมชนออนไลน์ดาวน์โหลดคู่มือ 'ซ่อมบ้าน สร้างสุข กับเอสซีจี' ฉบับพกพา ได้ที่ www.scg.co.th และเริ่มแจกฟรีตั้งแต่ 1 ธ.ค. เป็นต้นไปที่สำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี และร้านโฮมมาร์ทที่ร่วมโครงการ สอบถามโทร.0 2586 4141

ภาพประกอบ SCG, 'กรุงเทพวันอาทิตย์' ฉ.4 ธันวาคม 2554, แฟนเพจ http://www.facebook.com/sundaybkk






จาก ...................... กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Art & Living วันที่ 5 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม