ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 11-09-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์


นักวิทยาศาสตร์เตือน โลกส่งสัญญาณอันตราย



ภาวะโลกร้อนกระตุ้นหายนะภัยทางธรรมชาติ ทั้งไฟป่าแคลิฟอร์เนีย เฮอร์ริเคน น้ำท่วม คลื่นความร้อน

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาโลกต้องเผชิญกับภัญธรรมชาติหนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ลุกโหมกินพื้นที่เป็นวงกว้างจนท้องฟ้ากลายเป็นสีแดง ฝนตกหนักในแอฟริกา อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรเขตร้อนอุ่นขึ้นอย่างผิดปกติ และคลื่นความร้อนที่เล่นงานตั้งแต่รัฐแคลิฟอร์เนียไปจนถึงแถบไซบีเรีย

ครั้งนี้บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เหตุการณ์เหล่านี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และโลกเราอาจต้องเผชิญสภาพอากาศสุดขั้วและภัยธรรมชาติที่รุนแรงกว่านี้หากมนุษย์ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์มักจะไม่สรุปว่าพายุหรือคลื่นความร้อนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยตรง

ซอนยา เซเนวิรัทเน นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัย ETH Zurich ในสวิตเซอร์แลนด์เผยว่า "เราพบสัญญาณบางอย่างที่แทบจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์"

ทีมนักวิทยาศาสตร์ลงมือศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใด ด้วยการประมวลผลแบบจำลองว่าระบบอากาศจะเป็นอย่างไรหากมนุษย์ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งใช้ข้อมูลสภาพอากาศที่เก็บไว้เมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมาด้วย

การวิจัยพบว่าสภาพอากาศสุดขั้วเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ


คลื่นความร้อน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ คลื่นความร้อนที่รุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลก โดยเฉพาะคลื่นความร้อนไนแถบไซบีเรียในปีนี้ที่นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และคลื่นความร้อนนี้ยังส่งผลให้ต้นไม้และป่าพรุในรัสเซียแห้งแล้งจนเกิดไฟป่าเป็นวงกว้าง

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังเชื่อมโยงกับคลื่นความร้อนที่เล่นงานยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกาเหนือในปี 2018

คลื่นความร้อนที่โจมตีชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐเมื่อเดือนที่แล้ว่สงผลให้อุณหภูมิสูงถึง 54.4 องศาเซลเซียส ในหุบเขามรณะ (Death Valley) ในแคลิฟอร์เนีย

แดเนียล สเวน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศเผยว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้จะดูดความชื้นในอากาศและทำให้ป่าไม้และพุ่มไม้ต่างๆ แห้งตาย ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีให้ไฟป่าอย่างที่เกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนียในขณะนี้

การวิจัยนี้พบว่า โอกาสที่จะเกิดคลื่นความร้อนร่วมกับไฟป่าแทบจะเป็นศูนย์หากไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจากยุคอุตสาหกรรม

เฟรเดอริก ออตโต นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเผยว่า หากพูดถึงคลื่นความร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศคือจุดเปลี่ยน


ลม ฝน น้ำท่วม

การเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกยังทำให้เกิดพายุรุนแรงถี่ขึ้น โดยพายุเฮอร์ริเคนจะสะสมพลังงานจากความร้อนบนพืนผิวมหาสมุทร ส่งผลให้ทวีความรุนแรงขึ้นและเคลื่อนตัวช้าลง

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยบริสทอลของอังกฤษซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนที่แล้วระบุว่า หากยังไม่หยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทันที การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะทำให้ปริมาณฝนจากพายุเฮอร์ริเคนเพิ่มขึ้น 5 เท่า ตัวอย่างคือ เฮอร์ริเคนลอราที่สะสมความรุนแรงจากน้ำในอ่าวเม็กซิโกที่ร้อนขึ้นจนกลายเป็นเฮอร์ริเคนระดับ 4 ก่อนจะถล่มรัฐลุยเซียนาของสหรัฐด้วยความเร็วลม 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นเฮอร์ริเคนที่รุนแรงที่สุดของรัฐ (รุนแรงกว่าเฮอร์ริเคนแคทรินาในปี 2005)

พายุไซโคลนที่ก่อตัวในมหาสมุทรอินเดียก็มีรูปแบบความรุนแรงเดียวกันนี้ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรอินเดียที่สูงขึ้น บวกกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้พายุไซโคลนอำพันทวีความรุนแรงเป็นไซโคลนระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ภายใน 18 ชั่วโมงก่อนจะขึ้นฝั่งที่รัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

การที่อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรสูงขึ้นยังเป็นสาเหตุของฝนตกหนักและน้ำท่วมในประเทศจีนเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษด้วย

เจมส์ คอสซิน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศจากองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (NOAA) สรุปว่า "มีหลักฐานชัดเจนและเพิ่มขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ส่งผลต่อสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้น"


https://www.posttoday.com/world/632669

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม