ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 18-12-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,345
Default

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


หญ้าคาทะเลอันดามัน วิกฤต-ใกล้ล่มสลาย



เมื่อกล่าวถึงหญ้าทะเลที่เกาะมุก จ.ตรัง กำลังเกิดวิกฤต เข้าขั้นเสี่ยงล่มสลาย กระทบระบบนิเวศและสัตว์ใต้ท้องทะเล นักวิชาการชี้เหตุมาจากเต่าทะเลที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น กินหญ้าทะเลและกินอย่างสิ้นเปลืองเพราะเต่ากินที่โคนต้น จึงต้องวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอนุรักษ์หรือเพิ่มปริมาณเต่าด้วยความสมดุล เพื่อให้สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ทั้งพืชและสัตว์น้ำอยู่ร่วมกันได้ต่อไป

ทั้งนี้ในเวทีการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิอันดามันรับผิดชอบทะเลฝั่งอันดามันเป็นหลัก เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการพูดถึง ทรัพยากรสัตว์น้ำ ที่ลดลงจากเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายและมนุษย์มุ่งทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อน ในการสัมนาพูดคุยมีข้อมูลทางวิชาการที่น่าสนใจ คือ การลดปริมาณลงของหญ้าคาทะเลจำนวนมากในหลายพื้นที่ จุดที่วิกฤตหนักคือ เกาะมุก จ.ตรัง

การสำรวจโลกใต้ท้องทะเลส่วนนี้ พบว่า หญ้าทะเลเริ่มตาย ใกล้เข้าสู่การล่มสลาย สาเหตุหลักๆ เกี่ยวเนื่องจากการพบเต่าทะเลจำนวนเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่เพราะหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารชั้นดีสำหรับสัตว์น้ำประเภทนี้ที่มีอายุยืนยาว

ผศ.พรเทพ วิรัชวงศ์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง อธิบายว่า ข้อมูลล่าสุดในปลายปี 2565 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2566 พบว่า หญ้าคาทะเล ซึ่งเป็นหญ้าทะเลชนิดที่เป็นหลักนั้น ประสบปัญหา ขาดสั้น ไม่ใช่เรื่องปกติ

การขาดสั้นนั้นมาจากการที่เต่าทะเลกินหญ้าคาทะเลที่บริเวณโคน ทำให้ใบหญ้าทะเลปลิวหายไป หรือเรียกว่ากินแบบสิ้นเปลือง แทนที่สัตว์ชนิดอื่นๆ จะกินที่ใบ แต่เต่าได้กัดที่โคน ทำให้ใบปลิวหายไปแล้ว เมื่อเต่าทะเลกัดอีกครั้งก็กัดไปที่ตอ ทำให้เสื่อมโทรมและตายในที่สุด เมื่อเต่าทะเลแพร่พันธุ์มากขึ้น ทำให้กินหญ้า
ทะเลแบบสิ้นเปลืองเพิ่มขึ้น เพราะเป็นธรรมชาติของเต่าทะเลที่กินอาหารแบบนี้

จากการสำรวจพบว่า หญ้าทะเลที่เกาะมุก จ.ตรัง อยู่ในสภาวะการตาย และจะเข้าสู่ภาวะล่มสลายในไม่ช้า ขณะที่พื้นที่อื่นๆ ใน จ.ตรังและกระบี่ ก็พบเช่นเดียวกัน หญ้าทะเลอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม กังวลว่าเต่าทะเลจะขยายเข้าไปกัดกินหญ้าทะเลในวงกว้างมากขึ้น

ผศ.พรเทพ ยังเปรียบเทียบให้เห็นชัดคือหญ้าคาทะเล ซึ่งเป็นหญ้าทะเลชนิดหลักมีลำต้นสูงประมาณ 1 เมตร มีลำต้นส่วนที่อยู่ในดินใต้ทะเลประมาณ 10 เซนติเมตร และรากฝังอยู่อีก ทำให้เป็นหญ้าทะเลหลักที่คอยเป็นตัวกำบังแรงคลื่นให้กับ

หญ้าทะเลชนิดอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบหญ้าคาทะเล เมื่อหญ้าคาทะเลถูกกัดกินจนเหลือแต่โคน หญ้าทะเลชนิดอื่นๆ ที่มีรากในดินเพียง 1-2 เซนติเมตร ก็ถูกคลื่นซัดหายตายไปได้ง่ายๆ

วันนี้การอนุรักษ์ การปล่อยเต่าทะเล การเพิ่มปริมาณเต่าทะเล จึงควรมีความตระหนักว่ามีปริมาณเหมาะสมหรือไม่ มีเกินความสมดุลไปแค่ไหน แล้วหากต้องเลือกระหว่างเต่าทะเลกับหญ้าทะเลจะเลือกชนิดใด หญ้าทะเลนั้นมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ถือเป็นโรงงานผลิตอาหารในธรรมชาติ เป็นแหล่งอาหารของกุ้งหอยปูปลา รวมถึงพะยูน

วันนี้หากหญ้าทะเลล่มสลายไป แน่นอนว่าสัตว์ทะเลย่อมหายไปด้วย เพราะหญ้าทะเล ส่งผลต่อเนื่องมาถึงชุมชนชาวประมง อาชีพของชาวประมง ไปจนถึงการท่องเที่ยว และการลดภาวะโลกร้อน ในอนาคต

ผศ.พรเทพ กล่าวต่อว่า หญ้าทะเลจะพบได้ในทะเลอันดามัน ส่วนฝั่งอ่าวไทยนั้นหายไปเกือบหมดแล้ว หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ นอกจากนั้นก็ยังมีพื้นที่เสื่อมโทรมของหญ้าทะเลไม่ว่า จะเป็นปากเมง ปากคลองแหลมไทร เกรงจะเข้าเกาะลันตา ของ จ.กระบี่ เป็นลำดับต่อไป ดังนั้น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ขอย้ำว่าหญ้าทะเล ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบนิเวศ

ขณะที่ บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลเรียกร้องว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่ควรจะตระหนัก และหันมาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะเมื่อหญ้าทะเลล่มสลายไป แน่นอนว่าสัตว์ทะเลไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเลที่เป็นอาหาร สัตว์ทะเลหายากก็อยู่ไม่ได้ เพราะหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารสำคัญ นั่นหมายถึงชุมชนประมง รวมถึงการท่องเที่ยวทางทะเล ย่อมได้รับผลกระทบ นักวิชาการชุมชนชายฝั่ง องค์กรภาคประชาชนส่งสัญญาณกรณีมาตั้งแต่ปลายปี 2565 แต่การแก้ปัญหานั้นได้ดำเนินการอย่างไรหรือไม่

เป็นการตั้งคำถามที่อยากให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้ปัญหาลุกลามไปมากกว่านี้จนยากเกินจะเยียวยา


https://www.matichon.co.th/local/qua...e/news_4334403

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม