ดูแบบคำตอบเดียว
  #63  
เก่า 10-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default


กัมมันตรังสี ป้องกันอย่างไร



ป้องกันอย่างไรการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยแล้ว แม้ประเทศไทยอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุ ไม่ได้รับรังสีโดยตรงก็จริง แต่ก็อาจจะปนเปื้อนมากับอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มาจากญี่ปุ่น

ทางโครงการ "เปิดโลกลานเกียร์" ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย จึงสัมมนาเรื่อง "กัมมันตภาพรังสีคืออะไร ป้องกันได้อย่างไร"

เพื่อนำเสนออย่างครอบคลุมความรู้ต่างๆที่เกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี ระบบเตือนภัยทางอากาศทางรังสีของประเทศไทย และบทบาทต่างๆของกระทรวงสาธารณสุข ในการช่วยเหลือ หากมีอุบัติภัยทางรังสีเกิดขึ้นในประเทศ จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ

นำโดย รศ.นเรศร์ จันทน์ขาว ภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์, นายกิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ ผอ.สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ, นายอรรถโกวิท สงวนสัตย์ ผอ.สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรม วิทยาศาสตร์การแพทย์ และ รศ.พ.ญ.ภาวนา ภูสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาร่วมกันเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้

รศ.นเรศร์กล่าวว่า กัมมันตภาพรังสีเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของสารที่มีสมบัติในการแผ่รังสีออกมาได้เอง กัมมันตภาพรังสีที่แผ่ออกมามีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ รังสีแอลฟา รังสีเบตา และรังสีแกมมา

"โดยปกติแล้วรังสีเป็นสิ่งที่เราได้รับตลอดเวลาในชีวิตประจำวันจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นรังสีจากพื้นโลกหรือมาจากนอกโลก อากาศที่เราหายใจ อาหาร และน้ำที่บริโภค จากการดูโทรทัศน์ ผนังบ้าน โรงเรียน และที่ทำงานล้วนประกอบด้วยสารกัมมันตรังสีทั้งสิ้น หรือแม้แต่ในร่างกายของเราเอง ดังนั้น รังสีที่เราได้รับจากธรรมชาติ ถือว่ามีค่าต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์"



นายกิตติศักดิ์กล่าวถึงการป้องกันว่า ปัจจุบันสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ตั้งสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศ กระจายอยู่ในจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ จำนวน 8 สถานี ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา (กำลังติดตั้ง) ขอนแก่น อุบลราชธานี ตราด ระนอง สงขลา และกรุงเทพฯ

สำหรับประเทศไทย ถ้าตรวจพบปริมาณรังสีแพร่กระจายอยู่ในอากาศ มากกว่า 0.2 ไมโคร ซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ที่สถานีใด ก็จะส่งสัญญาณเตือนมาที่ศูนย์เฝ้าระวังทาง ปส.จะสืบสวนหาสาเหตุของการแพร่กระจาย แต่ถ้าเมื่อใดที่มีปริมาณรังสีสูงกว่า 1 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ถือว่าเริ่มอยู่ในระดับเตือนภัย และเตรียมพร้อมดำเนินการตรวจสอบว่ามีการฟุ้งกระจายของวัสดุกัมมันตรังสีหรือไม่

ถ้ามีการฟุ้งกระจายจะประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังอันตรายจากรังสี โดยจะขอความร่วมมือให้อยู่แต่ในที่พักอาศัย ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออพยพออกจากบริเวณที่มีความเสี่ยงจะได้รับรังสีสูง แล้วติดตามคำแนะนำเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ต่อไป

นายกิตติศักดิ์ชี้ว่า กัมมันตภาพรังสีทำอันตรายมนุษย์ได้หลายทาง แต่ส่วนใหญ่เป็นทางอากาศ ด้วยการสูดดม หรือหายใจฝุ่นกัมมันตรังสีเข้าไประบบทางเดินหายใจโดยตรง นอกจากนี้ ก็รับเข้ามาทางปาก หมายถึงการกินอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี แต่สารเหล่านี้ไม่ดูดซึมผ่านทางผิวหนังโดยตรง แต่ถ้าปริมาณรังสีมากๆ จะทำลายผิวหนังไปเลย เหมือนร่างกายคนสมัยสงครามโลกที่โดนสะเก็ดระเบิดปรมาณู

"ส่วนสถานการณ์ในญี่ปุ่น หลายหน่วยงานวิเคราะห์แล้วว่า แม้แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของเมืองฟูกูชิมะจะหลอมละลายจริง กัมมันตภาพรังสีที่แพร่กระจายออกมา จะไม่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ หรือทางอากาศ" นายกิตติศักดิ์กล่าว

ขณะที่นายอรรถโกวิทเสริมถึงสถานการณ์นิวเคลียร์ในญี่ปุ่นด้วยว่า ได้ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจของคนไทย ด้วยหวั่นวิตกจากรังสีว่าจะปนเปื้อนมาในชั้นบรรยากาศหรือไม่ ทางกระทรวงสาธารณสุขกังวลถึงเรื่องคนไทยในญี่ปุ่น ที่กำลังประสบปัญหาในตอนนี้ จึงส่งทีมแพทย์ไปช่วยดูแลทั้งในด้านสุขภาพจิตใจและการป้องกันรังสีในเบื้องต้น

นอกจากนี้ คนไทยที่กลับมาจากญี่ปุ่นจะมีทีมแพทย์คอยให้คำปรึกษา หากมีอาการป่วยทางรังสีจะจัดส่งให้ไปรักษาตัวที่ร.พ.ราชวิถี ร.พ.นพรัตน์ฯ และร.พ.เลิดสิน ส่วนคนไทยที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น ทางทีมกรมควบคุมโรคจะให้คำปรึกษาเช่นเดียวกัน

"ส่วนยาโพแทสเซียมไอโอดีน ที่เป็นเกลือชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติทำให้ต่อมไทรอยด์เกิดการอิ่มตัว เพื่อจะสามารถป้องกันไอโอดีนกัมมันตรังสี ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อในร่างกายนั้น ต้องกินก่อนได้รับรังสีจะเป็นผลดีที่สุด หรือหลังจากได้รับไม่ควรเกิน 6 ช.ม. ขนาดการรับยาก็ต้องขึ้นอยู่กับอายุของผู้รับประทาน ส่วนความเชื่อที่ว่าการใช้เบตาดีนมาทาตามท้องแขนนั้นไม่ได้ช่วยป้องกันได้" นายอรรถโกวิทกล่าวถึงวิธีป้องกัน

รศ.พ.ญ.ภาวนา ร่วมให้ข้อมูลทางการแพทย์ว่า ปัจจุบันนำรังสีและสารกัมมันตรังสีมาใช้งานต่างๆ เช่น ในทางการแพทย์ใช้ในการตรวจวินิจฉัย และบำบัดอาการโรคของผู้เจ็บป่วยจากโรคร้ายต่างๆ เช่น การฉายรังสีเอ็กซ์ การตรวจสมอง การตรวจกระดูก และการบำบัดโรคมะเร็ง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังใช้งานทางรังสีในกิจการอุตสาหกรรม การเกษตร และการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อาทิ การใช้รังสีตรวจสอบรอยเชื่อม รอยร้าวในชิ้นส่วนโลหะต่างๆ การใช้ป้ายเรืองแสงในที่มืด การตรวจอายุวัตถุโบราณ การถนอมอาหารด้วยรังสี และการฆ่าเชื้อโรคในเครื่องมือแพทย์

"แม้รังสีจะมีอยู่ล้อมรอบตัวเรา และมนุษย์ทุกคนก็สามารถใช้ประโยชน์จากรังสีได้ แต่รังสีก็นับได้ว่ามีความเป็นพิษภัยในตัวเองเช่นกัน รังสีมีความสามารถก่อให้เกิดความเสียหายของเซลล์สิ่งมีชีวิต และถ้าได้รับรังสีสูงมาก อาจทำให้มีอาการป่วยทางรังสีได้" อาจารย์ภาวนากล่าว

จากเวทีพูดคุยชี้ว่ารังสีมีทั้งโทษและประโยชน์ แต่ในทางปฏิบัติจะต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ มีมาตรฐานสูง หาไม่แล้วประโยชน์ของมันจะกลายเป็นโทษมหันต์




จาก ................. ข่าวสด วันที่ 10 เมษายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม