ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 16-10-2009
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default โครงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ/เก็บขยะ/ตัดอวน อันดามันใต้_มีค53

โครงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และเก็บขยะ / ตัดอวน อันดามันใต้ เดือนมีนาคม 2553
ดำเนินงานร่วมโดย www.saveoursea.net และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กระบี่
วันที่ 10 - 15 มีนาคม 2553






ที่มาของโครงการ

ปลาสวยงามและม้าน้ำซึ่งเป็นสัตว์ที่สวยงามน่ารักที่สามารถดึงดูดความรักและความสนใจของผู้คนทั่วไปได้เป็นอย่างมาก แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในปัจจุบันนี้ ทั้งปลาสวยงามและม้าน้ำที่อาศัยอยู่ในทะเลของไทย ไม่ว่าจะเป็นทะเลด้านอ่าวไทยหรือทะเลอันดามันนั้นได้มีปริมาณลดน้อยลงทั้งด้วยสาเหตุตามธรรมชาติและการถูกจับไปจำหน่ายเป็นสัตว์เลี้ยงในตู้ปลาและอะควาเรียม จนเป็นที่ห่วงใยว่าทั้งปลาสวยงามพันธุ์ต่างๆและม้าน้ำจะสูญพันธุ์ไปจากทะเลไทยในที่สุด

จึงได้มีความพยายามที่จะเพาะขยายพันธุ์ทั้งปลาสวยงามและม้าน้ำโดยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งที่เป็นเอกชนและหน่วยงานราชการหลายแห่ง จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาสวยงามและม้าน้ำ และหลังจากนั้นได้มีการทดลองนำสัตว์ทั้งสองชนิดไปปล่อยในทะเลเพื่อให้ทดลองอยู่ในธรรมชาติแล้วหลายครั้งหลายหน

หนึ่งในหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จยอดเยี่ยมในการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและม้าน้ำในประเทศไทยนั้นก็คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กระบี่

เป็นที่น่ายินดีที่ www.SaveOurSea.net (SOS) ซึ่งสมาชิกเป็นกลุ่มบุคคลซึ่งมีความรักในทะเลและมีความสนใจในการทำงานร่วมกันเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเล ได้รับการอนุเคราะห์จาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กระบี่ จัดหาพันธุ์สัตว์น้ำที่ได้รับการเพาะขยายพันธุ์โดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ฯให้กับสมาชิก SOS จำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปทดลองปล่อยในแนวปะการังใต้ทะเลเขตจังหวัดกระบี่ ในช่วงวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับตั้งแต่ปี 2549 ถึง ปี 2551 และ ในเดือนมีนาคม 2552 ได้จัดหาพันธุ์สัตว์น้ำให้กับสมาชิก SOS จำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปทดลองปล่อยในแนวปะการังที่หินม่วง

ในช่วงวันที่ 10 ถึง 15 มีนาคม 2553 จะเป็นช่วงที่สมาชิก SOS เดินทางไปดำน้ำเพื่อเก็บขยะ และเศษอวนในจุดดำน้ำต่างๆทางอันดามันใต้ นอกจากจะได้ไปเยี่ยมพันธุ์สัตว์น้ำที่ได้นำไปปล่อยไว้ที่หินม่วงเมื่อเดือนมีนาคม 2552 แล้วยังเป็นโอกาสอันดีในการที่จะนำพันธุ์สัตว์น้ำที่ได้จากการขยายพันธุ์ของเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ไปปล่อยให้แพร่พันธุ์เพิ่มเติมในทะเลทางด้านนี้ด้วย


วัตถุประสงค์

1. หากการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำได้รับผลสำเร็จด้วยดีก็จะเป็นการส่งเสริมให้สัตว์เหล่านั้นที่ปัจจุบันมีปริมาณลดน้อยลงมากในธรรมชาติเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ได้มีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์ได้เองในธรรมชาติที่เหมาะสม และด้วยความน่ารักน่าเอ็นดูและเป็นตัวดึงดูดความสนใจของนักดำน้ำ พันธุ์สัตว์น้ำที่นำไปปล่อยจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวดำน้ำบริเวณจุดดำน้ำสำคัญๆในทะเลอันดามันใต้อีกด้วย
2. เพื่อให้นักดำน้ำอาสาสมัครได้ร่วมกันเก็บขยะ และตัดซากอวนที่อยู่ใต้ท้องทะเล ซึ่งจะส่งผลให้ใต้ทะเลในบริเวณนั้นสะอาดและสวยงามยิ่งขึ้น
3. การปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้นทั้งสองงาน จะช่วยส่งเสริมให้สมาชิกของ SOS ได้มีโอกาสบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อสังคม และช่วยปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์น้ำและธรรมชาติทางทะเลให้เกิดแก่มวลหมู่สมาชิกของ SOS รวมทั้งเพื่อให้สมาชิก SOS ได้มีโอกาสร่วมพบปะสังสรรค์อันจะเป็นการเพิ่มพูนความรักความสามัคคีในมวลหมู่สมาชิกได้อีกทางหนึ่ง


ผู้ร่วมโครงการ
1. ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กระบี่ อนุเคราะห์พันธุ์สัตว์น้ำ พร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมควบคุมดูแลการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ
2. คุณเสรี ถนัดสอนสาร และเรือโชคศุลี สนับสนุนโครงการด้วยการคิดค่าใช้จ่ายบนเรือให้ในราคาพิเศษ
3. สมาชิกอาสาสมัคร ของ SOS ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 22 คน




แผนการดำเนินงาน

การดำเนินงานตามโครงการมีแผนการดำเนินงานดังนี้


วันพุธที่ 10 มีนาคม 2553

อาสาสมัครออกเดินทางจากภูมิลำเนาที่อาศัย ไปยังท่าเรือรัษฏา จังหวัดภูเก็ต โดยรวมกลุ่มนัดหมายตกลงเรื่องการเดินทางกันเอง (ควรจะถึงภูเก็ตไม่เกิน 22.00 น. เพื่อให้เรือพร้อมออกเดินทางจากท่าเรือรัษฏาได้ในเวลา 24.00 น.) อาสาสมัครที่เดินทางไปถึงก่อนช่วยกันขนพันธุ์สัตว์น้ำขึ้นเรือโชคศุลี


วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2553

08.00 น.... ลงดำน้ำ ที่ หินม่วง เพื่อปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ (บางส่วน)
11.30 น.... ลงดำน้ำ ที่ หินม่วง เพื่อปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ (ส่วนที่เหลือ)
12.30 น.....พักรับประทานอาหารกลางวัน และพักผ่อน
15.30 น......ลงดำน้ำเก็บขยะและตัดอวนบริเวณ หินแดง
19.00 น......ลงดำน้ำ Night Dive ที่ หินแดง


วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม 2553

08.00 น.... ดำน้ำเก็บขยะและตัดอวน และเยี่ยมสัตว์น้ำที่ปล่อยบริเวณเกาะแหวน
11.00 น....ดำน้ำเก็บขยะและตัดอวนบริเวณเกาะแหวน
12.00 น.....พักรับประทานอาหารกลางวัน และ แวะชมถ้ำมรกต
15.00 น....ดำน้ำเก็บขยะและตัดอวนที่ เกาะรอก
18.30 น...ลงดำน้ำ Night Dive ที่ เกาะรอก

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม 2553
08.00 น....ดำน้ำเก็บขยะและตัดอวน บริเวณ หมู่เกาะ 5
11.00 น....ดำน้ำเก็บขยะและตัดอวนบริเวณ หมู่เกาะ 5
15.00 น....ดำน้ำเก็บขยะและตัดอวนบริเวณหมู่เกาะ 5
19.00 น....ดำน้ำกลางคืนบริเวณ เกาะ 5 ใหญ่


วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม 2553

08.00 น....ดำน้ำเก็บขยะและตัดอวนบริเวณ เกาะบิดะ หมู่เกาะพีพี
11.00 น....ดำน้ำเก็บขยะ / ตัดอวน และเยี่ยมสัตว์น้ำที่ปล่อยบริเวณ อ่าวนุ้ย หมู่เกาะพีพี
15.00 น....ดำน้ำเก็บขยะและตัดอวนบริเวณหินมุสัง
18.00 น.....เรือแล่นกลับเข้าฝั่งที่ท่าเรือรัษฏา ภูเก็ต


วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม 2553
08.30 น....ขึ้นจากเรือและแยกย้ายกันเดินทางกลับภูมิลำเนา


หมายเหตุ : รายการอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม โดยไม่จำต้องแจ้งล่วงหน้า


คุณสมบัติอาสาสมัคร

เฉพาะการดำน้ำ จะต้องเป็นสมาชิก SOS ที่จบการเรียนดำน้ำกับสถาบันสอนดำน้ำสากล ขั้น Advanced Scuba Diver และมีประสบการณ์การดำน้ำอย่างน้อย 25 dives หรือเคยร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำกับ SOS มาแล้ว


ประมาณการค่าใช้จ่าย

1. สมาชิกที่อาสาสมัครไปร่วมปฏิบัติงานร่วมกันจ่ายค่าเรือ ค่าดำน้ำอย่างน้อย 14 ไดฟ์ (ไม่รวมอุปกรณ์) ค่าอาหาร และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ในราคาที่จะแจ้งเฉพาะผู้ที่จะไปเป็นการส่วนตัว
2. ผู้ร่วมโครงการจ่ายค่าเดินทางไป-กลับระหว่างภูมิลำเนา - ท่าเรือรัษฏา – ภูมิลำเนา


อุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน

1. อุปกรณ์ดำน้ำครบชุด และถุงมือดำน้ำ (อาสาสมัครเป็นผู้จัดหาเอง)
2. ทุ่นหรือถุงลม (Air Sausages อาสาสมัครเป็นผู้จัดหาเอง)
3. เชือก และถุงขยะ(มีผู้จัดหาให้)
4. มีด หรือกรรไกรและถุงตาข่าย (อาสาสมัครเป็นผู้จัดหาเอง ยกเว้นสมาชิกที่ไปร่วมกิจกรรมเป็นครั้งแรกจะได้รับแจก 1 ชุด)





__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 07-03-2011 เมื่อ 09:40
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม