ดูแบบคำตอบเดียว
  #8  
เก่า 22-02-2011
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default

เสียงจากคนท้องถิ่นต่อ "เมกกะโปรเจ็คต์ท่าเรือน้ำลึกปากบารา"



“สตูล” เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ด้านชายฝั่งทะเลอันดามัน มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ เช่น อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เกาะหลีเป๊ะ อุดมไปด้วยแหล่งดำน้ำชมปะการังที่สวยงามขึ้นชื่อ หรือจะข้ามไปเที่ยวเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย รวมถึงวิถีชาวประมงพื้นบ้าน โดยมีท่าเรือปากบารา เป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทางไปยังเกาะต่างๆ นักเดินทางจำนวนไม่น้อยหลงเสน่ห์เมืองที่มีธรรมชาติสวยงามและเงียบสงบ บรรยากาศวิถีชีวิตที่อบอวลไปด้วยวัฒนธรรมไทย-มุสลิม ทว่าภาพที่สวยงามของสตูลที่เคยตราตรึงใจนักเดินทางอาจจะกลายเป็นอดีต เพราะว่า...

โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตั้งอยู่พื้นที่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล หากนึกถึงภาพท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ใกล้เคียง ก็น่าจะทำให้เห็นภาพในอนาคตที่จะเข้ามาแทนภาพความสงบสุขของปัจจุบันที่เป็น วิถีชีวิตแบบชุมชนประมงชายฝั่ง แล้วเมืองสตูลที่เงียบสงบก็จะถูกปลุกให้ตื่นด้วยนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสาขาปิโตรเคมี

ขณะนี้เมกกะโปรเจ็คต์ชุดนี้ กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี(ขน.) กระทรวงคมนาคม เจ้าของโครงการนี้ กำลังรอคอยผลการพิจารณาอนุมัติรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)

ในขณะที่รอผลการพิจารณาขน.ดำเนินการออกแบบการก่อสร้างควบคู่กันไป และคาดหมายว่าทันทีที่สผ.อนุมัติ EIA โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ขน.ก็พร้อมจัดประกวดราคาก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทันที มีข่าวเล่าลือมาว่ากลุ่มทุนดูไบเวิลด์ แห่งรัฐดูไบ (คล้ายกับกลุ่มทุนเทมาเส็ก ของสิงคโปร์) ก็เฝ้าติดตามโครงการนี้อย่างใกล้ชิด เพราะลงนามใน MOU ร่วมกับกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ออกเงินแบบ”ให้เปล่า”แก่กระทรวงคมนาคมในการจัดทำผลการศึกษาและออกแบบ โครงการนี้ ประมาณ 200-300 ล้านบาท

ที่น่าตื่นตระหนกคือ ขณะนี้ถนนทางเข้าท่าเทียบเรือปากบารา ตอนที่ 1 สร้างเสร็จตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 ด้วยเงินภาษีอากรของประชาชน โดยกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ราวกับว่าโครงการนี้เป็น”ของขวัญ”สำหรับชาวสตูลอย่างแน่นอน

เสียงเล่าลือดังมาจากแวดวงภาคประชาสังคมว่า ขณะนี้ กลุ่มทุนท้องถิ่นโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และนักการเมืองท้องถิ่น ได้ขยับตัวเพื่อเตรียมรับกับโครงการนี้แล้ว

แล้วผู้คนที่กำลังใช้ชีวิตตรงที่ตั้งโครงการรับรู้อะไรเกี่ยวกับโครงการ นี้มากน้อยแค่ไหน มีข้อมูลที่รอบด้านพอที่จะตัดสินใจต้อนรับหรือปฏิเสธสิ่งที่เรียกรวมกัน ว่า”ความเจริญ”



นายชูพงศ์ หวันสู นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ อ.ละงู กล่าวแสดงความเห็นว่า ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับข้อมูลกันน้อยมาก ที่ผ่านมาบริษัทที่ปรึกษาเคยมาชี้แจงถึงโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกนี้ แต่ผู้ที่เข้ารับฟังเป็นพวกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิกอบต. โตะอิหม่าม ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้รับรู้ และผู้ที่เข้ารับฟังข้อมูลก็ไม่ได้เข้าใจเนื้อหาโครงการอย่างละเอียดว่า สร้างแล้วชาวบ้านได้-เสียอะไร การประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับรู้โดยทั่วกันก็ไม่มี

สิ่งที่เค้าชี้แจงว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นก็คือท้องถิ่นได้ภาษีมากขึ้น หลายล้าน ซึ่งก็ยังประเมินไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดอุตสาหกรรมมากน้อยแค่ไหนใน พื้นที่ การพัฒนาถนน หนทาง ความเจริญจะเข้ามา แต่ตนเองก็ทราบว่าถ้าโครงการเกิดขึ้นจริงแล้ว ก็จะมีโรงงานอุตสาหกรรมตามมา มีมลพิษ ซึ่งถ้าควบคุมได้ก็ไม่มีปัญหา แต่เราก็ไม่ไว้ใจเลย

ทั้งนี้นายก อบต. ปากน้ำ ยังกล่าวด้วยว่า เสียงชาวบ้านที่นี่ก็มีทั้ง 2 ฝ่าย แต่ฝ่ายอยากได้เยอะกว่า เพราะอยากให้ต.ปากน้ำ‘เจริญ’ คนที่นี่มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่ทำประมงพื้นบ้าน ได้เฉลี่ยประมาณวันละ 500 บาทต่อคน อยากให้ลูกหลานที่เรียนหนังสือสูงๆได้มีงานทำ แต่ความเจริญที่เข้ามาก็ต้องกระทบกับอาชีพประมงพื้นบ้าน ร้านอาหารคาราโอเกะ ขายเหล้า ที่กระทบวัฒนธรรมชุมชนมุสลิม นั่นคือสร้างขึ้นมาก็มีทั้งดี และเสีย เราในฐานะผู้นำท้องถิ่น เราก็ต้องเลือกตามเสียงส่วนใหญ่ในพื้นที่ เพราะบ้านเราเมืองประชาธิปไตย

ด้านนายสุมาตรา แซะอาหลี ประธานกลุ่มโฮมสเตย์อนุรักษ์บ้านปากบารา ให้ความเห็นว่า โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกกระทบต่อเราอย่างมากแน่นอนเพราะว่าคนมาเที่ยวต้อง การมาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน ไม่ใช่มาดูโรงงานอุตสาหกรรม และในกลุ่มโฮมสเตย์ของเรายังเกี่ยวพันไปถึงกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชัง และกลุ่มประมงชายฝั่ง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เราจัดให้นักท่องเที่ยวได้ไปเรียนรู้ ที่สำคัญบริเวณที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกจะติดกับเกาะเขาใหญ่ ซึ่งก็เป็นจุดที่เราจะพาคณะนักท่องเที่ยวไปแวะเล่นน้ำ รับประทานอาหาร

หากคิดประเมินเป็นตัวเลขความสูญเสียแล้ว นายสุมาตรา กล่าวว่า กลุ่มเรากำลังเริ่มต้นทดลองทำ นักท่องเที่ยวที่เราคาดว่าจะรับคือเดือนละประมาณ 20 คน ขณะนี้บ้านที่เป็นสมาชิกได้รายได้เดือนละ 8,000 ถึง 12,000 บาท ซึ่งอนาคตอาจจะเพิ่มขึ้นตามความสามารถการจัดการของชุมชน นอกจากนี้ยังมีรายได้ในส่วนมัคคุเทศก์เยาวชน ได้วันละ 500 บาทต่อคน

ประธานกลุ่มโฮมสเตย์อนุรักษ์บ้านปากบารา ให้ความเห็นที่ชัดเจนว่า ในนามชาวบ้านคนหนึ่ง ไม่อยากให้สร้าง ไม่ใช่เพราะต้องสูญเสียรายได้จากกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แต่เพราะว่าความเป็นธรรมชาติที่ดั้งเดิมดีกว่าตัวเลขจีดีพีที่ขยายมากขึ้น มีโครงการแล้ว คนที่นี่จะมีสุขภาพที่แย่ลง เยาวชนที่มาเป็นมัคคุเทศก์ก็จะกลายเป็นแค่ยามเฝ้าตู้คอนเทนเนอร์ เฝ้าหน้าโรงงาน ตกเย็นก็จับกลุ่มกินเหล้าขาว ไม่ได้มีค่าอะไรต่อการพัฒนาคนท้องถิ่นเลย

สำหรับในมุมมองของคนบ้านๆทั่วไป นายยุมอาด ขวัญทอง ชาวบ้านปากบารา ม.2 ต.ปากน้ำ คนวัยหนุ่มผู้มีอาชีพหากินในทะเลตามแบบอย่างรุ่นพ่อ-แม่ บอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ว่า เคยได้ยินโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึก และเคยเห็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ เค้าว่ากันว่าจะสร้างปีหน้า แต่ที่รู้ๆก็ฟังต่อๆกันมาจากชาวบ้านด้วยกัน

เมื่อถามว่าต้องการไหมโครงการนี้ พรานทะเลคนนี้ ให้ความเห็นว่า มีหรือไม่มีก็ได้ทั้งนั้นแล้วแต่ เพราะตัวเองตอนนี้ก็ไม่ได้รู้ข้อมูลมากพอที่จะไปตัดสินใจว่าเอาหรือไม่เอาดี แต่ที่แน่ๆคือถ้ามีท่าเรือจริงกระทบกับชาวประมงพื้นบ้านแน่นอน เพราะบริเวณที่จะก่อสร้างก็เป็นจุดหาปลาของชาวประมง

ด้านรายได้ นายยุมอาด กล่าววว่า สามารถออกเรือมีทั้งปี ปู ปลาที่จับได้ก็เปลี่ยนไปตามแต่ช่วงฤดูมรสุมและกระแสน้ำ ดังนั้นรายได้ก็ไม่แน่นอนตั้งแต่แบบกลับบ้านมือเปล่าจนสูงถึง 3,000 บาทต่อวัน และก็ยังมีกระชังเลี้ยงปลากะพง ปลาเก๋า ซึ่งก็คงต้องได้ผลกระทบตามไปด้วย

หากวันหน้าพื้นที่ที่นี่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม มีงานให้ทำในโรงงาน และในท่าเรือ จะเข้าไปทำงานไหม? นายยุมอาด ตอบว่า ไม่รู้ว่าความสามารถ ความรู้แบบเราเค้าจะรับไหม ไม่ได้เรียนหนังสือสูงๆ แต่ถ้าถามว่าหากให้เลือก ก็ขอเลือกทำกินในทะเลดีกว่า ไม่อยากทำงานรับจ้างในโรงงาน แบบว่าเรามีอิสระกว่า

จากความเห็นของคนในท้องถิ่นสะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าพอจะมองเห็นข้อดี-เสีย แต่เสียงส่วนใหญ่ก็เลือก ”รับ” บนฐานการตัดสินใจที่ขาดข้อมูลอย่างครบถ้วนและรอบด้าน เพราะเชื่อว่าความเจริญจะเกิดขึ้นกับท้องถิ่น คนส่วนน้อยที่เห็นต่าง ผู้นำท้องถิ่นที่ควรมีบทบาทชี้นำให้ชาวบ้านทั่วไปเดินไปบนทิศทางที่ดีงาม กว่า ก็ต้องยอมให้กับหลักประชาธิปไตยเสียงข้างมาก.

ขอบคุณข้อมูลจาก...http://www.souththai.org/index.php?o...d=53&Itemid=27
__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม