ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 03-01-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


โลกร้อน: 5 เหตุผลที่ปี 2021 อาจเป็นจุดเปลี่ยนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ................ โดย จัสติน โรว์ลัตต์ หัวหน้าผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อม


โลกเราจะมีอุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในเวลา 12 ปี หรือน้อยกว่านั้น และจะร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียสในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ ... ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

ถ้าต้องการเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายประเทศคงต้องลงมือทำอะไรสักอย่างภายในเวลาอันจำกัด นี่คือ 5 เหตุผลที่ว่า ทำไมปี 2021 อาจเป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน

ไร้ข้อกังขาว่าโรคโควิด-19 เป็นปัญหาใหญ่แห่งปี 2020

แต่ผมหวังว่าภายในสิ้นปี 2021 วัคซีนจะใช้งานได้ผล แล้วผู้คนก็จะกลับมาพูดกันเรื่องสภาพภูมิอากาศโลกมากกว่าไวรัสโคโรนา

ปี 2021 จะเป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ บอกผมว่า เขาคิดว่าปีนี้อาจเป็นช่วงเวลา "ชี้เป็นชี้ตาย" ในการต่อสู้กับปัญหานี้

ดังนั้น ในช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองและคาดหวังว่าจะเกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นในปีใหม่ นี่คือสาเหตุที่ทำให้ผมเชื่อว่าปี 2021 อาจเป็นปีที่ความพยายามแก้ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศโลกประสบผลสำเร็จ


1.การประชุมใหญ่ว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศ

ในเดือน พ.ย. 2021 ผู้นำโลกจะมารวมตัวกันในเมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ เพื่อร่วมประชุมในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากที่เคยร่วมประชุมกันในกรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อปี 2015

การประชุมในกรุงปารีสมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ทุกชาติในโลกตกลงหารือกันว่าทุกประเทศจำเป็นต้องช่วยกันจัดการกับปัญหานี้

ปัญหาก็คือ คำมั่นสัญญาที่ประเทศต่าง ๆ ให้ไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ในการประชุมครั้งนั้นมาก

ในการประชุมครั้งดังกล่าว ประชาคมโลกเห็นชอบร่วมกันว่าต้องหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส จากช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมให้ได้จนกว่าจะสิ้นศตวรรษนี้ เป้าหมายคือ 1.5 องศาเซลเซียส หากเป็นไปได้


ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

แต่เรายังห่างไกลจากแผนนั้นอยู่มาก เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิโลกจะทะลุเพดาน 1.5 องศาเซลเซียสภายในเวลา 12 ปี หรือเร็วกว่านั้น และจะแตะ 3 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้

ข้อตกลงของการประชุมที่กรุงปารีส ประเทศต่าง ๆ สัญญาว่าจะกลับมาหารือกันทุก ๆ 5 ปี และเพิ่มความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

เดิมการประชุมมีกำหนดจัดขึ้นในเมืองกลาสโกว์ เดือน พ.ย. 2020 แต่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนจัดการประชุมมาเป็นปีนี้แทน

ดังนั้น การประชุมในเมืองกลาสโกว์ในปีนี้ จะเป็นเวทีที่มีการหารือกันถึงความเป็นไปได้ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยิ่งกว่าเดิม


2. ประเทศต่าง ๆ ได้ลงนามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว

เกิดความคืบหน้าขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อแถลงการณ์ที่สำคัญที่สุดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเมื่อปีที่แล้วเกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด

ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ประกาศว่า จีนตั้งเป้าที่จะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2060

บรรดานักสิ่งแวดล้อมต่างตกตะลึงไปตาม ๆ กัน เนื่องจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มักถูกมองว่าเป็นเป้าหมายที่ต้องแลกมาด้วยราคาแพง แต่ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลกราว 28% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดอย่างจีน ได้ประกาศให้คำมั่นโดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ ไม่ว่าประเทศอื่นจะทำตามหรือไม่

นั่นเป็นท่าทีที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากการเจรจากันในอดีต ที่ทุกคนต่างกลัวว่าต้นทุนของตนจะสูงขึ้นหากต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่คนอื่น ๆ ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยไม่ต้องลงทุนทำอะไรเลย


จีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 28% ของทั้งโลก ... ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES

ไม่ใช่แค่จีนเท่านั้น

สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งแรกในโลกที่ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเป็นศูนย์ เมื่อเดือน มิ.ย. 2019 จากนั้นสหภาพยุโรปจึงประกาศตามมาในเดือน มี.ค. 2020

นับจากนั้น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ร่วมให้คำมั่นด้วย ซึ่งสหประชาชาติประเมินว่าปัจจุบันมีมากกว่า 110 ประเทศที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในช่วงกลางศตวรรษนี้ โดยประเทศเหล่านี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันมากกว่า 65% ของทั้งโลก และมีขนาดเศรษฐกิจสูงกว่า 70% ของทั้งโลก

นายโจ ไบเดน ที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ได้ตัดสินใจกลับเข้ามาร่วมในเส้นทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกครั้ง

ขณะนี้ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการของตัวเองว่า จะบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายนี้ได้อย่างไร นั่นคือส่วนสำคัญของวาระการประชุมที่จะเกิดขึ้นในเมืองกลาสโกว์ แต่การที่ประเทศต่าง ๆ ออกมาบอกว่า ต้องการจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้นก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างยิ่งแล้ว


3.ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกที่สุด

มีเหตุผลที่ดีประการหนึ่งที่ทำให้หลายประเทศกำลังวางแผนที่จะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ นั่นก็คือ ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงอย่างมากกำลังจะเปลี่ยนแปลงสมการของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปอย่างสิ้นเชิง

ในเดือน ต.ค. 2020 ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) สรุปว่า ปัจจุบันโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดีที่สุด "เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่มีถูกที่สุดในประวัติศาสตร์"

พลังงานหมุนเวียนมักจะถูกกว่าพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่แล้วในประเทศส่วนใหญ่ เมื่อต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่หลายแห่ง

ถ้าประเทศต่าง ๆ ในโลกหันมาเพิ่มการลงทุนในพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และแบตเตอรีในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ราคาอาจจะลดต่ำลงไปอีกจนถึงจุดที่ถูกมากถึงขั้นที่ทำให้มีการปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแก๊สหรือถ่านหิน โดยนำพลังงานหมุนเวียนเหล่านั้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์แทนได้

นั่นเป็นเพราะว่า ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนเป็นไปตามการผลิต ยิ่งผลิตมากก็ยิ่งมีราคาถูกลง เป็นการผลักดันให้เกิดการผลิตมากขึ้น ราคาก็จะยิ่งถูกลงไปอีก แล้วเมื่อราคายิ่งถูกลง ก็ยิ่งมีการผลิตพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้เพิ่มขึ้น

เรื่องนี้จะส่งผลให้นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมไม่ต้องบีบบังคับนักลงทุนให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องอีกต่อไป เพราะนักลงทุนก็ทำตามผลตอบแทนที่ได้อยู่แล้ว ส่วนรัฐบาลต่าง ๆ รู้ว่า การเพิ่มพลังงานหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของตัวเอง จะเป็นการเร่งให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานของทั่วโลก โดยการทำให้พลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกลงและสามารถแข่งขันได้ในทุกที่


ที่มาของภาพ,EPA


4.โควิดเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง

การระบาดของโควิด-19 สั่นคลอนความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของเรา และย้ำเตือนเราว่าโลกของเราอาจจะเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิดที่เราไม่สามารถควบคุมได้

การระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1930

รัฐบาลต่าง ๆ ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของตัวเองหลายอย่าง

ข่าวดีก็คือ การลงทุนเหล่านี้มีต้นทุนที่ต่ำลงอย่างมาก อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกเกินศูนย์เปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อย หรืออาจจะติดลบด้วยซ้ำ

ทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมา

สหภาพยุโรปและรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโจ ไบเดน รับปากแล้วว่าจะลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเป็นตัวกระตุ้นกระบวนการให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอนลงจนกลายเป็นศูนย์

ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป หวังว่า ประเทศอื่น ๆ จะเข้าร่วมกับพวกเขาด้วย เพื่อช่วยผลักดันให้ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกลดต่ำลงไปอีก แต่พวกเขากำลังเตือนเช่นกันว่า นอกจากมาตรการนี้แล้ว ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีแผนที่จะเก็บภาษีนำเข้ากับประเทศที่ปล่อยคาร์บอนมากเกินไปด้วย

การทำเช่นนี้อาจช่วยกระตุ้นให้ประเทศที่ล่าช้าในการตัดลดการปล่อยคาร์บอนอย่าง บราซิล, รัสเซีย, ออสเตรเลีย และซาอุดีอาระเบีย ให้กลับมาเร่งมือให้ทันประเทศอื่น

ข่าวร้ายก็คือ สหประชาชาติระบุว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศกำลังใช้จ่ายในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลมากกว่าพลังงานคาร์บอนต่ำราว 50%


(มีต่อ)


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 03-01-2021 เมื่อ 04:35
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม