ดูแบบคำตอบเดียว
  #6  
เก่า 28-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,331
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


คู่มืออย่างง่าย ในการทำความเข้าใจ "โลกร้อน"



อุณหภูมิโลกกำลังสูงขึ้นเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ ทำให้เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น รวมถึงเหตุการณ์สภาพอากาศสุดโต่งอื่น ๆ

สถานการณ์มีแนวโน้มจะแย่ลงอีกในทศวรรษถัด ๆ ไป แต่มาตรการที่เร่งด่วนก็สามารถจำกัดผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คืออะไร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นปากในภาษาไทยว่า "โลกร้อน" คือการที่อุณภูมิเฉลี่ยโลกและสภาพอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว โดยในตอนนี้โลกอุ่นขึ้นโดยเฉลี่ย 1.1 องศาเซียลเซียสแล้ว เทียบกับช่วงปลายศตวรรษที่ 19


มนุษย์เป็นตัวการของโลกร้อนหรือไม่

สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมาตลอดประวัติศาสตร์ของดาวเคราะห์โลก แต่สาเหตุทางธรรมชาติไม่สามารถอธิบายการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเร็วเป็นพิเศษในศตวรรษที่ผ่านมาได้

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ มีสาเหตุมาจากมนุษย์

สาเหตุหลักก็เนื่องมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในบ้าน โรงงาน และยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ

เมื่อมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล พวกมันจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา โดยก๊าซที่ถูกปล่อยออกมามากที่สุดคือคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจกดูดซับคลื่นรังสีความร้อนในชั้นบรรยากาศใกล้กับพื้นผิวโลกเอาไว้ และเป็นสาเหตุให้โลกของเราร้อนขึ้น

นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นจุดที่มนุษย์เริ่มเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณมหาศาล ประมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้เพิ่มขึ้นแล้วกว่า 50%

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลมีโครงสร้างทางเคมีเฉพาะตัว ซึ่งมีการตรวจพบร่องรอยของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนี้เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ


ผลกระทบจากโลกร้อนที่เกิดขึ้นแล้วคืออะไรบ้าง

การที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสอาจจะฟังดูไม่มาก

อย่างไรก็ตาม มันส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม เช่น

- เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดคลื่นความร้อน และฝนตกหนัก

- ธารน้ำแข็งและพืดน้ำแข็ง (ice sheet) ที่ปกคลุมรอบพื้นทวีปละลายอย่างรวดเร็ว และทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

- น้ำแข็งทะเลในขั้วโลกเหนือละลายและหดตัวอย่างมาก

- มหาสมุทรอุ่นขึ้น

-วิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากกำลังเปลี่ยนไป

ยกตัวอย่างเช่น บางพื้นที่ของแอฟริกาตะวันออกเพิ่งจะประสบกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ทำให้ผู้คนกว่า 20 ล้านคนต้องเสี่ยงกับภาวะอดอยาก ในปี 2022 คลื่นความร้อนในยุโรปทำให้อัตราการตายพุ่งสูงกว่าปกติ


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตจะกระทบโลกอย่างไร

ยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้นมากเท่าไหร่ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ระบุว่า การจำกัดไม่ให้อุณภูมิในระยะยาวเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสถือว่ามีความสำคัญมาก

แม้ว่าวิทยาศาสตร์อาจไม่สามารถให้คำตอบที่ถูกต้องแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นได้ แต่ความต่างของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส แทนที่จะเป็น 1.5 องศาเซลเซียส มีดังนี้ เช่น

- วันที่ร้อนอย่างมาก จะร้อนขึ้นโดยเฉลี่ย 4 องศาเซลเซียส สำหรับประเทศที่อยู่ในบริเวณละติจูดกลาง (mid-latitudes ซึ่งหมายถึงภูมิภาคที่ไม่ได้อยู่ในเขตขั้วโลกและไม่ได้อยู่ในเขตร้อน) ทั้งนี้ หากอุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส วันที่ร้อนอย่างมากจะร้อนขึ้นเพียง 3 องศาเซลเซียส

- ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีก 10 เซนติเมตรเมื่อเทียบกับกรณีที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และทำให้คนมากขึ้นอีกกว่า 10 ล้านคนได้รับผลกระทบ

- มากกว่า 99% ของปะการังจะตาย เทียบกับ 70-90% ในกรณีที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่ม 1.5 องศาเซลเซียส

- ทุก ๆ 10 ปี จะเกิดเหตุที่มหาสมุทรอาร์กติกในขั้วโลกเหนือไม่มีน้ำแข็งทะเล (sea-ice) อยู่เลยในช่วงฤดูร้อน ทั้งนี้ หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศา เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเพียงทุก 100 ปี

- จะมีพืชและสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสมต่อการมีชีวิตเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

- ผู้คนอีกหลายร้อยล้านคนจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ รวมถึงอาจร่วงหล่นลงสู่ความยากจนภายในปี 2050

การจำกัดอุณภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการไปถึงสิ่งที่เรียกว่า "จุดที่ไม่อาจหวนกลับ" ด้วย

หากเลยจากจุดดังกล่าวไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะยิ่งเร่งขึ้นและไม่อาจแก้ไขย้อนกลับได้ อย่างเช่น การล่มสลายของพืดน้ำแข็งรอบเกาะกรีนแลนด์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่าอุณหภูมิที่จะทำให้ถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับดังกล่าวนี้อยู่ตรงไหน

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า ผู้คนทั่วโลก 3.3-3.6 พันล้านคน มีความเสี่ยงอย่างสูงว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป็นที่คาดกันว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ยากจนจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากพวกเขามีทรัพยากรสำหรับการปรับตัวน้อยกว่า

นี่ทำให้เกิดคำถามเรื่องความเป็นธรรมขึ้นมา เพราะว่าผู้คนในประเทศเหล่านั้นมีส่วนเพียงน้อยนิดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากโลกร้อนนั้นสามารถรับรู้และรู้สึกได้ในพื้นที่วงกว้าง ตัวอย่างเช่น การทำฟาร์มเกษตรที่ล้มเหลวอันเนื่องมาจากสภาพอากาศสุดขั้ว อาจทำให้ราคาอาหารของทั้งโลกสูงขึ้นได้


รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้ทำอะไรแล้วบ้างเพื่อรับมือโลกร้อน

รัฐบาลเกือบ 200 ประเทศได้ลงนามร่วมกันในความตกลงปารีสในปี 2015 โดยให้คำมั่นว่าจะพยายามรักษาอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เป้าในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า เน็ตซีโร่ (net zero) ควรจะบรรลุให้ได้ภายในปี 2050 เน็ตซีโร่หมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ รวมถึงการขจัดมลพิษทางอากาศที่เหลืออยู่จากชั้นบรรยากาศด้วย

ประเทศส่วนใหญ่ได้โอบรับ หรือไม่ก็กำลังพิจารณา เป้าหมายเน็ตซีโร่นี้อยู่

อย่างไรก็ตาม ระดับของก๊าซเรือนกระจกยังคงกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และก็ "มีแนวโน้มอย่างยิ่ง" ที่อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามการให้ข้อมูลของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม มีความก้าวหน้าอยู่บ้างในบางเรื่อง เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า

ผู้นำจากทั่วโลกพบปะกันทุกปีเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับพันธสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศ การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศครั้งต่อไป (COP28) จะจัดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในเดือน พ.ย. - ธ.ค. 2023


ปัจเจกบุคคลอย่างเรา ทำอะไรได้บ้าง

การเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ จำเป็นต้องมาจากภาครัฐและภาคธุรกิจ แต่การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยปัจเจกก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

- ใช้พลังงานน้อยลง

- ยกระดับฉนวนกันความร้อนภายในบ้าน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

- เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือเลิกขับรถยนต์ไปเลย

- สำหรับประเทศเขตหนาว เปลี่ยนจากระบบการให้ความร้อนที่ใช้แก๊ส ไปเป็นระบบที่ใช้ไฟฟ้าแทน

- กินเนื้อแดงน้อยลง (ปศุสัตว์ อย่างเช่น วัว ปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งถือเป็นก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน)


https://www.bbc.com/thai/articles/cn4p6y31qgeo

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม