ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 21-09-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ขยะปนเปื้อนนำเข้า ทำคนไทยตายผ่อนส่ง



เมื่อถุงพลาสติกถูกทิ้งเป็น "ขยะ" อยู่ตามสิ่งแวดล้อมมากมาย ทั้งขยะบนบกและขยะในทะเล ที่ไม่ใช่มีผลต่อระบบนิเวศเท่านั้น แต่กำลังกลายเป็น "ภัยร้ายใกล้ตัว" ย้อนกลับมาทำร้าย "ผู้บริโภค" ด้วยเช่นกัน

เพราะขยะพลาสติกนี้ถูกทิ้งลง "ทะเล" มักสลายตัวกลายเป็น "ไมโครพลาสติก" มีอนุภาคขนาดเล็กเท่ากับแบคทีเรียบางชนิด ที่เกิดจากการแตกหัก "สารเคมีใช้ผลิตพลาสติก" แขวนลอยปนเปื้อนอยู่ในทะเล

ทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลกินเป็นอาหาร โดยเฉพาะ "ปลาชนิดกินแพลงก์ตอน" ได้รับไมโครพลาสติกไปอยู่ในท้องปลาอย่างมาก สุดท้ายก็เป็น "ห่วงโซ่" อาหารของ "คน" ในการนำสัตว์ทะเลมารับประทาน

เมื่อเป็นเช่นนี้ "ผู้บริโภค" ก็จะรับสารพิษและสารเคมีเข้าสู่ร่างกายแบบไม่รู้ตัว

กลายเป็น "สิ่งแปลกปลอม" รบกวนการทำงานของระบบในร่างกาย รบกวนการทำงานการปล่อยฮอร์โมน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา...

สถานการณ์ขยะพลาสติกนี้ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะ ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า ตอนนี้ในภาพรวมของขยะมูลฝอยถูกทิ้งทั่วประเทศประมาณ 27.40 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 75,046 ตันต่อวัน เฉลี่ยแต่ละคนสร้างขยะ 1.3 กก.ต่อคนต่อวัน

ในจำนวนนี้มีขยะพลาสติกปะปนรวมอยู่ราว 2 ล้านตันต่อปี แต่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ หรือรีไซเคิลได้ประมาณ 5 แสนตัน คิดเป็นร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของพลาสติกทั้งหมดเท่านั้น



ส่วนอีก 1.5 ล้านตันต่อปี ถูกนำไปกำจัด แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.เผาทำลาย มีโรงงานเผาอยู่ 4 แห่ง คือ ภูเก็ต กทม. ขอนแก่น สมุทรปราการ สามารถเผาได้ประมาณ 2,000 ตันต่อปี 2.การฝังกลบราว 3,000 ตันต่อปี แต่มักเกิดปัญหา "บ่อขยะเต็ม" ถูกนำมากองเป็นภูเขาเลากาไว้ ที่เป็นการจำกัดไม่ถูกวิธี

ถ้ามีฝนตกมาก็ชะกองขยะ นำความสกปรก เชื้อโรค สารพิษ ไหลลงสู่แหล่งน้ำ และ 3.เป็นของเสีย ถูกปล่อยลงแหล่งน้ำและทะเล มีประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ที่กำลังเพิ่มพูนจำนวนมากขึ้นทุกปี

ก่อนหน้านี้ "กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" มีการติดตั้งทุ่นกักขยะตามปากแม่น้ำและลำคลองสายหลัก สามารถตรวจดักจับเก็บขยะได้มากมาย เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม ถุงพลาสติก ฝาน้ำ ซึ่งขยะพลาสติกพวกนี้ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 450 ปีด้วยซ้ำ

ในระหว่างการย่อยสลายล่องลอยอยู่ในน้ำทะเลนี้ "ขยะพลาสติกขนาดใหญ่" เมื่อถูกรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดการสลายโครงสร้างเป็นชิ้นเล็กลงกลายเป็น "ไมโครพลาสติก" โดยเฉพาะพื้นที่มหาสมุทรลักษณะน้ำอุ่น เช่น เอเชียแปซิฟิก มักมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่จำนวนมาก

"ขยะพลาสติก" ยิ่งอยู่ในน้ำทะเลนานจะมีลักษณะคล้าย "แมงกะพรุน" จากนั้นจะสลายเป็น "ไมโครพลาสติก" มีแสงระยิบระยับคล้าย "แพลงก์ตอน" หลอกล่อสัตว์ทะเลมากิน แต่มีความเป็นพิษสูงมาก

เพราะเมื่อราว 40-50 ปีที่แล้ว ?นักวิจัย? เก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิต สัตว์ทะเล เช่น "นกทะเล" ที่มีไมโครพลาสติกในร่างกาย 5% แต่ไม่กี่ปีมานี้ก็เก็บตัวอย่างใหม่ กลับพบว่า ?นกทะเล? มีไมโครพลาสติกเพิ่มขึ้นสูงถึง 90%

อีกทั้งยังมีผลกระทบในสัตว์น้ำอื่น เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ที่มีไมโครพลาสติกสะสมในตัวสัตว์อยู่มาก จนเนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารเป็นแผล และยับยั้งการเจริญเติบโตของสัตว์ด้วย...

ดังนั้น "คน" บริโภคเนื้อสัตว์ทะเลนี้ที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อน ก็มีโอกาสเข้ามาสะสมเป็น ?สิ่งแปลกปลอม? ที่จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ อาจก่อให้เกิด "โรคมะเร็ง" ตามมาได้แน่นอน แต่ระยะเวลาที่จะแสดงอาการของโรคอาจจะช้ากว่าสัตว์ขนาดเล็กเท่านั้นเอง

สอดคล้องผลการศึกษา "การปนเปื้อนไมโครพลาสติกในอาหารและมนุษย์" ได้นำอุจจาระจากผู้บริโภค ?สัตว์ทะเล? ในพื้นที่ที่มีการสะสมของไมโครพลาสติกหนาแน่น พบว่า ในอุจจาระจะเจออนุภาคของไมโครพลาสติก แม้แต่ "เนื้อเยื้อของคน" ก็มีการสะสมปนเปื้อนอยู่เช่นกัน

สิ่งนี้ยังปัญหาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ที่ล้วนเกิดจากมนุษย์ที่ไม่มีจิตสำนึกในการร่วมกันรักษาให้กับโลกใบนี้ด้วย



ต้องยอมรับว่า..."ประเทศไทย" มีการใช้ถุงพลาสติกก๊อบแก๊บราว 4.5 หมื่นล้านใบต่อปี แบ่งเป็น...ในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เกต และร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือร้อยละ 70 มีการใช้ในตลาดสด ร้านขายของชำ และนับแต่เดือน ม.ค.2563 มีการขับเคลื่อนงดเลิกใช้ถุงพลาสติก ก็สามารถลดได้ราว 30% เท่านั้น

กระทั่ง..."การระบาดโควิด-19" ทำให้ "รัฐบาล" มีมาตรการชัตดาวน์เมืองอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะเขตเมือง ทั้งกรุงเทพฯและเมืองท่องเที่ยว ต่างก็มีปริมาณขยะมูลฝอยโดยรวมลดลง เช่น จ.ภูเก็ต ลดลงจาก 970 ตันต่อวัน เป็น 840 ตันต่อวัน พัทยา จาก 850 ตันต่อวัน เป็น 380 ตันต่อวัน เป็นต้น

ทว่า..."สัดส่วนขยะพลาสติก" กลับเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกเมืองถึงร้อยละ 62 สาเหตุจากการสั่งอาหารรูปแบบดีลิเวอรีที่มีการเติบโตมากกว่า 200% ตามรายงานของกรุงเทพฯ ในเดือน เม.ย.2563 มีปริมาณขยะพลาสติก 3,440 ตันต่อวันของขยะทั้งหมด 9,370 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 2,120 ตันต่อวัน

ทำให้หลังจาก "หยุดระบาดโควิด-19" คงต้องรณรงค์หยุดการใช้ถุงพลาสติกกันใหม่ โดยเฉพาะ "โรดแม็ปการจัดการขยะพลาสติก" ในการเลิกใช้พลาสติกที่ดำเนินมาตั้งแต่ในปี 2562 แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ 1.พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม 2.พลาสติกผสมสารออกโซ 3.พลาสติกผสมไมโครบีด

และระยะที่สอง...จะยกเลิกให้ใช้ภายในปี 2565 อีก 4 ชนิด คือ 1.พลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน 2.กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3.หลอดพลาสติก ที่มีข้อยกเว้นสำหรับใช้กับเด็ก คนชรา และผู้ป่วย และ 4.ยกเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

ประเด็น..."นำเข้าขยะพลาสติกนำมารีไซเคิลในประเทศไทย" ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ ที่เป็นปัญหา "รัฐบาล" ต้องให้ความชัดเจน เพราะเดิมการนำเข้าขยะพลาสติก ต้องเป็นสิ่งพลาสติกสะอาด แต่ในช่วงหลังมานี้กลับมาเป็น "พลาสติกปนเปื้อน" สาเหตุจาก "ประเทศจีน" ห้ามนำเข้าขยะพวกนี้ และทะลักมาในไทยแทน

ทำให้ "ตัวเลข" ในการนำเข้าขยะพลาสติกจากไม่ถึงหมื่นตันต่อปี กลายมาเป็นหลักแสนตันต่อปี ดังนั้น "กระทรวงอุตสาหกรรม หรือกรมศุลกากร" คงต้องตรวจสอบตัวเลขให้ชัดเจน เพราะ "ตามระเบียบ" การนำเข้าขยะพลาสติกสะอาด ต้องนำเข้าโรงงานรีไซเคิลที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

หนำซ้ำ...ในช่วงนี้กลับไม่เป็นตามระเบียนเพิ่มขึ้น เพราะ "คนต่างชาติ" หันมาลงทุนทำธุรกิจโรงงานประเภทรีไซเคิลมากกว่าเดิม มีทั้งได้รับอนุญาต และไม่รับอนุญาต ทำให้มีการนำเข้า "ขยะอิเล็กทรอนิกส์ปนเปื้อน" ที่มีการคัดแยกอย่างไม่ถูกต้อง ทั้งการเผากลางแจ้ง หรือไม่มีระบบกำจัดมลพิษ เป็นต้น



ปัญหานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องเข้าไปแก้ไข และกำหนดเงื่อนไขโควตาการนำเข้าขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ชัดเจน เพราะคราวก่อนนี้ก็เคยมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. ...

สุดท้ายต้องถอนกลับไปตั้งต้นกันใหม่ แต่ในส่วนของต่างชาติ 60 ประเทศ มีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมขยะนำเข้าประเทศกันอย่างเข้มงวดแล้ว ทำให้ประเทศไทยมีช่องว่างในการ "ดีแคลร์สำแดงขยะนำเข้าไม่ตรงตามจริง" เช่น นำเข้าพลาสติกสกปรก กลับสำแดงแจ้งเป็นพลาสติกสะอาด ฯลฯ

ย้ำว่า..."ประเทศไทย" ถูกจัดอยู่อันดับที่ 6 ที่มีขยะทางทะเลมากที่สุดในโลก และนี่อาจไม่ใช่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากแต่ยังมีผลต่อ "สัตว์ทะเล" ที่กำลังย้อนมาทำร้าย "ผู้บริโภค" รับสารพิษตกค้างตายผ่อนส่งในที่สุดอีกด้วย.


https://www.thairath.co.th/news/society/1933509

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม