ดูแบบคำตอบเดียว
  #53  
เก่า 04-12-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,318
Default


'ไข้เลือดออก' ภัยร้ายน้ำท่วมขัง! เร่งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ป้องกันได้



สถานการณ์อุทกภัยขณะนี้เริ่มอยู่ในสภาวะทรงตัว บางพื้นที่น้ำเริ่มลดแล้ว ซึ่งหลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ภัยของน้ำที่นิ่งเฉย นี้มีอะไรบ้าง โดยน้ำท่วมขังมีลักษณะคล้ายกับสภาพที่เกิดขึ้นหลังฝนตก ถือเป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีของเหล่าเชื้อโรคต่างๆที่เป็นภัยร้ายต่อเรา อีกทั้ง น้ำท่วมขังยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง โดยเฉพาะยุงลายทำให้ใครที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังเสี่ยงเป็นโรค “ไข้เลือดออก” โดยเฉพาะเด็กอาจมีอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที

รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านบริหารความเสี่ยง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ความรู้ว่า ยุงลายมักจะชอบวางไข่ในน้ำที่นิ่งสะอาดและชอบกัดคนในเวลากลางวัน ทำให้หลังจากเกิดน้ำท่วมขังสักระยะหนึ่งเราจะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นและอาจมีการแพร่ระบาดของโรคขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในชุมชนที่แออัด เช่น ศูนย์ผู้อพยพ ถ้ายิ่งขาดสุขอนามัยที่ดีและขาดการควบคุมประชากรยุงที่มีประสิทธิภาพจะยิ่งทำให้พบผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นได้หลังเกิดอุทกภัยน้ำท่วม

โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมี 4 ชนิด คือ เดงกี-1 ถึงเดงกี-4 โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค สามารถแพร่เชื้อไวรัสเดงกีไปยังผู้อื่นได้หลังจากยุงลายดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสและไปกัดคนอื่นต่อ โดยอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกมี 3 ระยะ คือ

1.ระยะไข้สูง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงนานประมาณ 3-7 วัน และมักไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ พบอาการชักได้ในเด็กเล็ก ซึ่งอาการไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มักไม่มีอาการของหวัดชัดเจน มีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ตับโตและกดเจ็บ มีจุดเลือดออกบริเวณผิวหนัง เลือดออกบริเวณเยื่อบุต่างๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน และอาจพบเลือดออกในกระเพาะอาหารด้วย

2. ระยะวิกฤติ เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการไข้ลดลง ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะมีการรั่วของน้ำเหลืองหรือพลาสมาออกจากเส้นเลือด ทำให้เกิดภาวะเลือดข้น และอาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยมีภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจะมีอาการที่สังเกตได้คือ อาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็ว และเบาลง มีความดันโลหิตต่ำ ถ้าหากมีอาการเช่นนี้ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และ

3.ระยะพักฟื้น เป็นระยะที่ผู้ป่วยหายจากโรค อาการทั่วไปดีขึ้น เริ่มอยากรับประทานอาหาร ปัสสาวะเพิ่มขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจลดลง อาจมีผื่นแดงขึ้น โดยเฉพาะที่ขาทั้งสองข้าง

การวินิจฉัยไข้เลือดออกแพทย์จะอาศัยอาการของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจเลือด ซึ่งหลังจากการตรวจเลือดจะพบว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวและจำนวนเกล็ดเลือดลดลง กรณีที่มีการรั่วของน้ำเหลืองหรือพลาสมาจะมีความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้นและตรวจพบน้ำในเยื่อหุ้มช่องปอด อย่างไรก็ตามการตรวจเลือดเพื่อยืนยันว่าเป็นไข้เลือดออกจริงนั้นมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยบางราย แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ส่วนการรักษาโดยทั่วไปมักไม่จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลทุกราย โดยเฉพาะในระยะแรกของโรค



หากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกในระยะแรก การรักษาที่สำคัญที่สุดคือการรักษาตามอาการ คือมีไข้ขึ้นสูงควรเช็ดตัวบ่อยๆ รวมทั้งรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล และหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้กลุ่มแอสไพริน นอกจากนี้ยังแนะนำให้ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยสารน้ำที่แนะนำ ได้แก่ น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ ไม่แนะนำให้ดื่มน้ำที่มีสีแดงหรือสีดำ เนื่องจากกรณีผู้ป่วยอาเจียนออกมาอาจทำให้เข้าใจผิดว่ามีเลือดออกจากในกระเพาะอาหารได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำอย่างมากรวมทั้งมีภาวะช็อกซึ่งจะมีอาการมือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบา ความดันโลหิตต่ำ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัว ควรรับไว้รักษาในโรงพยาบาลโดยเร็ว

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันอายุของผู้ป่วยไข้เลือดออกมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นในเด็กโตและผู้ใหญ่ที่อายุไม่มากนัก ดังนั้นการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีทำได้โดยการปราบยุงและลูกน้ำยุงลาย หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัดด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด และใช้ยากันยุงหรือนอนในมุง ทั้งนี้ควรมีการรณรงค์ให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและลูกน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือหากพบลูกน้ำยุงลายในภาชนะใส่น้ำให้กำจัดโดยการใส่ทรายอะเบตลงไป และที่สำคัญคือการกำจัดหรือทิ้งทำลายภาชนะขังน้ำที่ไม่ได้ใช้แล้วไป เช่น ยางรถยนต์เก่า กระถางต้นไม้ที่แตกหัก และเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่ขังน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกัน เลี้ยงปลากินลูกน้ำในอ่างบัวหรือแหล่งน้ำอื่นๆ ปิดฝาโอ่งหรือภาชนะอื่นๆให้มิดชิด ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูลงในจานรองขาตู้กับข้าว

ส่วนวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเป็นอีกทางออกหนึ่งในการควบคุมและป้องกันไข้เลือดออก แต่ปัจจุบันวัคซีนยังอยู่ในขั้นทดลองใช้ โดยพบว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง คาดการณ์ว่าจะสามารถนำวัคซีนมาใช้อย่างแพร่หลายได้ในอนาคตอันใกล้นี้

โรคไข้เลือดออกเป็นภัยร้ายที่มากับน้ำท่วมขังอย่างคาดไม่ถึง เพราะหากเป็นในระยะรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น การป้องกันควรเริ่มต้นที่ต้นตอด้วยการทำลายภาชนะขังน้ำ จึงถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสเดงกีได้ เพียงแค่นี้ตัวเราและคนที่เรารักก็จะห่างไกลจากโรคร้ายอย่างไข้เลือดออกไปได้ท่ามกลางวิกฤติอุทกภัยครั้งนี้.




จาก .................... เดลินิวส์ หน้าวาไรตี้ วันที่ 4 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม