ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 06-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง (An Inconvenient Truth) เกี่ยวกับการนำเข้าเศษขยะพลาสติกจากต่างประเทศมากำจัดในประเทศไทย .............. โดย ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์


ภาพจาก pixabay.com

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมาปริมาณการส่งออกขยะพลาสติกจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อไปกำจัดที่ประเทศจีน ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในแต่ละปี ญี่ปุ่น ผลิตขยะพลาสติกจำนวนมากถึง 9 ล้านตันโดย 1.5 ล้านตันได้ถูกส่งไปกำจัดที่ประเทศจีนประมาณ 60-70% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีน ได้นำเข้าขยะพลาสติกจำนวนมากเพื่อนำมา รีไซเคิล บางส่วนก็นำมากำจัดโดยการเผาซึ่งกระบวนการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) สารประกอบไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าก๊าซเหล่านี้เป็นพิษ หลายตัวเป็นก๊าซเรือนกระจกส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบางตัวก็มีกลิ่นแรงสร้างความรำคาญให้กับชุมชนที่อยู่รอบข้าง ด้วยเหตุที่ว่าการกำจัดขยะพลาสติกเหล่านี้ก่อให้เกิดผลค้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามมา จึงมีความพยายามนำขยะพลาสติกบางส่วนมา ผลิตน้ำมันผ่านกระบวนการ ไพโรไลซิส (Pyrolysis) หรือการย่อยสลายเศษพลาสติกด้วยความร้อนที่ปราศจากออกซิเจน เมื่อไร้ซึ่งออกซิเจนก็ไร้ซึ่งก๊าซพิษต่างๆที่ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น น้ำมันจากกระบวนการไพโรไลซิส เช่นการนำเศษยางรถยนต์มาใช้เป็นวัตถุดิบ ได้ตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานได้ดีโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงกว่าปกติ แต่แล้วอยู่ดีๆจีนก็ประกาศการหยุดนำเข้าขยะพลาสติกอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ร้อนถึงประเทศที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ในการส่งออกขยะพลาสติกมากำจัดอย่างญี่ปุ่น ที่ต้องเร่งหาประเทศใหม่ที่จะรับกำจัดขยะพลาสติกให้แทนซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่แถบ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ ที่อาสามารับทำหน้าที่แทน จีน และตามที่ทราบกันดีจากรายงานของสื่อมวลชนในประเทศ ไทยกลายเป็นประเทศที่นำเข้าขยะพลาสติกมากำจัดแทนจีนด้วยเช่นเดียวกัน โดยรายงานล่าสุดพบว่า ไทยนำเข้าขยะพลาสติก พุ่งสูงถึง 7,000% โดยมีสาเหตุหลักคือจีนแบนการนำเข้าขยะพลาสติกจากญี่ปุ่นมากที่สุด

คำถามคือทำไมอยู่ดี ๆ จีน ถึงประกาศการหยุดนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ?

เพื่อค้นหาคำตอบ ต้องลองย้อนไปดูท่าทีอันขึงขังของผู้นำสูงสุดของ จีน อย่างท่าน สี จิ้นผิง ที่แสดงออกอย่างชัดเจนในการกล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับปีใหม่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งที่ระบุอย่างแน่วแน่เรื่องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะมลพิษที่ตกค้างอยู่ในดิน น้ำ และ อากาศ เมื่อลองได้อ่านคำกล่าวสุนทรพจน์ของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปสักพักก็อดไม่ได้ที่จะอิจฉาในความโชคดีของชาวจีน ที่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมองเห็นถึงภัยร้ายของปัญหาสิ่งแวดล้อมและมีความจริงจังและจริงใจในการคิดแก้ไขปัญหามลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับท่านผู้อ่านที่เป็นนักวิชาการหรือได้จับงานวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและติดตามผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอย่างใกล้ชิด คงทราบดีว่าสัดส่วนของผลงานตีพิมพ์จากนักวิชาการจีนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เมื่อเทียบกับตอนที่ผมไปเรียนปริญญาเอกที่อังกฤษเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เรียกได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดของวงการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจีนก็ว่าได้ แน่นอนที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลจีนคงเล็งเห็นถึงภัยร้ายอะไรบางอย่างจากกระบวนการกำจัดขยะพลาสติก เมื่อบวกลบคูณหาร แล้วจึงได้ข้อสรุปออกมาว่า "ได้ไม่คุ้มเสีย" กับการนำเข้าขยะพลาสติกมากำจัดในประเทศ เหตุผลหลักก็เพราะ

1.กระบวนการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ของขยะพลาสติก ก่อให้เกิดสารพิษที่เรียกว่าสารอินทรีย์ย่อยสลายยาก (Persistent Organic Pollutants) หรือที่เรียกกันติดปากในหมู่นักวิชาการสิ่งแวดล้อมว่าสาร POPs ซึ่งกลุ่มสารพิษเหล่านี้ทางอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ได้กำหนดสาร POPs เบื้องต้น จำนวน 12 ชนิดคือ aldrin, chlordane, DDT, dieldrin, endrin, heptachlor, hexachlorobenzene, mirex, toxaphene, PCBs, dioxins และ furans โดยประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 และได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2548

2.สาร POPs เหล่านี้มีฤทธิ์ในการก่อให้เกิดโรคมะเร็งและหลายตัวเป็นสาเหตุของการกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสารไดออกซินซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายเวลามีการเผาเศษพลาสติก จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าไดออกซินส่งผลต่อความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง เกิดอาการอาเจียน เป็นพิษต่อตับ น้ำหนักตัวลด ภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ รวมทั้งความผิดปกติของร่างกาย ไดออกซิน สามารถปนเปื้อนอยู่ในฝุ่นละอองขนาดต่างๆไม่ว่าจะเป็น PM10 (ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน) PM2.5 (ฝุนละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน) หรือฝุ่นที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร นอกจากนี้ ไดออกซิน สามารถกระจายตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศในสภาพก๊าซได้อีกด้วย

3.แล้วสาร POPs เช่น ไดออกซิน ซึ่งมีพิษร้ายแรงสูงเหล่านี้ ไม่สามารถกำจัดได้เหรอ? คำตอบคือในเชิงวิชาการตอนนี้มีเทคโนโลยีที่สามารถจัดการได้แล้วครับ แต่ต้นทุนในการจัดการค่อนข้างสูง คำถามคือมันมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการลงทุนหรือไม่หากต้องจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพของประชาชนภายในประเทศ?

ประเทศใดที่มีต้นทุนชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมสูง รัฐบาลของประเทศนั้นคงเลือกที่จะออกกฎบังคับให้เอกชนต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการไม่ให้สารพิษเหล่านี้ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมโดยเด็ดขาด ซึ่งการออกกฎข้อบังคับทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดรวมทั้งบทลงโทษที่รุนแรงย่อมไม่ส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนภายในประเทศแน่นอน ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือส่งต่อ "เผือกร้อน" เหล่านี้ไปยังประเทศที่ด้อยพัฒนาซึ่งกฎหมายสิ่งแวดล้อมยังไม่เข้มข้นเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่สำคัญภาคประชาสังคมยังไม่ตื่นรู้ถึงภัยร้ายที่บั่นทอนสุขภาพของตนเองลงไปทุกวันอย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้ตัว ปรากฏการณ์นี้คล้ายคลึงกับการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่งออกรถยนต์มือสองซึ่งมีประสิทธิภาพในการสันดาปเชื้อเพลิงต่ำและมีอัตราการปล่อยมลพิษสูง พูดง่ายๆคือส่งออกรถยนต์สภาพแย่ปล่อยควันดำราคาถูกไปยังประเทศด้อยพัฒนาที่ไร้กฎหมายอากาศสะอาดมาควบคุมมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เท่ากับว่าเป็นการยิงนกทีเดียวได้สองตัวคือ 1. ขายของได้เงินมาและ 2. กำจัดตัวการปล่อยมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อมออกไปจากประเทศตัวเอง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมประเทศที่พัฒนาแล้วจะเก็บเอาส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การวิจัยและพัฒนาหรือ R&D ซึ่งแทบไม่ปล่อยมลพิษไว้ในประเทศตัวเอง แล้วผลักเอาพวกอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ปล่อยมลพิษเยอะไปยังประเทศที่มีกฎข้อบังคับหรือมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมที่หย่อนยาน

ผมคิดว่าได้เวลาที่ภาคประชาสังคมควรตื่นรู้ถึง "ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ไทยกลายเป็นสถานีปลายทางในการรับเอาขยะพลาสติกจากนานาอารยะประเทศมากำจัด แล้วร่วมกันออกแบบภาพอนาคตว่าอยากให้ไทยเป็นแค่ประเทศที่มุ่งเน้นแต่การกระตุ้นตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพียงอย่างเดียว หรือสามารถรักษาสมดุลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คู่ขนานไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมกัน? ลองถามใจตัวท่านเองดูครับ


https://mgronline.com/daily/detail/9630000000938

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม