ดูแบบคำตอบเดียว
  #10  
เก่า 06-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


10 ประเด็นเด่นสิ่งแวดล้อมไทยในรอบปี 2562 (ตอนที่ 1: น้ำโขงวิกฤต) ................... โดย ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ


ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ กำลังเดินสำรวจป่าไคร้ที่แห้งตายเพราะความผันผวนรุนแรงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง //ขอบคุณภาพจาก: Chainarong Setthachua

กลางเดือนกรกฎาคม แม้จะเข้าสู่กลางฤดูฝน แต่ภาพของแม่น้ำโขงที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อแขนงต่างๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดียได้สร้างความตกตะลึงให้กับสังคม เพราะน้ำโขงแห้งราวกับเดือนเมษายน ปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ตายเป็นจำนวนมาก ชุมชนเมืองหลายแห่งต้องขาดน้ำดิบสำหรับทำน้ำประปา วิกฤตครั้งนี้ภาพและเรื่องราวแม่น้ำโขงวิกฤตยังถูกนำเสนอโดยสื่อต่างประเทศทั่วโลก ขณะที่เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนไทยสัญชาติลาวประกาศกักเก็บน้ำและทดลองเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า

กลางเดือนตุลาคม ภาพแม่น้ำโขงวิบัติรอบที่สองถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อีกครั้ง คราวนี้นอกจากเห็นน้ำโขงแห้ง สัตว์น้ำตายเกลื่อนแล้ว ยังเห็นภาพต้นไคร้ที่ถือว่าเป็นแมวเก้าชีวิตยืนต้นแห้งตาย ทั้งที่ปกติแล้วช่วงนี้น้ำโขงจะท่วมต้นไคร้และเต็มฝั่งโขง

น้ำโขงที่แห้งขอดทำให้ชาวบ้านสองฝั่งโขงบางหมู่บ้านไม่สามารถซ้อมเรือยาวเพื่อร่วมงานบุญส่วงเฮือได้ ขณะที่น้ำในแม่น้ำโขงเริ่มใสราวกระจกและสะท้อนท้องฟ้าเป็นสีคราม

ตลอดเวลาในช่วงนี้ มีรายงานจากหลายพื้นที่ทั้งจากกัมพูชา ลาวใต้ มาจนถึงชายแดนไทย-ลาว ว่าปลาหลายชนิดอพยพผิดฤดูกาล ขณะที่นักวิชาการประมงเตือนว่าปลาถูกกระตุ้นให้อพยพผิดฤดูกาลจากการกระตุ้นของมนุษย์ (การสร้างเขื่อน) เพื่ออพยพขึ้นไปวางไข่ในแม่น้ำโขงตอนบนทั้งที่ไข่ในท้องของปลายังไม่พร้อมผสมพันธุ์ และปรากฏการณ์นี้จะทำให้ปลาหลายชนิดในแม่น้ำโขงสูญพันธุ์ในที่สุด

นอกจากนั้น ยังเกิดปรากฎการณ์น้ำสาขาไหลลงแม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว ชุมชนหลายแห่งที่ตั้งริมน้ำสาขาของแม่น้ำโขงในลาวขาดแคลนน้ำสำหรับทำประปา ขณะที่แถบจังหวัดนครพนม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องนำรถไปขุดบ่อกลางแม่น้ำโขง

29 ตุลาคม เขื่อนไซยะบุรีเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งระบบและส่งไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขณะที่ชุมชนสองฝั่งโขงในไทยได้รวมตัวกันเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์เขื่อนอย่างรุนแรง

ท่ามกลางวิกฤตแม่น้ำโขง ช.การช่างเจ้าของหุ้นใหญ่เขื่อนไซยะบุรีลงทุนซื้อโฆษณาสื่อใหญ่ในประเทศเพื่อบอกว่าเขื่อนไซยะบุรีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการเชิญสื่อมวลชนไปชมเขื่อนไซยะบุรี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาของไทยได้ไปเยือนเขื่อนไซยะบุรีเป็นการส่วนตัว

กลางเดือนพฤศจิกายน ภาพวิกฤติแม่น้ำโขงถูกนำเสนอผ่านสื่ออีกรอบ คราวนี้เป็นข่าวเกี่ยวกับแม่น้ำโขงเปลี่ยนสีเป็นสีครามเข้ม นักท่องเที่ยวจำนวนมากตื่นตาตื่นใจอยากชมแม่น้ำโขงเปลี่ยนสี ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านระบุว่า การที่น้ำโขงใสทำให้จับปลาไม่ได้เลย

การที่แม่น้ำโขงเปลี่ยนสี ต่อมาก็ได้รับการอธิบายว่าแท้จริงแล้วน้ำโขงใสแจ๋วราวกระจก และสะท้อนสีของท้องฟ้าที่เข้มเป็นสีคราม ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า "ภาวะไร้ตะกอน" หรือ "hungry water" และจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง รวมถึงการสร้างปัญหาตลิ่งพังทลาย

นักวิชาการได้เตือนว่าวิกฤตแม่น้ำโขงวิกฤตรอบนี้คือภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และกระทบต่อผู้คนกว่า 70 ล้านคนในอนุภูมิภาคนี้

แม้น้ำโขงวิกฤตหนักจากเขื่อนไซยะบุรี แต่นักสร้างเขื่อนที่เป็นนักลงทุนไทยและเวียดนามก็ร่วมมือกันผลักดันโครงการเขื่อนหลวงพระบางที่จะสร้างเหนือเขื่อนไซยะบุรีขึ้นไป

ขณะที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือ MRC กลับอธิบายว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เป็นปรากฏการณ์เอลนินโญ

ในประเทศไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกล่าวถึงแต่เขื่อนจีน แต่ไม่เคยกล่าวถึงผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี ไม่มีการแจ้งระดับน้ำรายวันและคาดการณ์ล่วงหน้าเหมือนในกัมพูชา ที่สำคัญกลับผลักดันโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ขณะที่บรรดานักการเมืองของไทยก็ผลักดันการผันน้ำโขงทั้งผันลงอีสานและเขื่อนป่าสัก

วิกฤตแม่น้ำโขงจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และจะเป็นสนามรบด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในปี 2563 นี้ด้วย


https://greennews.agency/?p=19975

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม