ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 22-08-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ขอเลิกอาชีพประมง 22 จังหวัดทั่วประเทศ จี้ "ประยุทธ์" แก้ไข พ.ร.ก.-พบ รมว.เกษตรฯ 28 ส.ค.นี้

สู่จุดจบไอ้หนุ่มตังเก สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ประกาศ "ขอยกเลิกอาชีพประมง" ชี้ 6 ปีรัฐบาลประยุทธ์ ออกกฎหมายเอาใจต่างชาติ ไม่เสมอภาค เสมือนทำลายล้างอาชีพ ตั้งธงกำจัดเรือประมง แถมตั้งคณะกรรมการทับซ้อน ทำงานล่าช้า เตรียมเคลื่อนไหวแก้ พ.ร.ก.ประมง นัดพบ รมว.เกษตร 28 ส.ค.นี้ ให้เวลา 7 วัน หากไม่ตอบสนองเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ จอดเรือประมง



วันนี้ (22 ส.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เรื่อง การเลิกอาชีพประมง ลงวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า มติที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ชาวประมง 22 จังหวัด ประกาศ "ขอยกเลิกอาชีพประมง" ตลอดระยะเวลามากกว่า 6 ปีที่ผ่านมา (1 พ.ค. 2558) รัฐบาลได้กำหนดนโยบายพุ่งเป้าไปสู่ภาคประมงเพื่อการแก้ไขปัญหา IUU (การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม) พร้อมทั้งได้นำประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์มาทับซ้อนในการแก้ไข ซึ่งนำไปสู่การออกพระราชกำหนดการประมง รวมทั้งการออกกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ในหลายหน่วยงาน มาบังคับใช้กับชาวประมงเป็นจำนวนมาก โดยไม่สนใจเรื่องความอยู่รอดของชาวประมง การออกกฎหมายโดยขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย การเร่งบังคับใช้กฎหมายแบบไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น จนชาวประมงในหลายๆ ภาคส่วนเริ่มอยู่ต่อไม่ได้ แม้จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ จนในที่สุดประเทศไทยก็ได้รับใบเขียวจากอียู (สหภาพยุโรป) แล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันชาวประมงไปต่อไม่ไหวแล้ว เพราะยังมีการออกกฎ ระเบียบ บังคับใช้มาโดยตลอด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อใดก็ตามที่ต่างชาติไม่ว่าจะเป็นอียู หรือสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็น ติเตียน หรือทักท้วงมา ทางรัฐบาลก็จะตื่นตัวและกลับมาสร้างกฎ เงื่อนไขต่างๆ นานา เพื่อตอบสนองความต้องการของต่างชาติเสมอ จากปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหา IUU วนกลับมาเรื่องการค้ามนุษย์ เปลี่ยนเป้าหมายไปเป็นเรื่องทรัพยากร ไม่จบสิ้น มีการยกร่างกฎหมายใหม่ๆ ขึ้นมา โดยไม่มีผู้แทนชาวประมงเข้ารับฟังความคิดเห็นหรือให้ข้อมูล จึงก่อให้เกิดอุปสรรคในการประกอบอาชีพ จนชาวประมงส่วนใหญ่รู้สึกท้อใจและมองว่ารัฐบาลจ้องที่จะทำลายล้างอาชีพประมงโดยแท้จริง โดยตั้งธงที่จะกำจัดเรือประมง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมการประกอบอาชีพของชาวประมงเลย แม้แต่โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องฯ ชาวประมงก็ยังไม่ได้เงินมาเลย ทั้งที่โครงการฯ ได้อนุมัติมาหลายเดือนแล้ว มีการตั้งคณะทำงานใหม่ๆ ขึ้นมาทับซ้อน อำนาจของอธิบดีกรมประมงลดลงในการแก้ไขปัญหาประมงทะเล เพราะถูกยกอำนาจไปอยู่ภายใต้คณะกรรมการหนึ่ง ซึ่งสร้างความล่าช้า เพิ่มขั้นตอนและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา



ดังนั้น ชาวประมงจำเป็นต้องเลิกอาชีพ หากรัฐบาลยังคงปฏิบัติต่อชาวประมงดังเช่นทุกวันนี้ ไม่ให้ชาวประมงได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นหรือไม่ยอมรับความคิดเห็นของชาวประมง ยังคงมีอคติต่ออาชีพประมง โดยไม่หยุดที่จะออกกฎ ระเบียบมาบังคับใช้อย่างไม่มีความเสมอภาค และรัฐบาลต้องชดใช้ เยียวยา ด้วยการรับซื้อเรือประมงไปพร้อมทั้งเครื่องมือทำประมงในราคา 100% เพราะมาตรการ นโยบายของรัฐได้ทำลายอาชีพของชาวประมงทั้งประเทศโดยไม่ได้รับการเหลียวแล แต่หากรัฐบาลยังมองเห็นถึงความสำคัญของอาชีพประมง ซึ่งเป็นเกษตรกรสาขาหนึ่งที่สร้างรายได้เลี้ยงคนในประเทศ สามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจ เกิดการสร้างงานให้กับประเทศได้ รัฐบาลก็ต้องแก้ไขพระราชกำหนดการประมง ผ่อนคลายกฎ ระเบียบที่ไม่เป็นธรรมโดยเร็ว

รายงานเพิ่มเติมระบุว่า การประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2563 ของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่โรงแรมใบหยก สกาย (ประตูน้ำ) กรุงเทพฯ สาระสำคัญก็คือ นอกจากแถลงการณ์เรื่อง การเลิกอาชีพประมงแล้ว ยังมีข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ 1. ขอให้ปรับแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง เป็น พระราชบัญญัติการประมง และนำเข้าสู่สภาโดยเร็ว โดยการมีส่วนร่วมของชาวประมงทุกภาคส่วน 2. ขอให้มีการตั้งคณะทำงานโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไม่ใช่คณะทำงานชุดปัจจุบันภายใต้คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังจะเข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ตามที่นายกรัฐมนตรีมีบัญชาสั่งการให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พบกับคณะกรรมการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ตามที่ได้รับนัดหมาย เพื่อยื่นหนังสือและข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี ผ่าน รมว.เกษตรและสหกรณ์ หากภายใน 7 วัน หลังจากเข้าพบ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยังไม่มีการตอบรับหรือดำเนินการใดๆ จะมีการเคลื่อนไหวขั้นต่อไป ด้วยการเดินเท้ามุ่งเข้ากรุงเทพฯ ทันที ก่อนนำไปสู่การจอดเรือประมงในที่สุด



พร้อมกันนี้ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้ตั้งคณะทำงาน จำนวน 11 คน เพื่อเป็นผู้กำหนดมาตรการขับเคลื่อน วางแผน และเจรจากับรัฐบาลภายใต้กรอบที่ประชุมวางไว้ โดยประกอบด้วย นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย, นายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์, นายบุญชู แพใหญ่, นายพรศักดิ์ แย้มกลิ่น, นายสุรเดช นิลอุบล, นายสมทรัพย์ จิตตะธัม, นายธนกร ถาวรชินโชติ, นายพิชัย แซ่ซิ้ม, นายชินชัย สถิรยากร, นางอันน์เกตุ ลีลาไพบูลย์ และนายคเชนทร์ สุขเกษม และให้เข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ตามที่ได้รับนัดหมาย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านแรงงานที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุอีกว่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย มีกำหนดการเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในวันศุกร์ที่ 28 ส.ค. 2563


https://mgronline.com/onlinesection/.../9630000086052

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม