ดูแบบคำตอบเดียว
  #45  
เก่า 23-01-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default


ผลการศึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลฯ ย้ำกิจกรรมมนุษย์เพิ่มวิกฤติปะการังฟอกขาว


เหตุการณ์ปะการังฟอกขาวที่รุนแรงสุดในปีที่ผ่านมาทั้งพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและ อันดามัน แต่อ่าวไทยได้รับผลกระทบรุนแรงสุดเป็นวงกว้างเกินร้อยละ 80 ของพื้นที่ เพื่อเป็นการศึกษาเรียนรู้จากปรากฏการณ์ในครั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงมีประกาศงดกิจกรรมดำน้ำในเขตที่เกิดปรากฎการณ์ เพื่อให้ปะการังได้ฟื้นตัวทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่
1. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง บริเวณ เกาะเชือก
2. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จังหวัดสตูล บริเวณ เกาะบุโหลนไม้ไผ่
3. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล บริเวณ เกาะตะเกียง เกาะหินงาม เกาะราวี (หาดทรายขาว) เกาะดง
4. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร บริเวณ เกาะมะพร้าว
5. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะ-พีพี บริเวณแนวปะการังบริเวณหินกลาง
6. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา บริเวณอ่าวแม่ยาย อ่าวมังกร อ่าวจาก อ่าวเต่า เกาะตอรินลา
7. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา บริเวณอ่าวไฟแว๊ป และอีส ออฟ อีเด็น

สุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การงดกิจกรรมทางทะเลในครั้งนี้เกิดจากการที่มีข้อเสนอจากกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ให้มีการปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามันทั้งหมดนั้น คงมีผลกระทบกับหลายฝ่ายอย่างแน่นอน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พิจารณาในทุกๆด้าน ทั้งด้านกายภาพของพื้นที่เศรษฐกิจและสังคม และได้เชิญนักวิชาการที่เกี่ยวข้องจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่งมาหารือในการแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาวนี้ ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า เพื่อเป็นการศึกษาเรียนรู้จากปรากฏการณ์ในครั้งนี้ อุทยานแห่งชาติทางทะเลจะงดกิจกรรมดำน้ำในเขตดังกล่าว

นอกจากนี้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยังคงใช้มาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอุทยานแห่งชาติ เพิ่มความเข้มข้นในการออกตรวจปราบปรามการลักลอบทำการประมงในเขตอุทยานแห่งชาติ ติดตามการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จัดให้มีการให้ข้อมูลข่าวสารแก่เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ และชุมชนชาวมอแกน เพื่อรับทราบถึงสถานการณ์และเป็นการสร้างความร่วมมือในการลดผลกระทบ เตรียมมาตรการเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ในการรองรับนักท่องเที่ยว

จากการศึกษาของกลุ่มชีววิทยาและนิเวศวิทยาทางทะลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต ระบุว่าในปี 2553 เป็นปีที่แนวปะการังเสียหายมากสุดเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิน้ำทะเลจากปกติ 29 องศาเซลเซียสได้เริ่มสูงขึ้น 30 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2553 สามสัปดาห์ต่อมาปะการังได้เริ่มฟอกขาวแผ่พื้นที่เป็นวงกว้างคลุมทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน การฟอกขาวของปะการังในครั้งนี้เริ่มเกิดในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายน (อุณหภูมิที่อาจถือว่ากระตุ้นให้เกิดการฟอกขาวคือที่ 30.1 องศาเซลเซียส หากปะการังอยู่ในสภาพที่อุณหภูมิสูงกว่า 30.1 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานต่อเนื่องเกิน 3 สัปดาห์ จะทำให้เกิดปะการังฟอกขาวเกิดขึ้น)

ตั้งแต่เริ่มมีการฟอกขาว สถาบันได้สำรวจสภาพการฟอกขาวของปะการัง รวมทั้งรวบรวมข้อมูลจากนักดำน้ำที่แจ้งการฟอกขาวที่เกิดขึ้นในบริเวณต่างๆ พบว่าแนวปะการังในทุกจังหวัดทางฝั่งทะเลอันดามันเกิดการฟอกขาวมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของปะการังที่มีอยู่ และพบว่าหลังจาก 1 เดือน ปะการังที่ฟอกขาวเริ่มมีการตาย 5-40 เปอร์เซ็นต์ (ขึ้นกับสถานที่) สำหรับอ่าวไทยพบการฟอกขาวรุนแรงเช่นเดียวกับทางฝั่งอันดามันในบริเวณกลุ่มเกาะตอนบนของจังหวัดชลบุรี (เกาะสีชัง เกาะนก เกาะสาก เกาะจุ่น) พบการฟอกขาวช้ากว่าจุดอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม จากการเก็บข้อมูลพบว่าบริเวณที่มีการฟอกขาวช้าสุด บริเวณสิ่งแวดล้อมดี มีปะการังหลากหลายทั้งในแง่ชนิดและจำนวนโคโลนี พื้นที่ลักษณะเช่นนี้มักพบปะการังฟอกขาวไม่เต็มที่ คือฟอกขาวเพียงบางส่วนของโคโลนี บริเวณที่มีสิ่งแวดล้อมดีในน้ำลึก การฟอกขาวของปะการังมีแนวโน้มเกิดขึ้นน้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริเวณน้ำตื้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับที่ตั้งของแนวปะการังในแต่ละบริเวณด้วย

แนวปะการังที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์มีเปอร์เซ็นต์การฟอกขาวของปะการังมากกว่าบริเวณที่มีสิ่งแวดล้อมดี หรือไม่ได้รับอิทธิพลจากมนุษย์ ทั้งนี้เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ทำให้ปะการังอ่อนแอมาก ส่งผลให้ทนทานต่อการฟอกขาวน้อยลง

แนวปะการังบริเวณฝั่งตะวันตกตามเกาะต่างๆทางฝั่งทะเลอันดามัน มีแนวโน้มการเกิดฟอกขาวน้อยกว่าด้านอื่นของเกาะ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการเคลื่อนที่ของมวลน้ำจากทะเลลึกที่เข้ามาช่วยบรรเทาผลของอุณหภูมิน้ำทะเล นอกจากนี้ยังพบว่า ปะการังลายดอกไม้ (Pavona decussata) ปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora ) เป็นชนิดที่มีแนวโน้มต้านทานต่อการฟอกขาวได้ดี ความหลากหลายของชนิดปะการังเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการฟื้นตัวของแนวปะการัง

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลยืนยันว่า ปะการังที่ฟอกขาวสามารถฟื้นตัวได้หากสภาพแวดล้อมกลับมาเป็นปกติในระยะเวลาไม่นานนัก ปะการังฟอกขาวสามารถทนสภาพที่อ่อนแอได้ประมาณ 1 เดือนครึ่ง ดังนั้นหากอุณหภูมิน้ำลดลงปะการังที่ฟอกขาวอยู่นั้นสามารถดึงสาหร่ายซุแซนเทลลี่กลับมาสู่เนื้อเยื่อ ทำให้ปะการังกลับมามีสีดังเดิมได้ กระบวนการนี้ใช้เวลา 2 เดือนเมื่ออุณหภูมิสู่สภาพปกติ กรณีปะการังฟอกขาวได้ตายไป มีพื้นที่ตัวอ่อนปะการังเข้ามาเกาะในพื้นที่ หรือปะการังบางชนิดที่ยังเหลืออยู่ค่อยๆเจริญเติบโตครอบคลุมแนวปะการัง กระบวนการนี้ใช้เวลา 3-4 ปี ขึ้นอยู่กับน้ำสะอาด ปราศจากการรบกวนของมนุษย์และมีพื้นที่สำหรับตัวอ่อนปะการังลงยึดเกาะเพื่อเจริญเติบโต

ในทางตรงข้ามหากพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเสียและมีการรบกวนทั้งการดำน้ำและการประมง การฟื้นตัวของปะการังจะช้ามาก หรือไม่สามารถเกิดขึ้นเลย.




จาก ..................... เดลินิวส์ วันที่ 23 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม