ดูแบบคำตอบเดียว
  #10  
เก่า 28-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default


สมุนไพร...ดูแลสุขภาพช่วงน้ำท่วม



การใช้สมุนไพรในช่วงน้ำหลาก ถ้ารู้จักเลือกใช้ ย่อมมีประโยชน์อยู่มากโข

คนโบราณในสมัยก่อนที่มีบ้านอยู่ริมน้ำจะปลูกบ้านยกใต้ถุนสูง ช่วงฤดูน้ำหลากจะตระเตรียมเสบียงข้าวสาร อาหารแห้ง หยูกยาสมุนไพร ไว้ให้เพียงพอในการดำรงชีวิตสำหรับสมาชิกในครอบครัว แต่ในปัจจุบันเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน วิถีชีวิตก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทำให้ภูมิปัญญาในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อม และการดูแลสุขภาพวิถีไทยถูกลืมเลือนไป ทั้งที่เป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการเอาชีวิตรอดตามสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศ ดังจะเห็นได้จากการใช้สมุนไพรพื้นถิ่นที่แตกต่างกันทั้งแบบยากิน และยาทา แต่สรรพคุณเหมือนหรือคล้ายกันในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆของชาวบ้าน

แล้วในช่วงน้ำท่วม เราจะใช้สมุนไพรอย่างไร ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระอภัยภูเบศร แนะว่า หากช่วงนี้เป็นหวัด ครั่นเนื้อครั่นตัว ไอ จาม น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเล็กน้อย เบื่ออาหาร หรือมีไข้ร่วมด้วย ให้ใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ที่มีการใช้มานานนับพันปี มีความปลอดภัยสูง องค์การอนามัยโรคให้การรับรองการใช้เป็นยารักษาหวัดโดยตำรับยาไทย มีขนาดและวิธีการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อการรักษา 4 วิธี คือ

- ยาชง ใช้ใบ 5-7ใบ จะเป็นใบสดหรือแห้งก็ได้ แต่ใบสดจะมีสรรพคุณดีกว่า เติมน้ำเดือดลงไปจนเกือบเต็มแก้ว ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง หรือพอให้ยาอุ่นแล้วรินน้ำกิน ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร หรือใช้เป็นยาต้ม ด้วยการต้มฟ้าทะลายโจรทั้งต้นและใบจำนวน 1 กำมือกับน้ำ 3-4 แก้ว ให้เดือดนาน 10-15 นาที ถ้าต้มให้เดือดไม่นานพอ ยาจะมีกลิ่นเหม็นเขียว กินยาก ควรกินยาในขณะที่น้ำยาอุ่น กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร สามารถกลบรสขมได้ด้วยการกินของรสเปรี้ยวเค็มตาม

- นอกจากนี้ฟ้าทะลายโจร ยังนำมาทำเป็น ยาเม็ด ได้ด้วยการเด็ดใบสดมาล้างให้สะอาด ตากแดด 1-2 วัน จนใบแห้งกรอบสีเขียวเข้ม บดเป็นผงให้ละเอียด ปั้นกับน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมเป็นเม็ดขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลือง แล้วผึ่งลมให้แห้ง เพราะถ้าปั้นกินขณะที่ยังเปียกอยู่จะขมมาก กินครั้งละ 5-10 เม็ด วันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร และปัจจุบันยังนิยมทำเป็นยาแคปซูล แทนที่จะเอาผงยาที่ได้มาปั้นเป็นเม็ด ก็เอามาใส่แคปซูลเพื่อช่วยกันรสขมของยาแคปซูลที่ใช้ ให้ใช้ขนาดเบอร์ ๐ หรือประมาณ 400-500 มิลลิกรัมของผงแห้ง กินครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร

การใช้ฟ้าทะลายโจรที่ให้ผลดีและออกฤทธิ์ได้เร็วที่สุดในการแก้ไข้หวัดคือ ถ้าเริ่มรู้สึกว่าครั่นเนื้อครั่นตัวทำท่าว่าจะเป็นไข้ ให้รีบรับประทานทันที แต่ถ้าเป็นมา 2-3วันแล้วค่อยมากินยาจะรู้สึกไม่ค่อยได้ผลหรือได้ผลน้อย

ฟ้าทะลายโจร นอกจากจะมีสรรพคุณในการลดไข้แก้หวัดแล้ว ยังเป็นสมุนไพรที่มีการศึกษาว่า สามารถรักษาอาการท้องเสียโดยไม่ทำให้หยุดถ่าย เมื่อเริ่มมีอาการให้รีบผสมผงเกลือแร่ดื่มทันที ไม่ควรรับประทานยาแก้ท้องเสียหรือยาปฏิชีวนะ ให้ใช้ฟ้าทะลายโจรขนาด 2 กรัมต่อวันแบ่งให้ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 วัน ฟ้าทะลายโจรจะทำให้การขับถ่ายเป็นปกติและมีประสิทธิภาพในการรักษาดีกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้น ในรายที่ติดเชื้ออหิวาตกโรค ควรนำส่งโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลโดยด่วน



สมุนไพรไทยต้านหวัดนอกจากฟ้าทะลายโจรแล้ว ยังมี ขิง ใช้แก้หวัดได้ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน The American Journal of Chinese Medicine เมื่อปี 2006 พบว่า น้ำขิงที่ได้จากการต้ม 30 นาที ช่วยกระตุ้นการทำงานของ macrophage ที่มีหน้าที่ในการจับกินเชื้อไวรัส H3N2 ที่เข้าไปในร่างกาย ตามตำรายาพื้นบ้านไทย เราสามารถทำน้ำขิงพิชิตหวัดและแก้ไอ ได้ไม่ยากนัก ด้วยการใช้ขิงแก่สดล้างสะอาดทุบให้พอบุบๆ โดยไม่ต้องขูดเปลือกทิ้ง ประมาณ 1 ถ้วย น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะและน้ำสะอาด 3 ลิตร ต้มให้เดือดแล้วลดไฟลง เคี่ยวด้วยไฟอ่อนไปเรื่อยๆ จนน้ำขิงกลายเป็นสีเหลือง เติมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งตามใจชอบ เพียงเท่านี้เราก็จะได้เครื่องดื่มที่มีสรรพคุณต้านหวัดได้

สมุนไพรไทยสารพัดประโยชน์อีกตัว คือ กระเทียม มีการศึกษาพบว่าการรับประทานกระเทียมสดสามารถป้องกันหวัดและลดระยะเวลาการเป็นหวัด และยังมีรายงานการวิจัยของญี่ปุ่นว่า กระเทียมในรูปของ Aged Garlic Extract (AGE - การแช่กระเทียมที่หั่นหรือสับใน 15-20% แอลกอฮอล์ แล้วทิ้งไว้นานมากกว่า 10 เดือนที่อุณหภูมิห้องก่อนนำมาทำให้เข้มข้น) มีฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จากการทดลองในหนูถีบจักร พบว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันหวัดได้ดีเท่าการให้วัคซีนกระเทียมดอง ในฤดูกาลที่มีการระบาดของหวัดควรรับประทานกระเทียมในรูปแบบต่างๆ เป็นประจำ นอกจากนี้กระเทียม ยังทำให้การหายใจโล่งขึ้นอีกด้วย

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ยังแนะนำวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคหวัดอย่างง่ายๆ ด้วยการทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ใช้ผ้าปิดปากเวลาไอจาม ล้างมือให้สะอาด ใช้ช้อนกลาง รวมทั้งพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดร้อน สมุนไพรที่มีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย อย่าง ตระไคร้ กระเพรา บัวบก พลูคาว หอมแดง หอมใหญ่ ผักชีฝรั่ง ใบหม่อน และใบฝรั่ง ที่อุดมด้วยสาร Queritin รวมทั้งผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงๆ อย่างมะขามป้อม มะนาว ส้ม ผลยอ หรือ ผลไม้ที่มีสีแดง เป็นสมุนไพรที่ควรจะนำมารับประทานเป็นประจำในช่วงนี้ และดื่มน้ำอุ่นมากๆ นอกจากนี้การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการได้รับแสงแดดบ้าง จะช่วยเพิ่มวิตามินดี ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน และภูมิคุ้มกันดีขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการใช้สมุนไพรทาภายนอก หากถูกแมลงสัตว์กัดต่อย มีอาการปวดบวมแดงร้อนบริเวณถูกกัดต่อย ควรรีบทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดต่อย และใช้ความเป็นกรดไปทำลายพิษของสัตว์ที่มีพิษ เช่น น้ำมะนาว น้ำส้ม มะขามเปียก เนื่องจากพิษของสัตว์มีพิษทุกชนิดเป็นสารพวกโปรตีน จึงถูกทำลายได้ด้วยสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ดังนั้นหลังจากถูกกัดใหม่ๆ ต้องใช้สำลีหรือผ้าก๊อซชุบน้ำสมุนไพรที่กล่าวมาแล้วนั้นไปโปะไว้ หรือ นำส่วนที่ถูกกัดจุ่มไว้จนกว่าจะหายปวด ซึ่งในสมัยก่อนนิยมใช้เขาสัตว์ ขนเม่น เปลือกหอย หรืออะไรที่มีแคลเซียมฝนกับน้ำมะนาว ทาบ่อยๆ หรือใช้มะขามเปียกผสมปูนแดงเล็กน้อยทาแปะไว้ ซึ่งหลังถูกกัดต่อยควรรีบทำทันทีก่อนที่พิษจะก่อให้เกิดการอักเสบมากขึ้น หรืออาจใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบตำพอก เช่น ใบเสลดพังพอนทั้งตัวเมียและตัวผู้ ใบตำลึง ใบรางจืด ตำหรือปั่นให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อยพอกไว้ หรือ สามารถใช้ใบรางจืดประมาณ 7-10 ใบต้มน้ำกิน แต่ถ้ามีอาการมากควรใช้การตำหรือปั่นใส่น้ำซาวข้าวกินด้วย เพื่อลดความรุนแรง

"ยุง เป็นสัตว์พาหะอีกชนิดหนึ่งที่มาพร้อมกับน้ำท่วมขัง เราสามารถใช้สมุนไพรจำพวก ตะไคร้หอม ใบกระเพรา ใบเสลดพังพอนตัวผู้หรือตัวเมีย ตำ คั้นน้ำ หรือนำไปตากในที่ร่มแล้วบดเป็นผง นำมาทาตัวเพื่อป้องกันยุงกัดได้ หากยุงกัดเป็นตุ่ม บวม แดง ให้ใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์การอักเสบทาบริเวณที่เป็น ที่นิยมคือ ปูนแดง ซึ่งได้จากปูนขาวผสมกับขมิ้น หรืออาจใช้ผงขมิ้นละลายน้ำ ขมิ้นเป็นสีย้อม อาจทำให้เลอะเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าได้" ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวปิดท้าย

ซึ่งทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ส่งชุดสมุนไพรอภัยภูเบศรเพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ประกอบไปด้วย ยารักษากลากเกลื้อนน้ำกัดเท้า ยาหม่องเสลดพังพอน คาลาไมน์พญายอ ยาการ์ซิดีนสกัดจากมังคุดช่วยสมานแผล ฆ่าเชื้อโรค ยาแคปซูลฟ้าทลายโจร แคปซูลขมิ้นชัน ยาน้ำแก้ไอมะขามป้อม ผงเกลือแร่ เป็นต้น แจกจ่ายไปยังจังหวัดต่างๆ ที่ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมผลิตยาหม่องสมุนไพรสรรพบำบัด ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรป้องกันยุง แจกผู้ประสบภัยน้ำท่วม ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการใช้สมุนไพร สอบถามที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โทร 037-211-288-9 ทุกวันในเวลาราชการ




จาก ..................... กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม