ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 06-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


เรื่องนี้ต้องรู้! วันที่ 5 พ.ย.เป็นวันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก

เดลินิวส์ออนไลน์ ชวนทำความรู้จักวันตระหนักถึงภัยสึนามิโลก ว่าจะมีที่มาที่ไปอย่างไร และสาเหตุเกิดจากอะไร ห้ามพลาดจ้า



คลื่นสึนามิ เป็นกลุ่มคลื่นน้ำที่เกิดขึ้นจากการย้ายที่ของปริมาตรน้ำก้อนใหญ่ คือ มหาสมุทรหรือทะเลสาบขนาดใหญ่ แผ่นดินไหว การปะทุของภูเขาไฟและการระเบิดใต้น้ำอื่น ๆ (รวมทั้งการจุดวัตถุระเบิดหรือวัตถุระเบิดนิวเคลียร์ใต้น้ำ) ดินถล่ม ธารน้ำแข็งไถล อุกกาบาตตกและการรบกวนอื่น ไม่ว่าเหนือหรือใต้น้ำ ล้วนอาจก่อให้เกิดเป็นคลื่นสึนามิได้ทั้งสิ้น

คลื่นสึนามิไม่เหมือนกับคลื่นทะเล (tidal wave) ตามปกติ เพราะมีความยาวคลื่นยาวกว่ามาก แทนที่จะเป็นคลื่นหัวแตก (breaking wave) ตามปกติ คลื่นสึนามิเริ่มแรกอาจดูเหมือนกับว่าคลื่นน้ำเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และด้วยเหตุนี้ คลื่นสึนามิจึงมักเรียกว่าเป็นคลื่นยักษ์ โดยทั่วไป คลื่นสึนามิประกอบด้วยกลุ่มคลื่นซึ่งมีคาบเป็นนาทีหรืออาจมากถึงชั่วโมง มากันเรียกว่าเป็น "คลื่นขบวน" ความสูงของคลื่นหลายสิบเมตรนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์ขนาดใหญ่ แม้ผลกระทบของคลื่นสึนามินั้นจะจำกัดอยู่แค่พื้นที่ชายฝั่ง แต่อำนาจทำลายล้างของมันสามารถมีได้ใหญ่หลวงและสามารถมีผลกระทบต่อทั้งแอ่งมหาสมุทร คลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ค.ศ. 2004 เป็นหนึ่งในภัยธรรมชาติครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 230,000 คน ใน 14 ประเทศที่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย

สำหรับสาเหตุการเกิดสึนามิ คลื่นสึนามิเกิดขึ้นจากการกระทบกระเทือนที่ทำให้น้ำปริมาณมากเกิดการเคลื่อนตัว เช่น แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม หรืออุกกาบาตพุ่งชน เมื่อแผ่นดินใต้ทะเลเกิดการเปลี่ยนรูปร่างอย่างกะทันหัน จะทำให้น้ำทะเลเกิดเคลื่อนตัวเพื่อปรับระดับให้เข้าสู่จุดสมดุลและจะก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ การเปลี่ยนรูปร่างของพื้นทะเลมักเกิดขึ้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวเนื่องจากการขยับตัวของเปลือกโลก ซึ่งจะเกิดบริเวณที่ขอบของเปลือกโลกหลายแผ่นเชื่อมต่อกันที่เรียกว่า รอยเลื่อน (fault) เช่น บริเวณขอบของมหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากแผ่นดินไหวแล้ว ดินถล่มใต้น้ำที่มักเกิดร่วมกับแผ่นดินไหวสามารถทำให้เกิดคลื่นสึนามิได้เช่นกัน

นอกจากการกระทบกระเทือนที่เกิดใต้น้ำแล้ว การที่พื้นดินขนาดใหญ่ถล่มลงทะเล หรือการตกกระทบพื้นน้ำของวัตถุ ก็สามารถทำให้เกิดคลื่นได้ คลื่นสึนามิที่เกิดในรูปแบบนี้จะลดขนาดลงอย่างรวดเร็วและไม่มีผลกระทบต่อชายฝั่งที่อยู่ห่างไกลมากนัก อย่างไรก็ตาม ถ้าแผ่นดินมีขนาดใหญ่มากพอ อาจทำให้เกิด เมกะสึนามิ ซึ่งอาจมีความสูงร่วมร้อยเมตรได้

ส่วนวันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก หรือ World Tsunami Awareness Day โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีที่มาจากเรื่องสั้นของญี่ปุ่นที่โด่งดังเรื่อง อินามูระ โน ฮิ หรือไฟมัดข้าว เล่าวีรกรรมของ ฮามากูจิ ที่จุดไฟเผาข้าวเปลือกที่เพิ่งเก็บเกี่ยวมาเพื่อเป็นดวงไฟสัญญาณเตือนให้ชาวบ้านคนอื่นๆ หนีขึ้นไปอยู่บนที่สูงจนรอดชีวิตจากสึนามิที่ถล่มหมู่บ้านในเวลาต่อมา

สึนามิครั้งที่รุนแรงที่สุดของโลกคือเหตุการณ์ในชิลีเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 1960 ที่เกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวขนาด 9.5 ซึ่งนับเป็นเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุด และส่งผลให้เกิดสึนามิในชิลี ฮาวาย ญี่ปุ่น ซาโมอา และนิวซีแลนด์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,700 คน

ดังนั้น สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันแห่งความตระหนักรู้ว่าด้วยคลื่นยักษ์สึนามิโลกเพื่ออุทิศแก่การเสริมความตระหนักรู้ว่าด้วยอันตรายของคลื่นยักษ์สึนามิ

ข้อมตินี้ยื่นโดยญี่ปุ่นและมีชาติที่ร่วมเสนอข้อมติกว่า 140 ชาติ ซึ่งรวมถึงชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอเมริกาใต้ซึ่งเสี่ยงต่อภัยคลื่นยักษ์สึนามิ

โดยข้อมติชี้ว่าหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาใหม่ของสหประชาชาติคือการลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และเน้นความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือ เช่น การติดตั้งระบบเตือนภัยแต่เนิ่นๆนั่นเอง


https://www.dailynews.co.th/article/805045

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม