ดูแบบคำตอบเดียว
  #57  
เก่า 22-05-2012
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default






วันรุ่งขึ้น...หลังอาหารเช้าแล้ว เราจะไปเที่ยว "ถ้ำติ่ง" ถ้ำดังของลาวเหนือกัน เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน สองสายเคยไปเยือนถ้ำติ่งมาแล้ว โดยนั่งเรือจากท่าวัดเชียงทอง ทวนน้ำขึ้นไปทางเหนือ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งก็ถึง ระหว่างนั้นก็แวะชมหมู่บ้านต้มเหล้าริมฝั่งโขง และดูการร่อนทองในแม่น้ำด้วย ส่วนขากลับ เราล่องตามน้ำใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษก็กลับถึงหลวงพระบาง




แต่ครั้งนี้ เราจะขับรถเป็นกองคาราวาน โดยใช้ถนนลาดยางสาย 13 กันค่ะ ถนนจากหลวงพระบางอยู่ในสภาพที่ดีทีเดียว เมื่อเราวิ่งไปสัก 20 กว่ากิโลเมตร ก็ถึงทางแยกเข้าซ้ายมือ ถนนดีๆก็กลายเป็นถนนลูกรังแคบๆ เป็นหลุมเป็นบ่อ สูงๆต่ำๆ ขบวนคาราวานของเรา ก็กลายเป็นขบวนรถออฟโรด วิ่งกันฝุ่นตลบ ไม่นานก็ถึงริมฝั่งแม่น้ำโขง วิ่งลัดเลาะไปตามตลิ่งอีกไม่นานก็ถึงหมู่บ้านปากอู รวมระยะทางราว 30 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาไปกว่าชั่วโมง





เราต้องจอดรถไว้ที่ลานจอดรถนอกหมู่บ้าน..จากนั้นก็เดินผ่านหมู่บ้านไปที่ร้านอาหารริมโขง ระหว่างทาง มีร้านขายของพื้นเมืองวางล่อตาล่อใจอยู่ อดใจไว้ก่อน เดี๋ยวขากลับค่อยมาซื้อดีกว่า

ร้านอาหารมื้อกลางวันของเรา ตั้งอยู่บนริมฝั่งโขง วิวดี สะอาด และอาหารอร่อยมากๆ





จานที่อร่อยเด็ด และเราอยากรับประทานกันมากคือ สาหร่ายหรือ "ไคแผ่น" โรยงาทอดกรอบ ทานกับน้ำพริกเผาใส่หนังหมูหรือหนังควาย ที่เรียกว่า "แจ่วบอง" ทานเพลินจนต้องขอเพิ่มอีก..



“ไค” เป็นสาหร่ายน้ำจืดในวงศ์ Zygnemataceae รูปร่างเป็นเส้นยาวละเอียดคล้ายเส้นผมสตรี สีเขียวสด ชอบขึ้นเป็นกลุ่มตามห้วยธารที่น้ำไหลตลอดเวลา และใสสะอาด ฤดูหาไคเริ่มประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งแม่น้ำลำธารใสสะอาด และยังมีปริมาณน้ำมากอยู่ พอน้ำเริ่มลด หรือมีฝนตกซึ่งทำให้น้ำขุ่น ชาวบ้านก็จะเลิกหา

เมื่อได้ไคมาแล้วก็จะนำมาล้างให้สะอาด เอาเศษดินเศษทรายออกจนหมด จากนั้นนำไคมาชุบน้ำ ละลายส้มมะขามซึ่งผสมด้วยขิง ข่า กระเทียม หอมใหญ่ มะเขือเทศ ผงชูรส และเกลือ แล้วรอให้สะเด็ดน้ำ แผ่ไคบนตับใบหญ้าคาโดยใช้ไม้ตีให้ไคแผ่ออกเป็นแผ่นบางๆ เสร็จแล้วโรยด้วยงา ตากแดดให้แห้ง เวลาเก็บจะม้วนเป็นก้อนกลมทำนองเดียวกับม้วนผ้า

เมื่อจะนำมารับประทานก็ใช้กรรไกรตัดไคเป็นชิ้นเล็กๆ พอคำ ทอดในน้ำมันร้อนๆ แต่ไฟต้องอ่อน การทอดต้องรวดเร็วแบบจุ่มแล้วเอาขึ้นทันที มิฉะนั้นไคจะไหม้ และมีรสขม ควรรับประทานขณะที่ไคยังร้อนเพราะหากปล่อยให้เย็นจะเหนียว ไม่อร่อย






“แจ่วบอง” เป็นน้ำพริกเผาชนิดหนึ่ง ไม่มีน้ำมันมากเหมือนน้ำพริกเผาไทย แต่ไม่แห้งร่วนเหมือนน้ำพริกปลาย่าง ส่วนสำคัญคือต้องใส่หนังหมู หรือหนังควายหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมอยู่ในเนื้อน้ำพริกด้วย (บางตำรับไม่ใส่)เวลากินจะกรุบๆ อร่อยใช้ได้ทีเดียว ไคแผ่นทอด (จื่นไคแผ่น) เป็นอาหารว่าง หรือของแกล้มที่ชาวหลวงพระบางนิยมรับประทานกัน และมักจิ้มกับแจ่วบอง เพื่อเพิ่มรสชาติให้กล่อมกลมมากยิ่งขึ้น


__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 22-05-2012 เมื่อ 18:47
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม