ดูแบบคำตอบเดียว
  #10  
เก่า 17-07-2010
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default

ประชุมลุ่มน้ำโขง : ผลกระทบยาวไกลถึงหลานเหลน

โดย ประสาร มฤคพิทักษ์ pmarukpitak@yahoo.com

ผู้เขียนในฐานะ ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาคุณค่า การพัฒนา และผลกระทบในลุ่มน้ำโขง และคุณสุรจิต ชิรเวทย์ ประธานอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ของวุฒิสภา ได้รับเชิญจากคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (Mekong River Commission) ไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ การประเมินยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจากการเกิดขึ้นของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบน แม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง (Strategic Environment Assessment of Proposed Mainstream Hydropower Dams in the Lower Mekong) ณ โรงแรมโซฟิเทล โฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม เมื่อ 28 – 29 มิถุนายน 2553


มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน เป็นผู้แทนของ 4 ชาติ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีผู้แทนจีนเข้าร่วมสังเกตการณ์


ดร. เลอ ดุ๊ก ตรุง ผู้อำนวยการ MRC ของเวียดนาม ชี้ว่า แม่น้ำโขงมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างถึง 30,900 เมกะวัตต์ แต่การก่อสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำ วิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้คนหลายล้านคน ตลอดลุ่มน้ำโขง


ในขณะนี้ภาคธุรกิจเอกชนทั้งของจีน เวียดนาม ไทย มาเลย์เซีย และฝรั่งเศส เตรียมลงทุนสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจำนวน 12 แห่งในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งคาบเกี่ยวเขตแดนไทย ลาว กัมพูชา ด้วยการยินยอมของรัฐบาลโดยผ่านบันทึกความเข้าใจ (MOU)


จากการศึกษาวิจัยผลกระทบที่ผู้แทน MRC รายงานต่อที่ประชุมได้พบว่า เขื่อน 12 แห่ง หากสร้างขึ้นจะเกิดผลกระทบหลายประการ เช่น ความผิดปกติของการไหลของน้ำและตะกอนดิน รายได้จากการประมงลุ่มน้ำ ระบบนิเวศน์ทางบกและทางน้ำ วิถีชีวิตวัฒนธรรม พันธุ์ปลาที่สูญหายไป เกษตรริมฝั่ง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ฟังจากรายงานแล้ว เห็นได้ชัดว่า 12 เขื่อนนั้น ผลได้ไม่คุ้มเสีย


ในที่นี้มี 2 เขื่อนที่หัวเขื่อนค้ำ 2 ฝั่งไทย-ลาว คือเขื่อนบ้านกุ่ม จ.อุบลราชธานี และเขื่อนปากชม จ.เลย ที่บริษัทเอกชนของไทย 2 แห่งพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการ โดยเฉพาะเขื่อนบ้านกุ่มนั้น นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ช่วงเดือนมีนาคม 2511 ได้ประกาศอย่างขึงขังว่าจะเดินหน้าสร้างแน่นอน และนายนพดล ปัทมะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศในยุคนั้น ได้ไปเซ็น MOU กับทางการลาวมาแล้วด้วย มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ ทั้งๆ ที่เป็นโครงการที่งอกขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และไม่อยู่ในแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ
ส่วนเขื่อนปากชมนั้น มีแต่การศึกษาเบื้องต้น แต่ทราบว่าทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กำลังดำเนินการในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง อย่างไร


โชคดีที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิชุมชนตามมาตรา 67 ไว้อย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้โครงการขนาดใหญ่ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ตามอำเภอใจของใครๆ ดังในอดีตอีกต่อไป


ในประเด็น “การหลีกเลี่ยง การบรรเทา และการทำให้ดีขึ้น” (Avoidance, Mitigation and Enhancement) มีการระดมสมองของผู้แทนแต่ละประเทศ ต่อ 4 ทางเลือก คือ
1. ยุติการสร้าง เขื่อนทั้งหมด 12 แห่ง
2. ชะลอการสร้างเขื่อนออกไป เพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างรอบด้าน
3. เลือกสรรบางโครงการเพื่อทำโครงการ นำร่อง
4. เดินหน้าสร้างเขื่อน 12 แห่งต่อไป


คณะผู้แทนไทย ปฏิเสธทางเลือกที่ 4 อย่างแข็งขัน และเสนอว่าทางเลือกที่ 1 เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยมีทางเลือกที่ 2 ให้ชะลอโครงการไปเป็นเวลา 10 ปี เป็นทางเลือกรองลงไป โดยผู้แทนไทยชี้ว่า ในระยะยาวเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมีผลทางทำลายมหาศาล โดยผลได้มีเพียงการตอบสนองด้านพลังงานเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันมีพลังงานทางเลือกมากมาย ความเห็นของคณะผู้แทนไทยใกล้เคียงกับความเห็นของผู้แทนเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศปลายน้ำโขงที่จะรับเคราะห์ทางนิเวศน์หนักที่สุด ในขณะที่ผู้แทนลาวเลือกทางเลือกที่สาม คือให้เลือกทำโครงการนำร่อง โดยกัมพูชามีท่าทีขอศึกษารายละเอียดดูก่อน


ผู้เขียนมีความเห็นว่า “ลาวมุ่งมั่นที่จะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเซีย เพื่อผลิตไฟขายให้ต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อย อีกด้านหนึ่งนั้น ทั้งลาวและกัมพูชาต้องพึ่งพิงการลงทุนจากจีนมูลค่ามหาศาล รวมทั้งการลงทุนของจีนสร้างเขื่อนในลาว 3 แห่ง ในกัมพูชา 1 แห่งด้วย”


ผู้เขียนได้ใช้โอกาสนี้ชี้ที่ให้ประชุมได้ตระหนักด้วยว่า เขื่อนจีน 3 แห่ง คือ เขื่อนม่านหว่าน เขื่อนต้าเฉาชาน เขื่อนจิ่งหง ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนบนในเขตมณฑลยูนนานของจีน มีการปิดเปิดเขื่อนเพื่อเก็บกักและปล่อยน้ำตามอัธยาศัยของจีนเอง กล่าวคือ เมื่อมีน้ำมาก จะปล่อยน้ำลงมา พอจีนแห้งแล้งก็จะเก็บกักน้ำเอาไว้ หรือเมื่อต้องการให้เรือสินค้าจีนขึ้นล่องได้ ก็จะปล่อยน้ำลงมาให้เพียงพอต่อการเดินเรือ ทำให้ระดับน้ำโขงลงเร็วผิดปกติในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2553 และระดับน้ำขึ้นเร็วผิดปกติถึงวันละเมตรกว่าเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2551 ทำให้เกิดภาวะตลิ่งพัง ระบบนิเวศน์และพันธุ์ปลาวิปริต เป็นข่าวครึกโครมโดยทั่วไป เท่ากับว่าประเทศเล็กท้ายน้ำจะมีวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำที่ปกติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเมตตาธรรมของเขื่อนจีน ที่จะปรับสภาพการปิดเปิดน้ำให้สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน และเมื่อไร


ในเมื่อเขื่อนจีนสร้างไปแล้วเช่นนี้ ตราบใดที่จีนเป็นผู้เฝ้าดูอยู่ห่างๆ ทั้งยังถือตนเป็นประเทศใหญ่ที่ไม่ไยดีกับประเทศเล็ก แทนที่จะเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหมือน 4 ประเทศท้ายน้ำ ตราบนั้น แม่น้ำโขงยังคงไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นธรรม


มีความเข้าใจผิดกันมากว่า ธรรมชาติต้องให้คนเข้าไปบริหารจัดการ “ความจริงแม่น้ำโขงมีระบบนิเวศน์ที่จัดการตนเองได้อยู่แล้ว โดยคนไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวกับแม่น้ำเลย การตัดแม่น้ำโขงออกเป็นท่อนๆ ด้วยแท่งปูนขนาดมหึมา กลับเป็นอนันตริยกรรมต่อความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำโขง การชดเชยใดๆ ไม่ว่าด้วยบันไดปลาโจน การจ่ายค่าเวนคืน การเลี้ยงปลากระชัง หรือด้วยวิธีอื่นใด ก็ไม่อาจทดแทนได้ เขื่อนจีน 3 แห่งในลุ่มน้ำโขงตอนบนทำความพินาศให้กับมหานทีแห่งนี้มากพอแล้ว จีนยังจะสร้างเขื่อนเพิ่มอีก 5 แห่ง บวก 12 เขื่อนในตอนล่าง ยิ่งก่อหายนะภัยสั่งสมกับแม่น้ำโขงต่อไปไม่สิ้นสุด โดยไม่รู้เลยว่าวันหนึ่งข้างหน้าแม่น้ำโขงจะทวงคืนสภาพความอุดมสมบูรณ์ด้วย ค่าใช้จ่ายมหาศาลของมนุษย์”



*************************************

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ฉบับที่ 7959 วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 หน้า ‘ทัศนะวิจารณ์’ (หน้า 11)


ขอบคุณข้อมูลจาก
....http://www.matichon.co.th/news_detai...rpid=&catid=19
__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม