ดูแบบคำตอบเดียว
  #52  
เก่า 01-12-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,276
Default


โรคเบาหวานท่ามกลางน้ำท่วม พึงดูแลเพื่อป้องกันอาการแทรก


ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ออกโรงแนะนำการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในช่วงน้ำท่วม โดยระบุว่า ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมนี้ ดังนั้นจึงควรมีความรู้เบื้องต้นในการดูแลรักษาสุขภาพของตน เพื่อรับมือไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาในช่วงนี้

ในภาวะที่เต็มไปด้วยความเครียดเช่นนี้ ร่างกายของมนุษย์จะหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมา ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ควรหยุดทานยารักษาเบาหวานเด็ดขาด เพราะการหยุดยาอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนถึงระดับอันตรายได้ แต่ถ้าท่านทานอาหารไม่ได้หรือทานได้น้อย อาจต้องระวังภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งจะมีอาการเตือนคือ ใจสั่น มือสั่น หน้ามืด บ่นหิว จะเป็นลม หากเกิดอาการเหล่านี้ให้หยุดยาเบาหวานชั่วคราวก่อน และควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และให้แพทย์ปรับขนาดยาให้เหมาะสม ที่สำคัญคือห้ามใช้ยาเบาหวานของผู้อื่น แม้เม็ดยาจะดูคล้ายกันแต่อาจเป็นยาคนละชนิด

ในกรณีผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฉีดยาอินซูลิน ไม่ควรอดอาหารเด็ดขาด และก่อนฉีดยาทุกครั้งต้องแน่ใจว่ามีอาหารรับประทานเพียงพอ โดยฉีดยาตามขนาดที่เคยฉีดทั้งหมดต่อวัน กรณีรับประทานอาหารได้น้อยลงอาจต้องมีการปรับลดปริมาณยาฉีดลงเพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ห้ามหยุดฉีดอินซูลินเอง โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน (เบาหวานชนิดที่ 1) เพราะอาจเกิดเลือดเป็นกรดจากสารคีโตนคั่งทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ และไม่แนะนำให้ปรับเพิ่มขนาดยาฉีดอินซูลินด้วยตัวเอง เว้นแต่ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแล้วพบว่าสูง และต้องเคยได้รับคำแนะนำเรื่องการปรับขนาดยาจากแพทย์แล้วเท่านั้น ควรเก็บยาอินซูลินไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา แต่ถ้าใช้ตู้เย็นไม่ได้เนื่องจากถูกตัดไฟฟ้าก็สามารถเก็บยาฉีดอินซูลินได้ที่อุณหภูมิห้องนาน 1 เดือน โดยอย่าให้ถูกแสงแดด ความร้อน หรือความเย็นจัด นอกจากนี้ไม่ควรใช้ยาอินซูลินที่มีลักษณะผิดไปจากเดิม เช่น ยาจับตัวเป็นก้อน สีของยาเปลี่ยน และไม่ควรใช้หัวเข็มฉีดยาหรือยาฉีดร่วมกับผู้อื่น

ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อทั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและน้ำตาลในเลือดต่ำ ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ถ้ามีเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลจากเลือดปลายนิ้ว จะช่วยในการวินิจฉัยภาวะดังกล่าวและเฝ้าระวังได้ง่ายขึ้น

อาการระดับน้ำตาลในเลือดสูง มักเกิดจากการขาดยารักษาเบาหวาน หรือหยุดฉีดยาอินซูลิน หรือทานอาหาร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมาก เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ร่างกายจะพยายามขับน้ำตาลออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น และมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปทางปัสสาวะมากขึ้น ผู้ป่วยจะกระหายน้ำ ริมฝีปากแห้ง หากได้รับน้ำและเกลือแร่ไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจะเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ มีอาการอ่อนเพลีย แขนขาอ่อนแรง ไตวาย ซึมลงหรือหมดสติได้

หากเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน แล้วได้รับอินซูลินไม่เพียงพอ ร่างกายจะนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ จึงต้องสลายไขมันมาใช้แทน ทำให้เกิดสารคีโตนคั่งในเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ้ารุนแรงมากขึ้นจนเลือดเป็นกรด ผู้ป่วยจะหายใจเร็วและลึก อาจมีไข้หรือปวดท้องร่วมด้วย ถ้าไปรับการรักษาไม่ทันอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

หากมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง คือ หิวน้ำบ่อย ปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะมาก ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น และแก้ไขสาเหตุที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ต้องพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

อาการระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้แก่ ผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานอายุน้อย ทานอาหารได้น้อยกว่าปกติ หรือมื้ออาหารถูกงดหรือเลื่อนเวลาออกไปจากเวลาปกติ ในขณะที่ยังทานยารักษาเบาหวานหรือฉีดยาอินซูลินปริมาณเท่าเดิม เวลาเดิม ออกกำลังกาย หรือมีการใช้พลังงานมากขึ้น การทำงานของตับและไตเสื่อมลง

อาการเตือนของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้แก่ เหงื่อแตก ใจสั่น มือสั่น คลื่นไส้ เหงื่อออก รู้สึกหิว กระสับกระส่าย หากไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้สมองขาดน้ำตาลไปเลี้ยง จนทำให้เกิดอาการมึนงง ปวดศีรษะ สับสน ตาพร่ามัว ง่วงซึม หมดสติหรือชักได้ หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ถ้ายังรู้สึกตัวดี ให้ผู้ป่วยกินน้ำหวานหรือน้ำอัดลม 1 แก้วหรือน้ำผลไม้ 1 กล่อง หรือน้ำตาลก้อน 2 ก้อน หรือทานผลไม้ เช่น ส้มหรือกล้วย 1-2 ผล หรือลูกอมหวาน 3 เม็ด ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 15 นาที หรือผู้ป่วยหมดสติ ให้รีบไปพบแพทย์ที่อยู่ใกล้ที่สุด


--------

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลและโรคแทรก

1.สวมเสื้อผ้าที่มิดชิดและป้องกันน้ำได้ ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่หนาเกินไป แต่ควรจะระบายความร้อนได้ดีเพื่อลดความอับชื้น และควรเป็นชุดสีสว่างเพื่อไม่ให้เก็บความร้อน

2.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ตยางกันน้ำทุกครั้ง อาจสวมถุงเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสีที่อาจทำให้เกิดบาดแผลบริเวณเท้า เมื่อลุยน้ำเสร็จแล้วให้รีบล้างเท้าด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง

3.หมั่นสำรวจเท้าทุกวัน โดยเฉพาะซอกนิ้วเท้าและฝ่าเท้า เพื่อดูว่ามีแผลรอยถลอก หรือแผลพุพองหรือไม่ ทำความสะอาดเท้าทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และทันทีเมื่อเท้าสกปรก ด้วยน้ำสบู่อ่อนและน้ำสะอาด (ไม่ควรใช้น้ำร้อน) และใช้ผ้าเช็ดเท้าและซอกนิ้วให้แห้งทุกครั้ง ถ้ามี

4.บาดแผลควรรีบทำแผลด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน และพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะตามความเหมาะสม กรณีบาดแผลสกปรกอาจต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วย ถ้ามีแผลน้ำกัดเท้าซึ่งมักเกิดบริเวณง่ามนิ้วเท้า และเกิดจากเชื้อรา ทำให้มีอาการคัน แสบ แตก ผิวหนังลอก การรักษาต้องทาด้วยยาฆ่าเชื้อราต่อเนื่องระยะหนึ่ง ร่วมกับดูแลเท้าให้แห้งสะอาด.




จาก .................. ไทยโพสต์ คอลัมน์ สุขภาพ วันที่ 1 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม