ชื่อกระทู้: แผ่นดินที่หายไป (3)
ดูแบบคำตอบเดียว
  #42  
เก่า 23-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,074
Default


การแก้ไขต้องเริ่มต้นจากความรู้และปัญหาที่แท้จริง


เท่ากับอาจารย์มองเรื่องภูมิอากาศเป็นหมวกใหญ่ของปัญหาทั้งมวลที่มีอยู่

ใช่ เพราะฉะนั้น Climate Adaptation ถ้าแยกออกว่าข้อมูลอยู่ตรงไหนก็ง่าย ส่วนเรื่องกระบวนการวิธีการจะนำไปอย่างไร มันมีโครงสร้างอยู่แล้วระดับหนึ่ง และ Climate Adaptation ที่ดีไม่ควรเป็นการไปยกเครื่องทั้งหมดแต่ต้องดูจากโครงสร้างที่มีในปัจจุบัน แล้วเสริมให้มันดีขึ้น เช่น เป็นไปไม่ได้ที่จะบอกให้คนชายฝั่งย้ายหนีการกัดเซาะแล้วทำนาแทนแบบนี้

ในภาพรวมของการแก้ปัญหา ผมอยากจะบอกให้ชุมชนแต่ละแห่งปรับโครงสร้างของระบบนิเวศเพื่อให้เขาอยู่กับ ระบบนิเวศในท้องถิ่น เช่น ปลูกต้นไม้ก็เป็นการป้องกันระดับชุมชน แต่จะให้เป็นระดับ Climate Adaptation ต้องมีกองทุนให้ชุมชน เพราะสิ่งที่ผมสนใจคือ Climate Adaptation ซึ่งไม่ใช่งานของชุมชนเพราะเขาทำกันไม่ไหวหรอก


มีกลไกอะไรที่จะทำให้ชาวบ้านยกระดับการแก้ปัญหาไปสู่ระดับที่เป็น Climate Adaptation ได้

ตอนนี้ที่ชาวบ้านทำอยู่คือทำตามโอกาส แต่การแก้ปัญหา เขาต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างนี้ ความรู้ ทุน กฎระเบียบ กรณีเรื่องสภาพภูมิอากาศ ถ้าคนในพื้นที่มีความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเขาก็จะรู้ว่าเขาควรจะใช้ทรัพยากรอะไรอย่างไรได้ดีขึ้น แต่ถ้าเขารู้อย่างเดียวเขาก็จะใช้อยู่อย่างเดียว ส่วนเรื่องทุน เชื่อแน่ว่าไม่มีใครออกเงินเองเพื่อแก้ไขปัญหา ฉะนั้นต้องมีกองทุนหรือมีช่องทางให้เขาหาทุนไปดำเนินการ เหมือนที่ชาวบ้านทำแนวไม้ไผ่ก็ต้องใช้เงินซื้อ ส่วนเรื่องกฎระเบียบไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายหรือมีกฎหมายรองรับ การที่ผมบอกว่ากรณีของชาวบ้านที่แก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะอยู่ทุกวันนี้ยังไม่ได้เข้าสู่ Climate Adaptation ก็เพราะพวกเขาแค่ทำตามทางเลือกที่มีอยู่ คนในชุมชนเป็นแค่เครื่องมือและแรงงานที่ลงไปทำ แต่ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาในภาพใหญ่


ถ้าถามแบบไม่ต้องให้คิดมาก ภายใต้ประเด็นของ Climate Change โดยส่วนตัวแล้วปัญหาเร่งด่วนของอาจารย์คือเรื่องอะไร

คือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือที่เราเรียกว่าความตระหนัก ทุกคนสร้างความตระหนักเรื่อง Climate Change มาก แต่คลาดเคลื่อนไปมากขึ้นทุกทีและค่อนข้างจะน่ากังวล การที่เราพูดเรื่องการปรับตัวระดับชุมชน (Community base adaptation) แล้วไปโยงกับสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งที่ผมย้ำตลอดว่าผมไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ เพราะว่าชุมชนไม่ได้ปรับตัวกับภูมิอากาศเสียทีเดียว หรือว่าสิ่งที่เขาอยากจะปรับแต่เขามักจะปรับไม่ได้ เพราะเรื่องนี้มันใหญ่มาก สาเหตุเพราะชุมชนที่เกิดในยุคปัจจุบัน ไม่ได้มีภูมิอากาศเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนเหมือนในอดีต ถ้าเป็นสมัยกรุงสุโขทัยนี่อาจจะใช่ ชุมชนโบราณถ้าปรับตัวให้เข้ากับภูมิอากาศไม่ได้ก็สูญพันธุ์ ประเทศไทยเราพัฒนาโดยปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศและท้องถิ่นมาตลอด แต่พอระบบเศรษฐกิจพัฒนาแบบพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เลยเป็นตัวแปรให้สังคมไทยพัฒนาตัวเองในรูปแบบที่ละเลยการปรับตัวเข้ากับ ธรรมชาติ จนกระทั่งประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกเมื่อปี 2503 ที่เราเริ่มผลักดันให้การพัฒนาหลุดออกจากธรรมชาติ เกิดระบบสังคม ที่เรียกว่าแทบจะไม่อิงกับสภาพธรรมชาติในพื้นที่เลย มีตลาดเป็นตัวกำหนด และเป็นจุดที่ทำให้ชุมชนระดับฐานรากของไทยหลุดจากความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม


แต่หลายชุมชนก็เริ่มย้อนกลับไปสู่อดีต

ก็พยายามกัน แต่การย้อนกลับจะเป็นแบบ Passive หรือให้กลับมาเองเป็นไปไม่ได้ ต้องอัดทรัพยากรลงไปช่วยด้วย คราวนี้ก็จะเข้าประเด็นเรื่องความเป็นธรรม กลุ่มค้าขายในระบบเศรษฐกิจที่โตไปอย่างนี้ก็จะได้ประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกัน ต้นทุนที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ว่า ป่าไม้ถูกทำลายไม่ใช่แค่ดินเสื่อมคุณภาพ แต่ทำให้ชุมชนอ่อนไหวเปราะบางกับภูมิอากาศมากขึ้น อันนี้ก็เป็นต้นทุน แต่เป็นต้นทุนที่ไม่เคยถูกเอามาคิด


อย่างนี้อาจารย์มองว่าการแก้ปัญหาของชุมชนซึ่งยังไม่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศก็ยังไม่ถูกต้อง

ถูก คือถามว่าชุมชนอยากจะปรับอะไร ผมคิดว่าถ้าเผื่อเขามีความรู้ เขามีทรัพยากร เขามีสิทธิ มีอำนาจมีโอกาสทางกฎหมายที่จะทำ เขาทำทั้งนั้นแหละ แต่นี่ส่วนใหญ่เขาไม่มีความรู้เพราะไม่มีเวทีไม่มีระบบอะไรจะให้ความรู้ อยู่ดีๆจะให้เขาคิดความรู้ขึ้นมาเองก็ไม่ได้ แต่พอมีความรู้แล้วกฎระเบียบก็ไม่เอื้อให้เขาอีก ในที่สุดเขาก็เลือกว่าเอาอย่างนี้ดีกว่า ก็อยู่ไปวันๆ อย่างน้อยขายข้าวได้ก็มีเงินกินชั่วคราว แต่เงินมันติดลบไปทุกวัน รอวันดีคืนดีรัฐบาลมาล้างหนี้ให้ทีหนึ่ง


ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีการวางแผนแก้ปัญหาระยะยาวระดับสัก 50-100 ปีไหม

ไม่มี แผนพัฒนาก็แค่ 5 ปี เพิ่งมีสภาพัฒน์ทำวิสัยทัศน์ประเทศ 2570 ก็เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็แค่ 20 ปี


ทำไมทำไม่ได้ อย่างเนเธอร์แลนด์ทำไมวางแผนระยะยาวได้เป็นหลายร้อยปี

มัน 2 ระดับ ที่เขาดูไปข้างหน้าได้ เพราะในปัจจุบันเขาโอเคแล้ว แต่ของเราปัจจุบันยังไม่โอเคเลย ถึงแม้ได้ปัญหาโครงสร้างก็ยังไม่ได้เอื้อ ความเป็นธรรมก็ยังไม่เกิด อย่าเพิ่งไปมองอนาคตเลย เอาแค่เรื่องภูมิอากาศ เอาแค่ Climate กับ Climate Adaptation ให้ได้ก่อน ยังไม่ต้องว่ากันถึง Climate Change ซึ่งเป็นภาคต่ออีกว่าเราจะต้องคิดว่ามันจะเปลี่ยนไปในอนาคตอย่างไร


ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ที่พูดกันทุกวันคือปัญหาเดิมเพียงแต่ว่ารุนแรงมากกว่า 10-20 ปี แสดงว่าการแก้ปัญหาของเราไม่คืบหน้าไปไหน

ยกตัวอย่างน้ำท่วมหาดใหญ่ มันรุนแรงขึ้นกว่าเดิมขนาดน้ำท่วมคราวก่อนมีการแก้ไปตั้งเยอะ ถ้าไม่แก้อะไรเลยไม่ยิ่งแย่ไปกว่านี้หรือ ตอนนั้นทุกคนมองว่าได้ชดเชยแล้ว สอง ดูเหมือนว่ามีการป้องกันจากการขยายคลอง ขยายสะพาน คนเห็นว่ามีการก่อสร้าง แต่ไม่มีการประเมินว่า สิ่งที่สร้างขึ้นมามี Capacity พอหรือเปล่า น้ำจะมากขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า นี่คือตัวอย่างที่เห็นชัด ความเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม ถ้าหาดใหญ่น้ำท่วมแล้ว เสียหายน้อยกว่าเดิมก็ถือว่าแก้ได้สำเร็จระดับหนึ่ง นี่แสดงว่าปัญหาเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่ากระบวนการรับมือที่เราสร้าง


อย่างเนเธอร์แลนด์มีจุดร่วมเปียกไม่ได้ ประเทศไทยหาจุดร่วมอะไรสักนิดไม่ได้เลยหรือ

ยังไม่เห็นเลย คือจุดร่วมมันจะร่วมกันเฉพาะคนบางกลุ่ม แต่ว่าคนอีกกลุ่มไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาและกลายเป็นสิ่งที่แย่กว่านั้นคือ ปัญหาของคนบางกลุ่มอาจจะเป็นประโยชน์ของคนอีกกลุ่มก็ยังมีเลย


สรุปมิชชั่นครั้งนี้อย่างน้อยก็ถือว่ามีแววดีขึ้นมาอีกนิดได้ไหม

ใช่ คือเป็นตัวอย่างการมองภาพรวมและแก้ปัญหาที่ผมมองว่าจะนำไปสู่เรื่องของ Climate Adaptation 3 เรื่องที่เขาสรุปมาเป็นข้อเสนอแนะ ไม่มีอันไหนที่พูดถึงการรับมือกับ Weather Event เลย ไม่ได้พูดปัญหาจุดใดจุดหนึ่งว่าเป็นเรื่องน้ำเสีย น้ำเน่า น้ำท่วม หรือปัญหาระยะสั้นอย่างที่เรามองกัน

ข้อแรกเป็นเรื่องปัญหาโครงสร้างองค์กร สอง เรื่องการดีไซน์ที่บอกว่าจะต้องมองระยะยาว และสาม Return Period ต้องยาว ทั้งหมดเป็นแนวทางการปรับปรุงภาพใหญ่ซึ่งจะกระทบหลายส่วนงาน ไม่ได้เจาะจงปัญหาใดปัญหาหนึ่ง อย่างน้อยเขาก็สรุปปัญหาที่เกี่ยวโยงกับต้นเหตุที่แท้จริงได้ถูกต้อง




จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม