ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 14-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ป่าฝนผืนใหญ่ในอินโดนีเชียถูกเผาเอาพื้นที่ทำสวนปาล์มน้ำมัน



ป่าฝนผืนใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่ของเอเชียในจังหวัดปาปัวของอินโดนีเซียกำลังถูกแผ้วถางเพื่อนำพื้นที่ไปทำสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ

บริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มสัญชาติเกาหลีใต้ที่ชื่อ "โครินโด"(Korindo) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทรายใหญ่ที่สุดที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอันห่างไกลแห่งนี้ ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลในการเข้าไปทำสวนปาล์มน้ำมัน และมีการแผ้วถางป่าไปแล้วประมาณ 360,000 ไร่ หรือมีขนาดใกล้เคียงกับกรุงโซล

ที่ผ่านมา โครินโด ได้ปฏิเสธเรื่องการใช้ไฟเผาเพื่อแผ้วถางป่า ซึ่งถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย แต่จากการสืบสวนข้อเท็จจริงด้วยหลักฐานต่าง ๆ เช่น ภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายจากดาวเทียมของกลุ่ม "เฟอเรนซิค อาร์คิเทคเจอร์"( Forensic Architecture) แห่งมหาวิทยาลัยโกลด์สมิธ ในกรุงลอนดอน และกลุ่มกรีนพีซอินเตอร์เนชันแนล ก็พบหลักฐานบ่งชี้ถึงการจงใจจุดไฟเผาป่าในช่วงที่มีการแผ้วถางป่าเพื่อเตรียมพื้นที่ในการทำสวนปาล์มในเขตสัมปทานของบริษัทนี้

กลุ่มเฟอเรนซิค อาร์คิเทคเจอร์ ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อศึกษารูปแบบการแผ้วถางป่าภายในเขตพื้นที่สัมปทานของบริษัทโครินโด ระหว่างปี 2011-2016 โดยพวกเขาใช้ภาพถ่ายเหล่านี้เพื่อศึกษา "อัตราส่วนของการเผาไหม้" แล้วนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลจุดร้อน (hotspot data) ซึ่งเป็นข้อมูลแหล่งความร้อนที่ดาวเทียมองค์การนาซาตรวจจับได้บริเวณดังกล่าวในช่วงเวลาเดียวกัน

ซามาเนห์ โมอาฟี นักวิจัยอาวุโสของกลุ่มเฟอเรนซิค อาร์คิเทคเจอร์ กล่าวว่า "เราพบว่ารูปแบบ ทิศทาง และความเร็วที่ไฟเคลื่อนตัวในพื้นที่ตรงกันเป๊ะกับรูปแบบ ความเร็ว และทิศทางของการแผ้วถางป่าที่เกิดขึ้น ซึ่งนี่บ่งชี้ว่าไฟถูกจุดขึ้นอย่างจงใจ"

"ถ้าไฟถูกจุดขึ้นจากด้านนอกเขตสัมปทาน หรือเกิดจากสภาพอากาศไฟจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่แตกต่างกัน" เธอกล่าว

บีบีซีพยายามขอสัมภาษณ์โครินโด แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยบริษัทได้ยืนยันในแถลงการณ์ว่าการแผ้วถางป่าทั้งหมด ทำโดยใช้เครื่องจักรกลหนัก พร้อมชี้แจงว่า ได้เกิดไฟป่าขึ้นตามธรรมชาติหลายครั้งในพื้นที่เนื่องจากมีสภาพแห้งแล้งรุนแรง และอ้างว่าไฟที่เกิดขึ้นในพื้นที่สัมปทานของบริษัท เกิดจากการที่ชาวบ้านจุดไฟล่าหนูป่ายักษ์ที่ซ่อนอยู่ตามกองไม้

แต่เรื่องที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เขตสัมปทานนี้เล่าให้บีบีซีฟังนั้นแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขาต่างระบุว่า โครินโดได้จุดไฟเผาป่าในเขตสัมปทานมาเป็นเวลาหลายปี ในช่วงเวลาเดียวกับหลักฐานที่พบจากการสืบสวนข้อเท็จจริงของกลุ่มเฟอเรนซิค อาร์คิเทคเจอร์

นายเซฟนัต มาฮูเซ ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า "ไฟป่าเกิดขึ้นมาหลายปีเพราะพวกเขาแผ้วถางป่า พวกเขาเก็บไม้ที่เหลือไปกองรวมกันและราดน้ำมันเบนซินลงไปแล้วจุดไฟเผา มันดำเนินมาจนถึงปี 2016"

ขณะที่นายอีเซา คามูเยน ชาวบ้านอีกคนบอกว่า "มีควันหนาทึบตอนที่พวกเขาแผ้วถางป่า พวกเขาเผาเศษไม้ที่เหลืออยู่ ควันหนาจนบดบังท้องฟ้า พอตกบ่ายก็มีควันไฟเต็มไปหมดจนท้องฟ้ามืดมิด"

แม้โครินโดจะอ้างว่าบริษัทได้นำการจ้างงานและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ภูมิภาคนี้ แต่สำหรับนางเอลิซาเบธ นดินวาเอ็น ผู้นำอาวุโสของเผ่า กลับเศร้าเสียใจให้กับผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่ถูกทำลายไปต่อหน้าต่อตาของเธอ

"เราปกป้องผืนป่าของเรา และไม่เคยทำลายมัน แต่พวกคนนอกเข้ามาและแผ้วถางมัน มันคือบาดแผลที่บาดลึก...ฉันร่ำไห้ด้วยความเศร้าใจให้กับผืนป่าอันงดงามของปาปัว ที่พระเจ้าทรงสร้างให้แก่พวกเรา"


https://www.bbc.com/thai/international-54931683


*********************************************************************************************************************************************************


"แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" เจาะรูยักษ์บนผืนน้ำแข็งมหาสมุทรแอนตาร์กติก


ปรากฏการณ์โพลีเนีย (Polynya) นอกชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อปี 2017

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า แม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในโลกนั้นไม่ได้อยู่บนพื้นแผ่นดิน แต่เป็นสายธารขนาดมหึมาบนท้องฟ้าที่เรามองไม่เห็น ซึ่งแวดวงวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า "แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" (Atmospheric river) หรือกระแสของไอน้ำที่ไหลเวียนและพัดพาเอาความชุ่มชื้นไปทำให้เกิดพายุฝนในส่วนต่าง ๆ ของโลก

ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาลิฟาของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ค้นพบบทบาทหน้าที่ใหม่ของแม่น้ำบนท้องฟ้าดังกล่าวในทางอุตุนิยมวิทยาแล้ว ซึ่งช่วยไขปริศนาที่มีมานานว่า เหตุใดผืนน้ำแข็งในมหาสมุทรแถบขั้วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทรแอนตาร์กติก จึงมักจะเกิดรูโหว่ขนาดใหญ่มหึมาขึ้นในแทบทุกปี

ช่องโหว่ขนาดยักษ์กลางผืนน้ำแข็ง หรือ "โพลีเนีย" (Polynya) มีความกว้างหลายหมื่นไปจนถึงหลายแสนตารางกิโลเมตร ในบางครั้งพบว่ามีขนาดใหญ่ยิ่งกว่าประเทศเนเธอร์แลนด์เสียอีก แต่การละลายของน้ำแข็งในรูปแบบประหลาดนี้มีมานานในบันทึกประวัติศาสตร์และในบางปีก็ไม่เกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่ามันไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

แม้ช่องโหว่โพลีเนียจะสามารถปิดตัวลงเองได้ตามฤดูกาล แต่ก็สามารถเกิดซ้ำในตำแหน่งเดิม ซึ่งก็พลอยมีส่วนทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย เนื่องจากสูญเสียพื้นที่หิมะสีขาวช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์กลับคืนสู่ห้วงอวกาศ ในขณะที่ช่องโหว่ซึ่งเป็นผืนน้ำทะเลสีเข้มกลับดูดซับความร้อนเอาไว้มากขึ้น

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยคาลิฟาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ระบุว่า ทีมผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลดาวเทียมเกี่ยวกับสภาพอากาศระหว่างเหตุการณ์โพลีเนียครั้งใหญ่ในปี 1973 และ 2017 ซึ่งเกิดขึ้นตรงผืนน้ำแข็งบริเวณทะเลเวดเดลล์ (Weddell Sea) และนอกชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกา


ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นแถบของกลุ่มเมฆใน "แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" (Atmospheric river)

ผลวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า การไหลของกระแสไอน้ำและความร้อนในท้องฟ้านั้นเดินทางไปไกลเกินคาด โดยในปี 2017 แม่น้ำในชั้นบรรยากาศสายหนึ่งเคลื่อนจากชายฝั่งทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกาใต้ ลงต่ำไปยังอาณาเขตของทะเลเวดเดลล์ จนทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 10 องศาเซลเซียสในเดือนกันยายนของปีนั้น ทั้งเกิดรูโหว่ขนาดยักษ์ขึ้นบนผืนน้ำแข็งในมหาสมุทรแอนตาร์กติกด้วย

นอกจากจะทำให้อากาศร้อนขึ้นแล้ว แม่น้ำในชั้นบรรยากาศยังทำให้เกิดพายุไซโคลนได้บ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงขึ้น เพราะมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณไอน้ำอย่างมหาศาล โดยพายุนี้จะทำให้เกิดคลื่นลมซัดผืนน้ำแข็งส่วนที่เริ่มละลายและอ่อนตัวให้สลายไปกลายเป็นช่องโหว่

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ในระยะยาวว่า หากอัตราการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศยังคงไม่ลดลงอยู่เช่นนี้ ภาวะโลกร้อนที่ยิ่งย่ำแย่ลงจะทำให้อัตราการเกิดแม่น้ำในชั้นบรรยากาศมีบ่อยครั้งขึ้นกว่าเดิมถึง 50% ซึ่งก็จะพลอยทำให้ปรากฏการณ์โพลีเนียพบได้มากขึ้นและรุนแรงขึ้นตามไปด้วย


https://www.bbc.com/thai/features-54919427

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม