ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 04-05-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ดร.ธรณ์ ชื่นชม 'ท็อป-วราวุธ' ให้ความสำคัญ-ใส่ใจโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย

ดร.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล ได้ออกมาโพสต์ชื่นชม ท็อป วราวุธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย



วันนี้ (3 พ.ค.) เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาเผยข้อมูลเรื่องของน้องโลมา 14 สุดท้าย ในทะเลสาบสงขลา ท่านรัฐมนตรีให้ความสำคัญมาก สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคิกออฟโดยกรมทะเลเป็นเจ้าภาพ รวมทุกสรรพกำลังมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน แม้บอกได้ว่าไม่ง่าย แต่คงเป็นครั้งแรกที่พอเห็นความหวังความใส่ใจมากที่สุดในรอบสามสิบปี มีอะไรจะมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ทราบเป็นระยะครับ

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. เฟซบุ๊ก "TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา" หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อมูลโดยระบุว่า "โลกนี้มีโลมาอิรวดี ในแหล่งน้ำจืดเหลือเพียง 5 แห่ง ได้แก่ อินเดีย 140 ตัว อินโดนิเซีย 90 ตัว เมียนมาร์ 80 ตัว กัมพูชา 90 ตัว และไทย 14 ตัว ผมได้รับรายงานจากคณะทำงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงสถานการณ์ของโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย ในทะเลสาบสงขลา ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ และรับทราบถึงกระแสความกังวลใจของพี่น้องประชาชนคนไทย ที่ห่วงใยในสถานการณ์ ผมขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงและแนวทางการทำงานเพื่อรักษา โลมาอิรวดีฝูงสุดท้ายฝูงนี้เอาไว้ครับ

โลมาอิรวดี จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และยังเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศ จากการประชุม CITES ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2546 ที่ประเทศไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 ส่งผลให้โลมาอิรวดีได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติด้วย

ทั้งนี้ จากการสำรวจเมื่อ 30 ปีก่อน พบว่ามีโลมาอิรวดีในประเทศไทย มากกว่า 100 ตัว แต่ในปัจจุบัน พบเหลือเพียงแค่ 14 ตัว เป็นโลมาฝูงสุดท้ายที่ยังรอดชีวิตในทะเลสาบสงขลา โดยจากรายงานการเกยตื้นของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2549 - มี.ค. 2565 มีโลมาอิรวดีเกยตื้นตายทั้งหมด 94 ตัว สาเหตุมาจากการติดเครื่องมือประมง ไม่ทราบสาเหตุ และป่วย โดยพื้นที่ที่พบส่วนใหญ่อยู่ใน จ.สงขลา และ จ.พัทลุง

ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง จึงได้สำรวจประชากรโลมาอิรวดี ทั้งโดยวิธีทางเรือ สำรวจทางอากาศโดยเครื่องบินเล็ก และอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อคอยดูแลและเฝ้าระวัง มาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน

ในช่วงปี 2561 มีการประกาศแนวเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา แต่แนวโน้มประชากรยังคงลดลง โดยในปี 2558 มีรายงานการพบ 27 ตัว แต่ปัจจุบัน ปี 2565 เหลืออยู่ 14 ตัว จึงจำเป็นต้องเพิ่มการตรวจตราเฝ้าระวัง ป้องกันการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือหยุดการใช้เครื่องมือที่เป็นภัยคุกคามเข้มงวดมากขึ้น ในด้านการดูแลความปลอดภัยของโลมาอิรวดี 14 ตัว ที่เหลืออยู่ตอนนี้ ในระยะสั้น พวกเราจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องระบบ การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ให้ถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการออกทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และชาวประมงในพื้นที่ ถึงความสำคัญของ 14 ชีวิต ที่เหลืออยู่

ทั้งนี้ ความเคยชินในวิถีการทำประมงที่ยังหมิ่นเหม่ต่อการดำรงชีวิตของโลมาอิรวดี ของผู้คนในพื้นที่บางคน และบางส่วนมาจากนอกพื้นที่ ที่อาจจะยังไม่รู้ถึงความสำคัญตรงนี้ พวกเราจะหาแนวทางปรับความเข้าใจกันใหม่ ให้เข้มงวด และเข้าใจให้ตรงกัน เชื่อว่าเมื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่เข้าใจ เขาจะต้องรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติของพวกเขาแน่นอนครับ

นอกจากนี้ ในระยะยาว เราจำเป็นต้องสำรวจศึกษา วิจัย เกี่ยวกับการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดในกลุ่มโลมาทะเลสาบสงขลา การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในทะเลสาบ การแก้ปัญหามลพิษ การตื้นเขิน และเร่งเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารของโลมาอิรวดี รวมทั้งสร้างศูนย์ช่วยเหลือและพยาบาลสัตว์ทะเล เพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือพร้อมอุปกรณ์การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการดูแลจัดการถิ่นที่อยู่ของโลมา และการจัดการสภาพแวดล้อมของทะเลสาบสงขลา อย่างระมัดระวังครับ


https://mgronline.com/onlinesection/.../9650000042144


*********************************************************************************************************************************************************


หาชมยาก! ภาพปะการังปล่อยไข่ในทะเลตราด


ปะการังปล่อยไข่ (ภาพจาก : เพจ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จังหวัดตราด)

เพจ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จังหวัดตราด เผยภาพและคลิปหาชมยากของปะการังกำลังปล่อยไข่ จากปรากฎการณ์การออกไข่ของปะการัง (Coral Spawning) โดยเพจ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จังหวัดตราด ได้โพสต์ข้อความถึงเรื่องดังกล่าวว่า

เมื่อวันที่ 19 ? 23 เมษายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จังหวัดตราด ดำเนินการออกปฏิบัติการสำรวจปรากฎการณ์การออกไข่ของปะการัง (Coral Spawning) ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด บริเวณสถานีเกาะมะปริง (หาดศาลเจ้า) จากการออกสำรวจพบปะการังปล่อยไข่ในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2565 พบปะการังจำนวน 3 สกุล ได้แก่

สกุล Goniastrea (ปะการังรังผึ้ง) พบเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2565 เวลา 20.15 น. ระดับความลึก 3.1 เมตร อุณหภูมิน้ำทะเล 31?C จำนวน 2 โคโลนี

สกุล Favia (ปะการังรังวงแหวน) พบเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2565 เวลา 20.35 น. ระดับความลึก 2.9 เมตร อุณหภูมิน้ำทะเล 31?C จำนวน 1 โคโลนี

สกุล Favites (ปะการังรังช่องเหลี่ยม) พบเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2565 เวลา 20.48 น. ระดับความลึก 2.8 เมตร อุณหภูมิน้ำทะเล 31?C จำนวน 1 โคโลนี


https://mgronline.com/travel/detail/9650000041933

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม