ดูแบบคำตอบเดียว
  #25  
เก่า 01-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


เตรียมพร้อมรับมือคลื่นสึนามิในประเทศไทย



ภายหลังเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่ระดับ 9.0 ริกเตอร์ ส่งผลทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ความสูงกว่า 10 เมตร พัดถล่มชายฝั่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น และส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นระเบิดตามมา ส่งผลให้มีระดับรังสีเพิ่มขึ้นผิดปกติ และมีสารไอโอดีน131 และสารซีเซี่ยม 137 แพร่กระจายออกมา รวมทั้งความสูญเสียที่ประเทศไทยได้รับจากคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เป็นบทเรียนว่า ภัยจากสึนามิโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียชีวิต เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันหรือลดลงได้ หากมีการเตรียมพร้อม มีความรู้เกี่ยวกับคลื่นสึนามิและวิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะสามารถลดความสูญเสียได้

สำนักงานบริการด้านภูมิอากาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ( Nation Weather Service) ได้ริเริ่มโครงการ “เตรียมพร้อมรับคลื่นสึนามิ ” ขึ้นมาเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลาง มลรัฐและหน่วยงานอำนวยการด้านอุบัติภัยท้องถิ่น รวมไปถึงสาธารณชน เพื่อทำงานร่วมกับระบบการเตือนภัยจากสึนามิ โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือการเพิ่มความปลอดภัยของสาธารณชนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจากคลื่นสึนามิ โดยโครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นตามรูปแบบของการ เตรียมพร้อมรับพายุ ( StormReady ) ที่มีมาก่อน

สำหรับชุมชนในสหรัฐอเมริกาที่เตรียมพร้อมรับมือกับสึนามิจะต้องทำอะไรบ้าง

1. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการยามฉุกเฉิน
2. สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยถึงคนในชุมชนได้
3. ทำแผนรับมือกับภัยสึนามิ
4. จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักให้แก่ชุมชน
5. พร้อมรับสัญญาณเตือนจากศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ หรือใน ระดับภูมิภาค


สำหรับประเทศไทย การเตรียมการล่วงหน้าในด้านการออกแบบอาคาร สถานที่ การจัดทางเดิน การกำหนดบริเวณอันตรายและบริเวณปลอดภัย ทางขึ้นสู่ที่ปลอดภัย และการประกาศแจ้งเตือนต่อชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในราคาที่ไม่สูงมากนัก รวมทั้งเมื่อมีความพร้อมและสร้างความมั่นใจด้วยความไม่ประมาท จะทำให้พื้นที่ของประเทศไทยที่อยู่ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย กลับมาเป็นเมืองน่าอยู่กว่าเดิม

ในส่วนของภาครัฐมีหน้าที่ดังนี้

1. ประสานงานระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือในการจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่คลื่นสึนามิจะมาถึง
2. กำหนดช่องทางการสื่อสารเพื่อการแจ้งเตือนแก่ชุมชนในเขตที่มีความเสี่ยง
3. วางแผนเพื่อกำหนดพื้นที่ที่อันตรายและพื้นที่ปลอดภัยในบริเวณชายฝั่ง ( โอยอิงข้อมูลจากระบบแผนที่ที่แสดงระดับความสูงของพื้นดิน) ประกาศเขตที่เสี่ยงภัย วางโครงสร้างพื้นฐานในการอพยพคน หาที่ปลอดภัยหรือกำหนดให้สถานที่บางแห่งทำหน้าที่เป็นที่หลบภัย
4. สร้างระบบการประสานงานระหว่างบุคลากรจากฝ่ายต่างๆในการทำงานร่วมกันเมื่อเกิดภัย ฝึกคนให้รู้จักระบบการเตือนภัยและหนีภัย ประสานกับสถาบันวิจัย สถานศึกษาและชุมชน เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการเตือนภัยที่เหมาะสม ได้ผล เข้ากับท้องถิ่นและประหยัด
5.ให้ความรู้แก่ประชาชน ข้าราชการและเยาวชน เกี่ยวกับความปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่างๆ ในโรงเรียนและด้วยสื่อที่เหมาะสม


สำหรับหน้าที่ของชุมชนและผู้นำชุมชน

1. จัดกิจกรรมที่สร้างความตระหนักเรื่องภัยธรรมชาติ
2. จัดตั้งคณะกรรมการด้านอุบัติภัยของชุมชน เพื่อวางแผนการทำงานต่างๆและจัดผู้รับผิดชอบ
3. หลีกเลี่ยงการสร้างอาคารที่ไม่ปลอดภัยและเสริมสร้างสิ่งที่ช่วยในการลดภัยจากคลื่นสึนามิ เช่น แนวของพืชยืนต้น การพัฒนาป่าชายเลนให้มีแนวป้องกันธรรมชาติเพิ่มขึ้น
4. จัดทำทางเดินขึ้นสู่ที่สูงและคัดเลือกสถานที่ ซึ่งจัดให้เป็นที่ปลอดภัยจากสึนามิ ทั้งนี้อาจใช้ข้อมูลด้านความสูงจากระบบแผนที่ของทางการ พร้อมติดป้ายแสดงเส้นทาง
5. จัดรูปแบบอาคารและถนน เพื่อลดโอกาสความเสียหายจากสึนามิ
6. จัดทำระบบแจ้งเตือนแก่ชุมชนด้วยระบบเสียงและสื่อที่เหมาะสม เช่น ไซเรน กลอง หอกระจายข่าว วิทยุ โทรทัศน์ SMS
7. จัดบุคลากรให้มีความรับผิดชอบในการรับฟังข่าวสารจากส่วนกลางที่มีข้อมูลแจ้งภัยสึนามิ
8. จัดการฝึกซ้อมการแจ้งเตือนภัย รวมทั้งการอพยพอย่างเป็นระเบียบและปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ


ควรทำอย่างไรเมื่อเกิดคลื่นสึนามิ

1. หากอยู่ที่บ้านหรือสถานที่ต่างๆ และได้ยินประกาศเตือนภัยคลื่นสึนามิ ต้องแจ้งให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนทราบ และถ้าอยู่ในเขตที่ต้องอพยพเมื่อเกิดสึนามิ ควรอพยพทันที โดยเคลื่อนย้ายด้วยความสงบ สุขุมและไม่เสี่ยงอันตรายไปยังสถานที่ปลอดภัย
2. หากอยู่ที่ชายหาด ใกล้มหาสมุทร ใกล้แม่น้ำหรือลำธารที่ไหลลงมหาสมุทรและรู้สึกว่าแผ่นดินสั่นสะเทือนให้รีบย้ายไปยังพื้นที่ที่สูงกว่าทันทีและหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ต่ำใกล้ชายฝั่ง โดยไม่ต้องรอเสียงประกาศเตือนภัย เพราะคลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวบริเวณใกล้ สามารถเข้าถล่มบางพื้นที่ได้ก่อนที่จะมีการประกาศเตือน
3. หากอยู่ในเรือ อย่านำเรือกลับเข้าฝั่ง คลื่นสึนามิสามารถทำให้ระดับน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดกระแสน้ำแปรปรวนมากและเป็นอันตรายในบริเวณชายฝั่งและท่าเรือ
4. ท่าเรือขนาดใหญ่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมดูแลของหน่วยงานการท่าเรือ และ/หรือระบบควบคุมการจราจรทางน้ำ หน่วยงานดังกล่าวจะควบคุมและดำเนินการต่างๆเพื่อเพิ่มความพร้อมในการรับสถานการณ์ ซึ่งหากมีการเคลื่อนย้ายเรือ ควรจะติดต่อกับหน่วยงานที่มีอำนาจ

แม้ว่าคลื่นสึนามิจะมีอันตรายอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังนั้น จึงไม่ควรตื่นตระหนกกังวลจากภัยพิบัติธรรมชาติจนเกินไป แต่หากรู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณที่ยืนอยู่หรือได้ยินเสียงประกาศเตือนภัยจากคลื่นสึนามิ ก็ขอให้รีบบอกต่อญาติและเพื่อนๆในบริเวณนั้นให้ทราบและรีบอพยพไปยังบริเวณที่สูงโดยเร็ว




จาก ..................... สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 31 มีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม