ดูแบบคำตอบเดียว
  #32  
เก่า 28-05-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default


กระชับพื้นที่คืนความจริง “วันโลกหายนะ” (ต่อ)



ภาพแสงเหนือจากลมสุริยะที่อลาสกา (John Russell/NASA)


- ซากดาวส่องตรงรังสีแกมมาเผาโลกเป็นจุณ

การระเบิดของรังสีแกมมา (Gamma Ray Burst: GRB) เป็นปรากฏการณ์ส่งรังสีแกมมาจากซากของดวงดาวที่กำลังดับสูญ และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับดวงดาว ซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 10 เท่าขึ้นไป โดยปกติดาวฤกษ์มีปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเป็นแหล่งพลังงาน ซึ่งจะหลอมรวมธาตุเล็กให้กลายเป็นธาตุใหญ่ และให้พลังงานออกมา เสมือนมีแรงระเบิดนิวเคลียร์อยู่ภายในดวงดาว

ขณะเดียวกันดาวฤกษ์ยังมีแรงโน้มถ่วงดึงมวลกลับมาอยู่รวมกัน จึงเปรียบได้กับการชักเย่อระหว่างแรงระเบิดกับแรงโน้มถ่วง เมื่อธาตุตั้งต้นหมดลงการระเบิดก็น้อยลง ทำให้แรงโน้มถ่วงชนะและเริ่มดึงให้ดาวยุบลง

อย่างไรก็ดี การยุบตัวของดาวนั้น มีปลายทางที่แตกต่างกัน ดาวบางดวงยุบตัวอย่างเงียบสงบและหมดพลังงานไป บางดวงเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ขึ้นอีกเนื่องจากแรงโน้มถ่วงทำให้เกิดการหลอมรวมของธาตุครั้งใหม่

บางดวงเกิดระเบิดอย่างรุนแรงเรียกว่า “โนวา” (nova) หรือ “ซูเปอร์โนวา” (supernova) กลายเป็นเนบิวลาและเกิดการรวมตัวของก๊าซกลายเป็นดาวอีกรอบ บางดวงยุบตัวอย่างรวดเร็วและกลายเป็นหลุมดำ แต่บางครั้งเกิดการยุบตัวและเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่รุนแรงพร้อมๆกัน ทำให้เกิดรังสีแกมมาความเข้มสูงส่งออกมาในทิศทางที่แน่นอนและเป็นลำแคบๆหรือเรียกว่าการระเบิดของรังสีแกมมานั่นเอง

“ถ้าส่องมายังโลก ก็ตายหมดทั้งโลก การระเบิดของรังสีแกมมาการระเบิดของรังสีแกมมานี้ น่ากลัวมาก แต่ต้องกลัวไหม ไม่ต้องกลัว เพราะถ้าเกิดขึ้นก็รวดเร็วมากจนเราไม่ทันได้รู้สึก เนื่องจากรังสีเดินทางด้วยความเร็วแสง" ผศ.พงษ์กล่าว

อย่างไรก็ดี ผศ.พงษ์กล่าวเผยว่า โอกาสดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะอย่างแรกต้องเกิดใกล้ๆเรา ประมาณกาแลกซีถัดไป และต้องหันมาทางเราพอดี ซึ่งดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เราที่สุดคือดาวพรอกซิมา (Proxima) อยู่ไกลออกไป 4.2 ปีแสง แต่มีขนาดเพียง 1 ใน 10 ของดวงอาทิตย์ เมื่อดาวดวงนี้ดับ จะไม่เกิดระเบิดรังสีแกมมาแน่นอน แต่ถ้าถึงวันหนึ่งเราจะต้องไป เราก็ต้องไป.


****************************************************


*กิจกรรมสุริยะ (solar activities) คือปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ ได้แก่

- การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ (solar flare) เป็นการปะทุของก๊าซร้อนภายในดวงอาทิตย์เมื่อมีช่องโหว่ที่ผิวดวงอาทิตย์ ทำให้ก๊าซร้อนกว่า 20,000 องศาเซลเซียสปะทุออกมาที่ดวงอาทิตย์ซึ่งปกติมีอุณหภูมิประมาณ 6,000 องศาเซลเซียส เห็นเป็นแสงเจิดจ้าที่ผิวดวงอาทิตย์

- โพรมิเนนซ์ (prominence) เป็นพวยก๊าซที่พุ่งออกมา แล้วพุ่งกลับเหมือนมีท่อเป็นทางเดิน ซึ่งท่อดังกล่าวจริงๆแล้ว คือสนามแม่เหล็กที่บังคับให้พวยก๊าซพุ่งกลับสู่ดวงอาทิตย์ ขนาดของพวยก๊าซใหญ่กว่าโลกและดวงจันทร์

- ลมสุริยะ (solar wind) เป็นอนุภาคมีประจุที่ส่งมาจากดวงอาทิตย์พร้อมสนามแม่เหล็กระยะสั้นหรือเรียกว่าพายุสุริยะเมื่อมีความรุนแรงกว่าและอนุภาคถูกส่งพุ่งออกไปทั่วๆ การพ่นมวลจากดวงอาทิตย์ (coronal mass ejection: CME) เป็นอนุภาคของดวงอาทิตย์ที่พุ่งออกมาเป็นลำ ด้วยความเร็วสูงและมีทิศทางค่อนข้างแคบ เมื่อพุ่งมาแต่ละครั้งสามารถกลบโลกได้มิด โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาโลกได้รับลำอนุภาคนี้ ส่งผลให้การสื่อสารขัดข้องและสำนักข่าวบีบีซีได้ออกประกาศเตือนถึงเรื่องนี้ด้วย

- จุดมืด (sunspots) เป็นจุดดำบนดวงอาทิตย์ ค้นพบครั้งแรกเมื่อประมาณ 400 ปีก่อนโดย กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) หลังจากเขาประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์แล้วส่องขึ้นไปบนฟ้า โดยที่ยังไม่ทราบว่าการส่องดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่านั้นเป็นอันตราย ข้อดีของจุดมืดคือทำให้ทราบว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบตัวเอง และจุดมืดนี้มีหลายจุดเพิ่มขึ้น-ลดลงอยู่เสมอ




จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 28 พฤษภาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม