ดูแบบคำตอบเดียว
  #56  
เก่า 03-01-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,115
Default


ปี 53 ภัยธรรมชาติมาทุกรูปแบบ อากาศแปรปรวน แรงกว่าสถิติ 100 ปี



เมื่อมองในแง่ "ภัยธรรมชาติ" ปี 2553 ถือเป็นปีที่มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว คลื่นความร้อน น้ำท่วม ภูเขาไฟปะทุ ซูเปอร์ไต้ฝุ่น สึนามิ พายุหิมะ ดินถล่ม และภัยแล้ง ที่คร่าชีวิตมนุษย์รวมกันอย่างน้อย 2.5 แสนคน หรือสูงกว่ายอดผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมูลค่าอีกมหาศาล

ความเข้มข้นของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้คำว่า "ที่สุดในรอบ 100 ปี" แทบจะหมดความหมาย เพราะภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่ไม่ธรรมดา

และแม้ว่าหายนะจากธรรมชาติ บางส่วนเกิดขึ้นตามวัฏจักรปกติ แต่ต้องยอมรับว่า "น้ำมือมนุษย์" ทำให้ภัยธรรมชาติเหล่านี้รุนแรงยิ่งกว่าเดิมหลายเท่าตัว และทำให้ปี 2553 กลายเป็นปีที่เกิดภัยธรรมชาติแบบสุดขั้วหลายต่อหลายครั้ง

เมื่อผนวกกับการก่อสร้างและการพัฒนาที่ด้อยคุณภาพ ทำให้เหตุการณ์แผ่นดินไหวหลายครั้งคร่าชีวิตมนุษย์มากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะปัจจุบันมีคนยากจนจำนวนมากขึ้นอาศัยอยู่ในบ้านเรือนที่ไม่แข็งแรงพอที่จะต้านภัยธรรมชาติอันหนักหน่วง ดังนั้นจึงหมายความว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือพายุไซโคลน ก็จะทำให้มีคนเสียชีวิตมากขึ้นด้วย

เริ่มต้นศักราชในเดือนมกราคมด้วยแผ่นดินไหวในเฮติ ที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปกว่า 220,000 คน ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมากขนาดนี้คือ คนส่วนใหญ่ยากจนและอยู่อาศัยในบ้านที่สร้างอย่างไร้มาตรฐาน ทั้งนี้ ริชาร์ด ออลสัน ผู้อำนวยการฝ่ายลดความเสี่ยงภัยธรรมชาติแห่งฟลอริดา อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี้มองว่า หากเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงขนาดเดียวกันในปี 2528 น่าจะมีผู้เสียชีวิตเพียง 80,000 คนเท่านั้น

จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ เกิดแผ่นดินไหวในชิลี ซึ่งแม้ว่าจะมีความรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้นในเฮติ แต่เนื่องจากเกิดในบริเวณที่มีประชากรอยู่อาศัยน้อย และอาคารก่อสร้างดีกว่า ทำให้มีคนเสียชีวิตเพียง 1,000 คน

ทั้งนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศชี้ว่า ภูมิอากาศโลกกำลังเปลี่ยนแปลง จากผลของโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ทำให้เกิดภาวะอากาศรุนแรงแบบสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนเรื่อยไปถึงน้ำท่วม

อย่างเช่นที่เกิดในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เพราะขณะที่รัสเซียประสบภัยจากคลื่นความร้อนอันหนักหน่วง แต่กลับเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน จมพื้นที่ราว 62,000 ตารางไมล์ หรือขนาดเท่ากับ รัฐวิสคอนซินของสหรัฐ สภาพอากาศที่มีทั้งร้อนและพายุในคราวเดียวกัน คร่าชีวิตมนุษย์เกือบ 17,000 คน หรือมากกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเสียอีก

คราวนี้ลองมาดูสถิติต่างๆของภัยธรรมชาติในรอบปีที่ผ่านมาในหลากแง่มุมกันบ้าง


คร่าชีวิตมนุษย์มากแค่ไหน ?

ขณะที่แผ่นดินไหวในเฮติ คลื่นความร้อนในรัสเซีย และน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน คือภัยธรรมชาติที่คร่าชีวิตมนุษย์ครั้งใหญ่ที่สุด ปี 2553 ถือเป็นปีที่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นถี่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ๆในชิลี ตุรกี จีน อินโดนีเซียเช่นกัน และหากนับจนถึงกลางเดือนธันวาคม พบว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาดตั้งแต่ 7.0 ริกเตอร์ขึ้นไปถึง 20 ครั้ง เทียบกับในอดีตที่เคยเกิดเพียง 16 ครั้งต่อปีเท่านั้น

ในอีกด้านหนึ่ง ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า หากนับถึงเดือนกันยายน ภัยน้ำท่วมคร่าชีวิตมนุษย์ไปกว่า 6,300 ชีวิต ใน 59 ประเทศ มีหลายประเทศที่ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นจีน อิตาลี อินเดีย โคลัมเบีย ชาด ฟิลิปปินส์ จีนบางส่วน ออสเตรเลีย รวมถึงไทยที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในแถบภาคอีสาน ภาคกลางบางส่วน และภาคใต้บางส่วน ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 ชีวิต สร้างความเสียหายต่อเรือกสวนไร่นา และย่านธุรกิจสำคัญมหาศาล

หากรวมผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติทุกประเภท สวิสรีระบุว่า นับถึงวันที่ 30 พ.ย.มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกเกือบ 260,000 คน เทียบกับยอดผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติ 15,000 คนในปี 2552


รุนแรงเพียงใด ?

หลังจากพายุหิมะพัดถล่มสหรัฐ รวมถึงเหตุการณ์หิมะตกหนักในรัสเซียและจีนเมื่อช่วงต้นปี อุณหภูมิในโลกก็แปรปรวนกลายเป็นร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุว่า ปี 2553 อาจเป็นปีที่ทำสถิติร้อนที่สุดสำหรับประเทศต่างๆทั่วโลก หรืออย่างน้อยติดอันดับ 1 ใน 3 ของปีที่ร้อนที่สุด ขณะที่ศูนย์ข้อมูลภูมิอากาศแห่งชาติของสหรัฐระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปีเดียวกัน นับถึงสิ้นเดือนตุลาคมอยู่ที่ 58.53 องศาฟาห์เรนไฮต์

และมีหลายพื้นที่ทำสถิติร้อนที่สุด เช่น ลอสแองเจลิส ที่สร้างสถิติร้อนที่สุดถึง 113 องศาฟาห์เรนไฮต์ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. และก่อนหน้านั้นปากีสถานก็เผชิญกับวันที่ร้อนที่สุดที่ระดับ 129 องศาฟาห์เรนไฮต์เช่นกัน

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ เริ่มต้นปีด้วยอากาศหนาวเย็นในฟลอริดา ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นฤดูร้อนที่สุดของพื้นที่ดังกล่าว

และมาส่งท้ายในช่วงคริสต์มาสที่ควรเป็นเวลาของการฉลองอย่างมีความสุขกับครอบครัว แต่คนจำนวนมากกลับต้องนั่งแกร่วอยู่ตามสนามบินในหลายประเทศของยุโรป เพราะหิมะตกหนักทำให้จราจรทางอากาศและการคมนาคมทางบกระหว่างเมืองในยุโรปเป็นอัมพาตไปหลายวัน เช่นเดียวกับเหตุการณ์พายุหิมะที่พัดถล่มฝั่งตะวันออกของสหรัฐหลังวันคริสต์มาส ที่ส่งผลให้การคมนาคมทางบกและทางอากาศหยุดชะงักไปเช่นกัน และมีการยกเลิกเที่ยวบินไปกว่า 6,000 เที่ยว

ด้านภาคเหนือของออสเตรเลียพบกับฝนตกหนักที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม แต่ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้กลับพบภัยแล้งอย่างหนัก เช่นเดียวกับลุ่มน้ำอะเมซอนที่พบกับปัญหาภัยแล้งด้วยระดับน้ำต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์


ความเสียหายมหาศาล

สวิส รี ประเมินว่า ภัยธรรมชาติสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.22 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2553 หรือมีมูลค่า สูงกว่าขนาดเศรษฐกิจฮ่องกง แต่แม้ว่าจะเป็นสถิติสูงกว่าปกติ แต่ก็ไม่ใช่สถิติสูงสุดเพราะภัยธรรมชาติในรอบปีดังกล่าวมักเกิดในพื้นที่ยากจนที่ไม่มีการประกันภัย เช่น เฮติ เป็นต้น


ประหลาดอย่างไร ?

เหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุในไอซ์แลนด์ส่งผลให้จราจรทางอากาศในน่านฟ้ายุโรปเป็นอัมพาตต่อเนื่องหลายวัน ทำให้คนกว่า 2 ล้านคนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแผนเดินทางเนื่องจากภัยธรรมชาติที่เหนือการคาดคิดนี้ นอกจากนี้ยังมีการปะทุของภูเขาไฟในอีกหลายพื้นที่ เช่น คองโก กัวเตมาลาซิตี เอกวาดอร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้คนต้องหนีหลบภัย ขณะที่นิวยอร์กซิตีต้องเผชิญกับพายุทอร์นาโดที่เกิดขึ้นน้อยมากในแถบนั้น และฝั่งตะวันออกของสหรัฐถูกถล่มด้วยพายุหิมะอย่างหนักหน่วง

ส่วนประเทศในเอเชียอย่างอินโดนีเซีย พบกับภัยธรรมชาติ หนัก ๆ ถึง 3 ระลอก ในรอบ 24 ชั่วโมงเมื่อเดือนตุลาคม เริ่มจากแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ ที่ส่งผลให้เกิดสึนามิตามมาคร่าชีวิตคนไปกว่า 500 ชีวิต ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยภูเขาไฟปะทุที่ทำให้คนกว่า 390,000 คนต้องหนีภัยชั่วคราว ภัยพิบัติระลอกดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่แดนอิเหนาต้องรับมือกับอุทกภัย แผ่นดินถล่ม และ แผ่นดินไหวหลายครั้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนไปแล้วในช่วงต้นปี

หากมองในแง่ความประหลาดสุดขั้ว ปี 2553 ถือเป็นตัวอย่าง ที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเริ่มต้นปีด้วยปรากฏการณ์ "เอลนิโญ" ที่ส่งผลให้เกิดภาวะภูมิอากาศแบบสุดขีดไปทั่วโลก ก่อนที่จะเกิดภาวะ "ลานินญา" ที่เป็นสาเหตุของอากาศสุดขั้วในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญและลานินญาแบบเข้มข้นในรอบปีเดียวกันถือเป็นเรื่อง "ไม่ปกติ" เลย




จาก ..................... ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 3 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม