ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 19-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


วิกฤตโควิด-19 กำลังซ้ำเติมวิกฤตขยะพลาสติกหรือไม่ ...................... โดย พิชา รักรอด

จริงๆ แล้ว ปี 2563 ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิเสธพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งของไทย ผลสำรวจของ Kantar ผู้นำด้านข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาการตลาดระดับโลก พบว่า ขยะพลาสติก เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยตระหนักมากที่สุดเป็นอันดับ 1 สูงถึง 18% มากกว่าค่าเฉลี่ยจากผลสำรวจประชากรทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 15% ของผู้คนทั้งหมด โดย 63% ของคนไทยมองว่าขยะพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหลักติด 5 อันดับแรก อีกด้านหนึ่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) จับมือโมเดิร์นเทรด เลิกแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้าถาวร ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา ในขณะที่ตลาดสด ร้านขายของชำ รัฐขอความร่วมมือขยับปรับตัวตาม ตั้งเป้าเลิกใช้ทั่วไทย 1 มกราคม 2564 พร้อมดันกฎหมายบังคับใช้ควบคู่การประชาสัมพันธ์ นับเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทยในการต่อกรกับมลพิษพลาสติกภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 แต่วิกฤต COVID-19 พลิกผันสถานการณ์นี้จากหน้ามือเป็นหลังมือ


เนื้อหาโดยสรุป

- เมื่อวิกฤต Covid-19 ทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง เราจึงพอคาดการณ์ถึงปริมาณขยะจากการบริโภคของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล เราหวังว่า วิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 จะไม่สร้างปัญหาใหม่ คือ มลพิษพลาสติกและวิกฤตการจัดการของเสีย

- ปี 2564 จะไม่ใช่ปีของการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่เป็นปีที่เรายังคงเดินหน้าลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง มุ่งสู่การใช้วัสดุอุปกรณ์ใช้ซ้ำและนำภาชนะไปเติม เพื่อลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

- เมื่อกระบวนการรีไซเคิลและการจัดการขยะยังไร้ประสิทธิภาพและไม่มีความยั่งยืนที่จะจัดการขยะ แล้วยังมีขยะจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นในช่วงเกิดวิกฤตและหลังจากเกิดวิกฤตอีก ถ้าเรายังไม่ตระหนักถึงมลพิษพลาสติกที่จะเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงช่วงหลังจากนี้ และเปิดให้ใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เราจะต้องเผชิญกับวิกฤตทางนิเวศวิทยาจากมลพิษพลาสติกทบเท่าทวีคูณ

- รัฐบาลต้องยกระดับ roadmap ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่อย่างเร่งด่วน เริ่มต้นการตั้งเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะลงให้มากที่สุด เพิ่มประสิทธิภาพการแยกขยะในทุกระดับ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนให้เห็นว่าการแยกขยะเป็นหัวใจสำคัญของการลดปริมาณขยะ


ความพยายามที่สูญเปล่า?


กิจกรรม เก็บ สังเกต บันทึก รู้จักที่มาของขยะผ่านแบรนด์ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลขยะพลาสติกที่พบว่ามีชนิดใดและมาจากแบรนด์ใดมากที่สุด และเรียกร้องให้บริษัทต่างๆแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหามลพิษอันเกิดจากขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ? Baramee Temboonkiat / Greenpeace

เราได้เห็นการฟื้นคืนชีพของพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอีกครั้ง ร้านกาแฟต่างๆ ประกาศงดรับภาชนะใช้ซ้ำของลูกค้า พนักงานของร้านบริการเฉพาะแก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งของทางร้าน ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งประกาศงดรับภาชนะใช้ซ้ำของลูกค้าที่พวกเขานำไปใส่อาหารสด ร้านอาหารและร้านกาแฟถูกบังคับให้บริการแบบซื้อกลับบ้านเท่านั้น และเมื่อประชาชนจำเป็นต้องอยู่แต่ในบ้าน การบริการสินค้าแบบเดลิเวอรี่จึงได้รับความนิยมอย่างมาก ข้อมูลจากผู้ให้บริการส่งอาหารแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ยอดการใช้บริการดิลิเวอรี่เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติถึง 3 เท่า

เมื่อวิกฤต Covid-19 พลิกโลกเช่นนี้ เราจึงพอคาดการณ์ถึงปริมาณขยะจากการบริโภคของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล ในประเทศไทยมีข้อมูลระบุว่า ขยะจากบริการส่งอาหาร ประกอบด้วยถุงพลาสติก กล่องพลาสติก และพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นช้อน ส้อม ไม้จิ้ม เพิ่มขึ้น 15% จาก 1,500 ตันต่อวันเป็น 6,300 ตันต่อวัน รายงานข่าวยังระบุด้วยว่าปริมาณขยะพลาสติกซึ่งเดิมอยู่ในราว 2 ล้านตันต่อปี ได้เพิ่มขึ้นอีก 30% และเมื่อขยะส่วนใหญ่ปนเปื้อนเศษอาหารและไม่มีการแยกขยะที่เหมาะสม ในที่สุดวัสดุเหลือใช้ทั้งหลายก็จะถูกนำไปสู่หลุมฝังกลบ


บรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ปนเปื้อนเศษอาหาร ไม่มีการแยกที่เหมาะสมทำให้การจัดการขยะยากยิ่งกว่าเดิม ? Baramee Temboonkiat / Greenpeace

เราหวังว่า วิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 จะไม่สร้างปัญหาใหม่ คือ มลพิษพลาสติกและวิกฤตการจัดการของเสีย และปี 2564 จะไม่ใช่ปีของการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่เป็นปีที่เรายังคงเดินหน้าลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง มุ่งสู่การใช้วัสดุอุปกรณ์ใช้ซ้ำและนำภาชนะไปเติม เพื่อลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มาพร้อมกับสินค้า


ใครใช้โอกาสจากวิกฤตในครั้งนี้

งานวิจัยที่ทำในสหรัฐอเมริกา แจกแจงรายละเอียดให้เห็นว่า ท่ามกลางวิกฤต Covid-19 อุตสาหกรรมพลาสติกอาศัยความวิตกกังวลของประชาชนเพื่อผลักดันและขยายการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งและปัดตกข้อเสนอกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก จดหมายจากผู้อำนวยการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติก ในสหรัฐอเมริกาถึงรัฐมนตรีกระทรวงสุขภาพและการบริการมนุษย์ระบุว่าขอให้ยุติการยกเลิกใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งเพราะมันเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดในการต่อสู้กับการระบาดของไวรัส Covid-19

งานวิจัยใน the New England Journal of Medicine พบว่า COVID-19 อยู่กับผิวพลาสติกได้ถึงสามวัน เราได้เห็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทิ้งพลาสติกหลังการใช้ การที่ไวรัสสามารถอยู่บนผิวพลาสติกได้นานกว่าบนผิวกระดาษหรือวัสดุอื่นๆ อาจเกิดความเสี่ยงขึ้นหากมีผู้มาสัมผัสวัสดุพลาสติกที่ถูกทิ้งออกไป

ในประเทศไทย อุตสาหกรรมพลาสติกเปิดเผยว่า ยอดขายพลาสติกภายในประเทศและส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40-50 ในช่วงของการล็อคดาวน์และยอดขายในหมวดหมู่บรรจุภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และระบุเพิ่มเติมว่า ยอดขายบรรจุภัณฑ์อาหารย่อยสลายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 อีกด้วยขณะที่ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทยมองว่า รัฐบาลควรขยับ Roadmapการจัดการขยะพลาสติกออกไป โดยเฉพาะแผนเดิมที่กำหนดให้ตลาดสดในการดูแลของราชการห้ามใช้ถุงพลาสติกวันที่ 1 มกราคม 2564 รวมไปถึงการกำหนดระยะเวลางดใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทั้งหมดภายในในปี 2565


แอปเปิ้ลที่ถูกบรรจุในบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ? Patrick Cho / Greenpeace

เมื่อกระบวนการรีไซเคิลและการจัดการขยะยังไร้ประสิทธิภาพและไม่มีความยั่งยืนที่จะจัดการขยะก่อนวิกฤตโควิด แล้วยังมีขยะจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นในช่วงเกิดวิกฤตและหลังจากเกิดวิกฤตอีก ถ้าเรายังไม่ตระหนักถึงมลพิษพลาสติกที่จะเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงช่วงหลังจากนี้ และเปิดให้ใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เราจะต้องเผชิญกับวิกฤตทางนิเวศวิทยาจากมลพิษพลาสติกทบเท่าทวีคูณ และนี่ไม่ใช่อนาคตที่เราต้องการ

แน่นอนว่า เราต้องให้ความสําคัญกับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส แต่เราไม่ควรปล่อยให้เกิดสถานการณ์ที่มีการใช้วิกฤตโรคระบาดมาเป็นข้ออ้างในการเพิ่มพลาสติกใช้แล้วทิ้ง


มุ่งไปสู่อนาคตที่เราต้องการ

แม้ในสถานการณ์ปกติการยกเลิกพลาสติกใช้แล้วทิ้งภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ยังถูกพิจารณาจากหลายฝ่ายว่าล่าช้าเกินไปไม่ทันต่อวิกฤตมลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้น ในขณะที่วิกฤต Covid-19 ส่งผลให้เกิดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มขึ้นในปริมาณมหาศาล ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ แทนที่จะขยับ roadmap ออกไป รัฐบาลต้องยกระดับ roadmap ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่อย่างเร่งด่วน เริ่มต้นการตั้งเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะลงให้มากที่สุด เพิ่มประสิทธิภาพการแยกขยะในทุกระดับ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนให้เห็นว่าการแยกขยะเป็นหัวใจสำคัญของการลดปริมาณขยะและนำไปสู่ทางเลือกในการต่อกรกับมลพิษพลาสติก


กล่องใส่อาหารแบบใช้ซ้ำลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ? Patrick Cho / Greenpeace

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด เรากำลังยืนอยู่บนทางแพร่งที่ต้องเลือก ทางหนึ่งคือภายใต้มาตรการและกฎข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียที่ไม่ยั่งยืนทั้งในทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ที่เอื้อให้มีการผลิตและใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งปริมาณมหาศาลหรืออีกทางหนึ่งคือมุ่งไปสู่การจัดการของเสียที่มีเป้าหมายเพื่อลดขยะ แยกขยะและไร้ขยะซึ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ ก่อให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่า ถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมธุรกิจที่ยั่งยืนและสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือการปกป้องสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติจากภัยคุกคามของมลพิษพลาสติกที่จะตามมาในอีกระลอกหนึ่ง


https://www.greenpeace.org/thailand/...d-19-sitution/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม