ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 19-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ตื่นเต้น! "วาฬหลังค่อมสีขาว" วาฬเผือกที่หายาก โผล่โชว์ตัวนอกชายฝั่งออสเตรเลีย


Migaloo วาฬหลังค่อมสีขาวชื่อดัง (ภาพ Twitter : Migaloo the Whale)

นักดูวาฬรายงานการพบเห็น "วาฬหลังค่อมสีขาว" หรือวาฬหลังค่อมเผือกที่พบเห็นได้ยาก ในบริเวณนอกชายฝั่งของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย โดยคาดว่าน่าจะเป็นเจ้า "Migaloo" วาฬหลังค่อมสีขาวชื่อดังแห่งมหาสมุทร

สำนักข่าว Daily Mail รายงานข่าวว่านักดูวาฬออสเตรเลีย รายงานการพบ "วาฬหลังค่อมสีขาว" บริเวณนอกชายฝั่งของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นเจ้า "Migaloo" วาฬหลังค่อมสีขาวชื่อดังหรือไม่

รายงานดังกล่าวทำให้เหล่านักดูวาฬเตรียมตัววางแผนเพื่อเฝ้ารอชมวาฬชื่อดังตัวนี้

ดร. Vanessa Pirotta นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลของมหาวิทยาลัย Macquarie กล่าวว่าเป็นการยากที่จะระบุว่าเป็นเจ้า Migaloo จริงหรือไม่เมื่อสังเกตจากชายฝั่ง โดย Migaloo เป็นหนึ่งในวาฬหลังค่อมจาก 40,000 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นตัวที่มีความพิเศษเนื่องจากสีที่ผิดปกติ

มีการพบ Migaloo ครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 รอบอ่าว Hervey Bay และนักวิจัยได้ติดตามมันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก เชื่อว่าเป็นวาฬสีขาวตัวแรกในประชากรวาฬหลังค่อมตะวันออก และชื่อ Migaloo ก็มีความหมายว่า "เจ้าตัวขาว" ในภาษาของชนพื้นเมือง

ระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤษจิกายน ของทุกปี จะเป็นฤดูกาลอพยพของวาฬหลังค่อม จากทวีปแอนตาร์กติกา ไปยังเขตน้ำอุ่นทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย จากนั้นก็จะมีการผสมพันธุ์กัน ก่อนจะย้ายกลับไปอยู่ทางใต้พร้อมกับประชากรรุ่นใหม่


https://mgronline.com/travel/detail/9630000063086


*********************************************************************************************************************************************************


"Wi-Fi ใต้น้ำ" แจ้งเกิดครั้งแรก ปูทางนักดำน้ำออนไลน์ผ่านเลเซอร์



นักวิจัยซาอุฯ แจ้งเกิดอุปกรณ์กระจายสัญญาณเครือข่ายข้อมูลไร้สายไว-ไฟ (Wi-Fi) ใต้น้ำ สานฝันนักดำน้ำแชร์ภาพเรียลไทม์ผ่านระบบออนไลน์ เบื้องต้นใช้คลื่นวิทยุและลำแสงเลเซอร์จากแอลอีดี (LED) ในการส่งข้อมูลจากน่านน้ำสู่ภาคพื้นดิน ความเร็วถ่ายโอนข้อมูลเบื้องต้นวัดได้ 2.11 เมกะไบต์ต่อวินาที

อุปกรณ์ส่งสัญญาณ Wi-Fi ใต้น้ำมีชื่อเรียกว่า "อะควา-ไฟ" (Aqua-Fi) เป็นผลงานของบาเซ็ม ชิฮาดา (Basem Shihada) นักวิจัยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคิงอับดุลาห์ (King Abdullah University of Science and Technology) นักวิจัยรายนี้อธิบายแนวคิดการพัฒนาว่าเป็นการหาทางตอบโจทย์ภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการติดตามและสำรวจสภาพแวดล้อมใต้น้ำ ทำให้เกิดการพัฒนาระบบเชื่อมต่อไร้สายใต้น้ำที่สามารถรับส่งข้อมูลได้ตามต้องการ

รายละเอียดที่ทางมหาวิทยาลัยเผยแพร่บนเว็บไซต์ IEEE Xplore ระบุว่า Aqua-Fi ใช้คลื่นวิทยุในการส่งข้อมูลจากสมาร์ทโฟนของนักดำน้ำไปยังอุปกรณ์รับส่งข้อมูลหรือ "เกตเวย์" ที่ติดอยู่กับอุปกรณ์ใต้น้ำ ทั้งหมดนี้จะมี LED เป็นอุปกรณ์ยิงลำแสงเลเซอร์ในการส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์บนบกหรือภาคพื้นดิน ซึ่งจะมีระบบแปลข้อมูลเป็นรูปภาพหรือวิดีโอที่ปลายทาง

สถิติขณะนี้ถูกบันทึกว่านักวิจัยระบบสามารถอัพโหลดและดาวน์โหลดมัลติมีเดียผ่าน Aqua-Fi ด้วยการถ่ายโอนข้อมูลที่ความเร็ว 2.11 เมกะไบต์ต่อวินาที

รายงานยังย้ำว่า Aqua-Fi ส่งข้อมูลโดยใช้ลำแสงเลเซอร์เชื่อมคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งบนผิวน้ำซึ่ง เข้ากับอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม จากนั้นคอมพิวเตอร์จึงจะแปลงข้อมูลภาพถ่ายเป็นชุดข้อมูลศูนย์และหนึ่งจำนวนมหาศาล ซึ่งจะถูกแปลเป็นการเปิดปิดลำแสงเพื่อให้สามารถส่งข้อมูลได้

นอกจากการอัปโหลดและดาวน์โหลดเนื้อหาระหว่างคอมพิวเตอร์ 2 เครื่องที่ถ่ายโอนข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุด 2.11 เมกะไบต์ต่อวินาที การสำรวจยังพบความล่าช้าหรือดีเลย์เฉลี่ย 1.00 มิลลิวินาทีสำหรับการรับส่งข้อมูลไปกลับ

ทีมพัฒนาย้ำว่า ความสำเร็จนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นักดำน้ำสามารถใช้อินเทอร์เน็ตใต้น้ำแบบไร้สายได้อย่างสมบูรณ์ โดยยอมรับว่าความท้าทายที่ทีมกำลังเผชิญ คืออุปสรรคเรื่องลำแสง LED ที่ต้องสอดคล้องกับเครื่องรับในน้ำที่กำลังเคลื่อนหรือกระเพื่อม ทำให้ทีมต้องแน่ใจว่าต้องออกแบบอุปกรณ์ให้เป็นทรงกลม ซึ่งจะช่วยให้การจับแสงทำได้จากทุกมุม

ทีมวิจัยทิ้งท้ายถึงความหวังให้ Aqua-Fi ถูกใช้อย่างกว้างขวางใต้น้ำ เป็นการอุดช่องว่างที่ Wi-Fi สามารถทำงานได้เหนือน้ำเท่านั้น


https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9630000062898

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม