ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 12-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,345
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


อุณหภูมิของผิวน้ำในทะเล และมหาสมุทรสูงขึ้นจากโลกร้อน ส่งผลกระทบที่น่าเป็นห่วงต่อโลก



น้ำในทะเล และมหาสมุทรอุ่นขึ้น จนมีอุณหภูมิที่สูงจนเป็นสถิติ จากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นบนโลกของเรา มีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบนิเวศของโลก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุความแปรปรวนของภัยธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน และมีผลระยะยาวในอนาคต

บนโลกของเรามีพื้นที่ที่เป็นมหาสมุทรอยู่ประมาณ 71 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้มหาสมุทรนั้นเป็นตัวแปรที่สำคัญในการกำหนดสภาพภูมิอากาศของโลก ด้วยการผลิตออกซิเจน และดูดซับอุณหภูมิความร้อนของโลกที่เป็นหน้าที่หลัก

ปัจจุบันอุณหภูมิของน้ำทะเลและมหาสมุทรมีการเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องมาจากการดูดซับความร้อนส่วนเกินจากผิวโลก โดยสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบวงกว้างที่น่าเป็นห่วงในใต้ท้องทะเล ที่อาจส่งผลกระทบถึงมนุษย์บนชายฝั่งอีกไม่ช้า

สถานการณ์ล่าสุดมีการจดบันทึกสถิติอุณหภูมิของผิวน้ำโดย Copernicus ผู้ให้บริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป พบว่า "อุณหภูมิของผิวน้ำพุ่งสูงถึง 20.96 องศาเซลเซียส หรือ 69.73 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยเป็นอย่างมาก"

อุณหภูมิที่สูงขึ้นของน้ำทะเล และมหาสมุทรในครั้งนี้มีข้อมูล และผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ดังนี้

รัฐฟลอริดา มีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงถึง 38.44 องศาเซลเซียส (101 องศาฟาเรนไฮต์) มีอุณหภูมิเสมือนอยู่ในอ่างน้ำร้อน โดยอุณหภูมิปกติควรอยู่ระหว่าง 23 องศาเซลเซียส ถึง 31 องศาเซลเซียส ตามข้อมูลของ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA)

เดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา น่านน้ำของสหราชอาณาจักรมีค่าเฉลี่ยที่สูง 3 ถึง 5 องศาเซลเซียส จากค่ามาตรฐานเดิม รายงานจาก Met Office และ European Space Agency

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ IPCC รายงานไว้ว่า ในช่วงปี พ.ศ.2525 ถึง พ.ศ.2559 มีคลื่นความร้อนในทะเลเพิ่มเป็นสองเท่า ทำให้อุณหภูมิของอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าอุณหภูมิของน้ำมหาสมุทรจะใช้เวลานานในการทำให้ร้อนขึ้น แต่ในปัจจุบันนี้มีสัญญาณว่าอุณหภูมิของน้ำทะเล และมหาสมุทรอาจสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ดร.คารินา วอน ชักมันน์ จาก Mercator Ocean International กล่าวว่า มีหนึ่งทฤษฎีที่ระบุว่าความร้อนที่ดูดซับมาจากอากาศจำนวนมากถูกกักเก็บไว้ในชั้นความลึกของมหาสมุทร แล้วค่อยๆ ปะทุออกมา ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์เอลนีโญในปัจจุบัน ถึงแม้ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่าสถานการณ์ของอุณหภูมิที่สูงขึ้นของพื้นผิวน้ำทะเลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังมีการตรวจสอบเพิ่มเติมว่าทำไมผิวน้ำทะเลจึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก และรวดเร็วกว่าปีก่อนๆ

ดร.ซาแมนธา เบอร์เกส กล่าวว่า อุณหภูมิของน้ำมหาสมุทรสูงขึ้นได้จากการเผาผลาญเชื้อเพลิงของมนุษย์ ยิ่งมนุษย์เราส่งเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเท่าไร ก็จะเป็นตัวแปรที่สำคัญของโลกที่ทำการดูดซับความร้อนส่วนเกินออกไปมากเท่านั้น ซึ่งการที่จะปรับสภาพผิวน้ำมหาสมุทรให้กลับมาเป็นปกติ อาจจะใช้ระยะเวลานานพอสมควร


ผลกระทบจากอุณหภูมิของน้ำมหาสมุทรที่สูงขึ้น

- อุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผมให้การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ซึ่งทำให้ภาวะโลกร้อนของเรายิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

- น้ำแข็งจากขั้วโลกละลายเร็ว ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลนั้นสูงขึ้น

- ระบบนิเวศใต้ท้องมหาสมุทรแปรปรวน เช่น คลื่นความร้อนทำให้เกิดการส่งสัญญาณรบกวนไปยังฝูงปลา และวาฬ จนต้องอพยพเพื่อไปหาพื้นที่ใต้สมุทรที่มีอุณหภูมิน้ำที่เย็นขึ้น ทำให้พื้นที่เหล่านั้นมีห่วงโซ่อาหารที่แปรปรวน ทำให้จำนวนปลาลดลง รวมถึงปลาฉลามมีความเกรี้ยวกราดขึ้นจากอุณหภูมิของน้ำที่เปลี่ยนไป

- ผลกระทบทางธรรมชาติที่ส่งผลแบบลูกโซ่ต่อระบบนิเวศทั้งหมดบนโลก เช่น ป่าไม้ เทือกเขา ปะการัง ป่าชายเลน และอีกมากมาย จะมีผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด

- ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ที่อาจทำให้เกิดภัยทางธรรมชาติได้มากและถี่ขึ้น เช่น เอลนีโญ ลานีญา คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และน้ำท่วม


จากค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นจนทำลายสถิติเมื่อปี 2016 ทำให้ปรากฏการณ์เอลนีโญนั้นทวีความรุนแรงเป็นอย่างมากในปีนี้ และคาดว่าอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตลอดปี ทำให้ปรากฏการณ์ที่เกิดทางธรรมชาติจะทวีคูณความรุนแรงตามไปด้วย เหตุการณ์นี้จึงเป็นนัยสำคัญที่มนุษย์โลกต้องตระหนักถึงเป็นอย่างยิ่ง.

ข้อมูล : bbc


https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2716307


******************************************************************************************************


อาจเป็นสายพันธุ์ แมงกะพรุนเก่าแก่ที่สุด



ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยเกี่ยวกับการขุดพบฟอสซิลติ่งเนื้อจากหินอายุ 560 ล้านปี ทำให้กระจ่างเกี่ยวกับวิวัฒนาการของปะการังในยุคแรกเริ่ม แต่นักวิจัยก็ยังมีข้อสงสัยถึงต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตทางทะเลโบราณอีกหลายชนิด หนึ่งในนั้นก็คือสัตว์จำพวกแมงกะพรุนที่แหวกว่ายในมหาสมุทรและทะเลอย่างอิสระ

แต่เรื่องนี้อาจได้รับการไขคำตอบแล้ว หลังจากนักวิทยาศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์รอยัล ออนทาริโอ ในแคนาดา ได้ศึกษาตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลแมงกะพรุนเกือบ 200 ซากที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ซึ่งขุดพบที่แหล่งฟอสซิลเบอร์เจสส์ เชล (Burgess Shale) ในแคนาดา ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และ 1990 นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ซากดังกล่าวคือแมงกะพรุนสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุด ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อกว่า 505 ล้านปีก่อน นี่จึงเป็นความคืบหน้าที่ทำให้ได้ข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับต้นกำเนิดของสัตว์ชนิดแรกๆสุดบนโลก

แมงกะพรุนสายพันธุ์ใหม่ที่พบนี้มีชื่อว่า Burgessomedusa phasmiformis อยู่ในกลุ่มเมดูโซซัว (medusozoans) มีลักษณะทางกายวิภาคบางประการของแมงกะพรุนว่ายน้ำสมัยใหม่ เช่น เหมือนจานบิน หรือรูปร่างคล้ายกระดิ่ง ระฆัง ตัวอย่างบางตัวอย่างมีความยาวมากกว่า 20 เซนติเมตร ซึ่งสายพันธุ์ Burgessomedusa phasmiformis น่าจะว่ายน้ำได้อย่างอิสระด้วยหนวดของตน ทำให้จับเหยื่อขนาดใหญ่ได้.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2716349


******************************************************************************************************


สำรวจ "ซากดึกดำบรรพ์ฟันฉลาม" สัตว์ทะเลโบราณ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และสำนักงานทรัพยากรธรณี ร่วมกันตรวจสอบ "ซากดึกดำบรรพ์ฟันฉลามวงล้อ" สกุล Helicampodus เพื่อระบุชนิด มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นชนิดใหม่ของโลกที่เก่าแก่สุดในสกุลเดียวกัน



วันที่ 11 สิงหาคม 2566 จากกรณีกรมทรัพยากรธรณี พบซากดึกดำบรรพ์ฟันฉลาม สัตว์ทะเลโบราณ ที่เกาะวัวตาหลับ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี หนึ่งเดียวของไทย และหนึ่งเดียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 ได้ร่วมกันตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ในช่วงเดือนกันยายน 2562 ที่พบชากดึกดำบรรพ์ฟันแกนกลางฐานโค้ง มีความใกล้เคียงกับสกุล Helicampodus หนึ่งเดียวของประเทศไทย ซึ่งพบครั้งแรกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มซากดึกดำบรรพ์หลายชนิด และสามารถกำหนดให้ฟันปลาฉลามโบราณมีอายุประมาณ 280-275 ล้านปีก่อน

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 นายประยูร พงศ์พันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง นายจิรศักดิ์ เจริญมิตร ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 ร่วมกับ ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายฟาอิศ จินเดหวา กฟผ. (เหมืองแม่เมาะ) และ Professor Gilles Cuny ผู้เชี่ยวชาญซากดึกดำบรรพ์ปลาฉลาม University Claude Bernard Lyon 1 จากประเทศฝรั่งเศส ได้ทำการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ฟันฉลามวงล้อตรงกลางปากสกุล Helicampodus

สำหรับการศึกษาครั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า "น่าจะมีความเป็นไปได้สูงที่ซากดึกดำบรรพ์ชิ้นนี้จะเป็นชนิดใหม่ของโลกที่แก่สุดในสกุลเดียวกัน ควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม โดยใช้เครื่องมือ Computerized Tomography Scan (CT-Scan) เพื่อช่วยให้การระบุชนิดเป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และสามารถแสดงลักษณะที่อาจถูกบดบังด้วยเนื้อหิน หรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ได้".


https://www.thairath.co.th/news/local/2716628
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม