ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 04-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,335
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


แผ่นดินไหว วาตภัย คลื่นความร้อน แพงแค่ไหนที่มนุษย์ต้องจ่าย?



แผ่นดินไหว วาตภัย และคลื่นความร้อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลต่อมนุษย์ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในปี 2023 มากน้อยแค่ไหนแล้ว?...

เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ซึ่งมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่คาบสมุทรโนโตะ ใกล้จังหวัดอิชิกาวะ ทางฝั่งตะวันตกของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติรับต้นปี 2024 กำลังเป็น "สัญญาณเตือน" จากธรรมชาติที่ส่งต่อถึงการกระทำของ "มนุษยชาติ" หรือไม่?

และในปี 2023 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป "ภัยพิบัติจากธรรมชาติ" สามารถสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงมนุษย์ได้มากแค่ไหน? และอะไรคือ "แนวโน้ม" ที่บริษัทประกันทั่วโลก "วิตกกังวล" จากภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบไหนมากที่สุด วันนี้ "เรา" ไปร่วมพิจารณาจาก "ข้อมูล" เหล่านี้ร่วมกัน...


มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2023 :

จากรายงานสรุปเหตุภัยพิบัติทั่วโลก ไตรมาส 3 ประจำปี 2023 (สิ้นสุด 30 ก.ย. 23) ของ "AON" บริษัทบริหารความเสี่ยงและประกันสุขภาพชั้นนำระดับโลก ระบุว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 1 - ไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 "สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ" รวมกันมากกว่า 295,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (9.9 ล้านล้านบาท) โดยในจำนวนนี้เป็นความถี่จากเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ "สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ" มูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (34,167 ล้านบาท) มากถึง 47 ครั้ง! ซึ่งถือเป็น "จำนวนครั้ง" ที่สูงกว่า "ค่าเฉลี่ยรายปี" ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 35 ครั้งต่อปี

โดย ?เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ" ที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ในปี 2023 คือ "เหตุแผ่นดินไหวในประเทศตุรกีและซีเรีย" โดยคิดเป็น "มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ" ประมาณ 91,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.1 ล้านล้านบาท)

ลำดับที่ 2 คือ เหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศจีน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 370 ศพ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่ารวม 31,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1 ล้านล้านบาท) ส่วนอันดับที่ 3 คือ เหตุภัยแล้งในลุ่มน้ำริโอเดลาพลาตา (Rio de la Plata) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศบราซิล, อาร์เจนตินา และอุรุกวัย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจรวม 10,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (345,000 ล้านบาท)

สำหรับภูมิภาคที่ประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเหตุภัยพิบัติมากที่สุดในปี 2023 คือ ภูมิภาคยุโรป, ตะวันออกกลาง และแอฟริกา หรือ EMEA โดยคิดเป็นมูลค่ารวมสูงถึง 134,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.5 ล้านล้านบาท) โดยมีสาเหตุหลักมาจาก "เหตุแผ่นดินไหว"


เหตุแผ่นดินไหวที่สร้างความสูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์ :

เหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ภูมิภาคโทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2011 ยังคงเป็นเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยที่รุนแรงและสร้างความเสียหายมากที่สุด เพราะนอกจากจะทำให้ทรัพย์สินเสียหายคิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12.3 ล้านล้านบาท) แล้ว ยังทำให้บรรดาบริษัทประกันภัยต่างๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมกันมากถึง 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.6 ล้านล้านบาท) ด้วย

ส่วนเหตุแผ่นดินไหว ที่ทำให้บริษัทประกันภัยเสียค่าใช้จ่ายมากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 คือ เหตุแผ่นดินไหวที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 185 ศพ เมื่อปี 2011 โดยในครั้งนั้น ทรัพย์สินเสียหายคิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.3 ล้านล้านบาท) และบริษัทประกันภัยต่างๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมกัน 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (478,345 ล้านบาท)

*** อ้างอิงข้อมูลจาก Insurance information Institute) ***

ส่วนเหตุแผ่นดินไหวอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายจำนวนมากนั้น ได้แก่ เหตุแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1995 ซึ่งนอกจากทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 6,400 ศพแล้ว ยังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.8 ล้านล้านบาท) ด้วย

ขณะที่เหตุแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวน ประเทศจีน ในปี 2008 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 87,000 ศพ สร้างความเสียหายมูลค่ารวมมากกว่า 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.1 ล้านล้านบาท)


เหตุภัยพิบัติ ที่ทำให้บริษัทประกันมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดปี 2023 :

3 ไตรมาสแรกของปี 2023 บริษัทประกันทั่วโลก ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายไปกับเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติรวมกันสูงถึง 88,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย (75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และค่ามัธยฐาน (62,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี

โดย "ภัยพิบัติทางธรรมชาติ" ที่ทำให้บริษัทประกันภัยทั่วโลก ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 คือ เหตุแผ่นดินไหวในประเทศตุรกีและซีเรีย โดยมีมูลค่ารวม 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (194,754 ล้านบาท)

อย่างไรก็ดี "เหตุวาตภัย" เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งมี "ความถี่ของปรากฏการณ์" ที่บริษัทประกันต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (34,167 ล้านบาท) มากถึง 32 ครั้ง (ในจำนวนนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา รวมกัน 21 ครั้ง) ทำให้บริษัทประกันภัยทั่วโลก ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายรวมกันเป็นจำนวนสูงถึง 59,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 60% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด!

โดยในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เพียงประเทศเดียวสูงถึง 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ! หรือ 1.7 ล้านล้านบาท!


เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในปี 2023 :

อันดับที่ 1 : เหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกีและซีเรีย จำนวนผู้เสียชีวิต 59,259 ศพ

อันดับที่ 2 : เหตุพายุไซโคลนแดเนียล ซัดถล่มลิเบีย กรีซ บัลแกเรีย ตุรกี จำนวนผู้เสียชีวิต 4,361 ศพ

อันดับที่ 3 : เหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศโมร็อกโก จำนวนผู้เสียชีวิต 2,946 ศพ

อันดับที่ 4 : เหตุอุทกภัยในประเทศอินเดีย จำนวนผู้เสียชีวิต 2,432 ศพ

อันดับที่ 5 : เหตุพายุไซโคลนเฟรดดี้ ประเทศแอฟริกาใต้ จำนวนผู้เสียชีวิต 1,432 ศพ


ความเสี่ยงจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี :

รายงานของ AON ยังได้เตือนถึง "ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น" สำหรับภาคประชาชน ภาคธุรกิจและสังคมอีกด้วยว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี กำลังทำให้เกิด "ความเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศในหลายพื้นที่" กำลังจะส่งผลต่อทั้งผู้คน ภาคธุรกิจและสังคมในอนาคต

ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ความร้อนที่พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน ขณะเดียวกัน "คลื่นความร้อน? ยังเข้าปกคลุมทวีปอเมริกาใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแคนาดาในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023 เช่นเดียวกับในหลายๆ ภูมิภาคที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นในสหรัฐฯ และยุโรป ที่ต่างต้องเผชิญกับ ?ความร้อนที่ยืดเยื้อและยาวนานมากขึ้นกว่าปกติ"

ขณะเดียวกัน อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ได้ทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปี จนเป็นเหตุให้ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) คาดการณ์ว่า อาจเป็นผลให้เกิดปรากฏการณ์ "พายุเฮอร์ริเคน" ที่มีทั้งระดับความรุนแรงและความถี่สูงมากกว่าปกติ ในช่วงฤดูแอตแลนติกเฮอร์ริเคน (1 มิ.ย.-1 พ.ย.ของทุกๆ ปี)

ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่น่าเป็นกังวลคือ "คลื่นความร้อน" จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุของทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพราะสิ่งที่ต้องไม่ลืมคือในช่วงปี 2022 คลื่นความร้อนที่เข้าปกคลุมยุโรปเคยทำให้มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนมาแล้วถึงเกือบ 20,000 ศพ

ส่วนผลกระทบต่อภาคธุรกิจนั้น คลื่นความร้อนจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมก่อสร้างและภาคการเกษตร "ลดต่ำลง" อันเป็นผลมาจากความร้อนที่ทำให้แรงงานเกิดความเหนื่อยล้าได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ผลงานวิจัยในสหรัฐฯ พบว่า การสูญเสียผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ในสหรัฐฯ จาก "ปัญหาคลื่นความร้อน" คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (3.4 ล้านล้านบาท) และตัวเลขนี้จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หากอุณหภูมิยังคงพุ่งสูงขึ้นอยู่ต่อไป


https://www.thairath.co.th/scoop/world/2752397

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม