ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 17-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is online now
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,251
Default

ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย


วางทุ่นชุดใหม่ทะเลอันดามันตรวจวัดคลื่นสึนามิ

ภูเก็ต 16 พ.ย.- รองอธิบดี ปภ. ลงภูเก็ตปล่อยเรือวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิทะเลอันดามัน แทนชุดเดิมที่ครบวงรอบ 2 ปี บำรุงรักษา กำหนดแล้วเสร็จ 29 พ.ย.นี้ ชี้เป็นอุปกรณ์เตือนภัยมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว หลังเกิดคลื่นยักษ์ถล่ม 26 ธ.ค.47 ชายฝั่ง 6 จังหวัด หลายชีวิตดับสูญ



วันนี้ (16 พ.ย.) นายเชษฐา โมลิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานพิธีปล่อยเรือวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียชุดใหม่ทดแทนทุ่นเดิมที่ครบวงรอบการบำรุงรักษา โดยมีว่าที่ร้อยตรีวิกรม จากที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธี ณ ท่าเทียบเรือน้ำลึก ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

นายเชษฐา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลในมหาสมุทรอินเดีย ทำให้มีแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวจนเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิ ทำลายบ้านเรือนและสถานที่ท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียและ 6 จังหวัดฝั่งอันดามันของประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบ มีทั้งประเทศไทย อินโดนีเซีย ศรีลังกา และอินเดีย และจากเหตุการณ์ดังกล่าว ประเทศไทยได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ในการแจ้งเตือนภัยสึนามิ ร่วมกับองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา และได้รับมอบทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ จากหน่วยงานดังกล่าว เมื่อเดือนธันวาคม 2549 โดยประกอบด้วย ทุ่นลอยพร้อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชุดอุปกรณ์วัดความดันใต้ท้องทะเล ซึ่งมีการติดตั้งห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกประมาณ 965 กิโลเมตร ต่อมารัฐบาลไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิเพิ่มเติมเป็นจุดที่ 2 ในทะเลอันดามัน เมื่อเดือนมกราคม 2560 ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 290 กิโลเมตร ซึ่งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิทั้ง 2 จุด มีการบำรุงรักษาตามมาตรฐานผู้ผลิตอย่างต่อเนื่องในทุก 2 ปี เพื่อให้ตรวจวัดคลื่นสึนามิ ให้มีความพร้อมใช้งานและมีประสิทธิภาพตลอดระยะเวลา

นายเชษฐา กล่าวว่า การวางทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิชุดใหม่นี้ มีกำหนดเดินทางออกจากฝั่งในวันนี้ และจะใช้เวลาดำเนินการเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งจะแล้วเสร็จในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันของประเทศไทย ที่ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวทางทะเล ดังนั้น ความปลอดภัยและระบบเตือนภัยจะเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง รัฐบาลโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบวิเคราะห์ คาดการณ์คลื่นสึนามิ และระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จึงถือว่าการวางระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิ ในทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย เป็นกลไกในการเตือนภัยสึนามิล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกกับข่าวลือ และรับข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐ จะได้เตรียมความพร้อมในการอพยพทันท่วงที สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน.


https://tna.mcot.net/tna-584619
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม