ดูแบบคำตอบเดียว
  #77  
เก่า 28-01-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,248
Default


ข้อเท้าแพลง บทความที่นักกีฬาทุกคนต้องอ่าน (1)



สัปดาห์นี้ คอลัมน์ “คุยกันวันเสาร์กับหมอไพศาล” ขอนำเสนอเรื่องราวที่ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องพื้นๆ ที่ทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกีฬา ถือเป็นเรื่องปกติที่ได้พบเห็นบ่อย รวมทั้งมีประสบการณ์ข้อเท้าแพลงด้วยตนเองมาแล้วในอดีต แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่า แม้แต่นักกีฬาในระดับสุดยอดของประเทศ เช่น นักกีฬาทีมชาติในบางประเภทกีฬา ยังไม่มีความเข้าใจที่ถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันไม่ได้เกิดข้อเท้าแพลง ก็ไม่ได้มีการทำการป้องกันตามมาตรฐานที่ควรจะทำ ดังนั้นจึงนำมาซึ่งการบาดเจ็บ ต้องใช้เวลาในการรักษาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป ต้องเสียโอกาสของตนเอง หากเป็นตัวจริงของทีมที่จะลงสนามแสดงความสามารถ หรือเลวร้ายที่สุด ต้องผ่าตัดเย็บซ่อมเอ็นยึดข้อเท้า อาจต้องใช้เวลามากกว่า 4-5 เดือนขึ้นไปกว่าจะเริ่มลงมือซ่อมได้ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นอีกกับนักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ท่านลองนึกเอาเองดูก็แล้วกัน

สำหรับบทความใดที่นักกีฬาต้องอ่านเพราะเป็นประโยชน์ ผมจะขอใส่หมายเหตุต่อท้ายชื่อเรื่องไปเรื่อย ๆและกำกับด้วยเลขเอาไว้ เพราะผมทราบว่ามีนักกีฬาและผู้ที่ออกกำลังกาย สนใจที่หาความรู้จากบทความของเดลินิวส์เป็นจำนวนมาก


ส่วนประกอบของข้อเท้า

ข้อเท้ามีกระดูก 3 ชิ้นหลักมาประกอบกันเป็นข้อเท้า จากส่วนล่างของกระดูกขาและหน้าแข้งลงมา คือกระดูกทิเบีย (TIBIA) ลงมาเป็นตาตุ่มด้านในและกระดูกฟิบูล่า (FIBULA) ลงมาเป็นตาตุ่มด้านนอก มาประกอบกันเป็นข้อต่อกับกระดูกทาลัส (TALUS) เป็นข้อเท้า (ANKLE JOINT) ดูภาพเอกซเรย์ประกอบและรอบ ๆ ข้อต่อทั้งด้านตาตุ่มในและตาตุ่มนอก จะมีเอ็น (LIGAMENT) ยึดกระดูกเหล่านี้ให้แข็งแรง ไม่หลุดออกจากกัน แต่ถ้าหากเกิดการพลิกเกิดขึ้นอย่างรุนแรง เอ็นที่ยึดกระดูกเหล่านี้ จะมีการฉีกขาด (TEAR OF LIGAMENT) มีเลือดไหลออกมา เกิดอาการบวม ฟกช้ำ เจ็บปวดจนเดินไม่ปกติ ฉีกขาดมากบวมมาก ฉีกขาดน้อยบวมน้อย ใช้เวลารักษามากน้อยแตกต่างกันออกไป บางรายต้องเข้าเฝือก บางรายใช้เทปยึด บางรายต้องผ่าตัดเย็บซ่อมเอ็น


การรักษาเบื้องต้น ใช้หลักการของ R.I.C.E. ดังนี้

1. R = REST หยุดเล่นกีฬานั้น อย่าฝืนเล่นต่อไปถ้าหากมีอาการเจ็บปวด

2. I = ICE ใช้ความเย็นประคบตำแหน่งที่ปวด เพื่อให้เลือดออก หรือบวมน้อยที่สุด โดยเฉพาะในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังบาดเจ็บ

3. C = COMPRESSION ใช้ผ้ายึดพันข้อเท้า เพื่อลดการออกของเลือด ลดความเจ็บปวดเวลาขยับข้อเท้า ทำให้เท้าบวมน้อยลง หายได้ไวขึ้น

4. E = Elevation ยกปลายเท้าให้สูงขึ้น วางบนหมอน เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดของเท้าดีขึ้น จะทำให้การบวมของเท้าลดน้อยลง

หากมีอาการรุนแรง ปวดมาก บวมมาก ฟกช้ำจนผิวหนังเขียวคล้ำมาก ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป


การป้องกัน (สำคัญมากๆ)

ตามที่ผมเกริ่นเอาไว้ว่า ข้อเท้าแพลงนั้นท่านสามารถป้องกันได้ แม้นว่าจะไม่ 100% แต่ก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา วิธีการป้องกันก็คือการล็อกข้อเท้าด้วยเทป (ANKLE TAPING) ซึ่งต้องทำให้ถูกต้องตามหลักการ มีนักกีฬาชั้นนำระดับทีมชาติหลายท่าน ที่ทำการล็อกข้อเท้าด้วยวิธีของตนเอง ซึ่งเมื่อดูแล้วไม่เพียงพอที่จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้

ตามรูปที่แสดงไว้ เป็นเพียง 1 วิธีเท่านั้นที่ท่านอาจเลือกใช้ได้ โดยพันเทปรอบ ๆ ขา เหนือข้อเท้าประมาณ 3-4 นิ้วก่อน แล้วให้ข้อเท้าอยู่ในแนวตั้งฉาก พันเทปล็อกข้อเท้าให้อยู่ในตำแหน่งนี้ 1 ครั้ง ตามรูป แล้วทำตามรูป 1-5 ต่อไปใช้เทปล็อกข้อเท้าให้เหลื่อมกับเทปชุดแรกด้านหน้าครึ่งหนึ่งจนครบรอบ แล้วเหลื่อมเทปชุดแรกไปทางด้านหลังครึ่งหนึ่ง ก็จะได้การล็อกครบถ้วนรอบข้อเท้าพอดี

ผมไม่หวังว่าท่านผู้อ่านจะทำได้คล่องจากการอ่านและดูรูปจากบทความนี้เท่านั้น ผมต้องการเพียง 2 ประการ จากการที่ท่านได้อ่านบทความมาจนถึงตรงนี้ คือ

1.ท่านเห็นความสำคัญของการป้องกันข้อเท้าแพลง เพราะการบาดเจ็บจากข้อเท้าแพลง ส่งผลเสียอย่างมากแก่ชีวิตการเล่นกีฬา

2. ท่านสนใจที่จะเริ่มล็อกข้อเท้าของท่านอย่างถูกวิธี โดยท่านสามารถสอบถามจากผู้รู้ที่อยู่ใกล้ตัวท่าน และฝึกปฏิบัติจนเป็นนิสัยก่อนการฝึกซ้อมและเล่นกีฬาที่ท่านชื่นชอบ.




จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 28 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม