ดูแบบคำตอบเดียว
  #80  
เก่า 05-02-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,248
Default


"เตรียมรับมือ....โรคกระดูกพรุนด้วยตัวท่านเอง"



โรคกระดูกพรุนหรือ โรคกระดูกผุ, โปร่งบาง จัดเป็นปัญหาที่เราทุกคนต้องเผชิญในอนาคตข้างหน้าไม่ว่าตัวเราเอง คนใกล้ตัว รวมถึง คุณพ่อ คุณแม่ พี่ป้าน้าอา อันเนื่องมาจากสังคมอนาคตจะเป็นสังคมของผู้สูงอายุหรือผู้มีอายุยืน โดยผู้ชายและผู้หญิงอายุเฉลี่ยประมาณ 70 และ 75 ปี ตามลำดับ ความสำคัญของโรคนี้ คือเป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดงที่เด่นชัด คนเป็นโรคไม่มีอาการปวด จึงทำให้ละเลย เพิกเฉยในการไปพบแพทย์เกิดอุปสรรคต่อการวินิจฉัยและทำการรักษา นานวันเข้ากระดูกที่พรุนนั้นมีความผุกร่อนรุนแรงมากขึ้น จนในที่สุดเกิดผลที่ทุกคนไม่อยากเจอ นั่นคือ “กระดูกหัก” ที่พบบ่อยได้แก่ การหักที่กระดูกสันหลัง ตะโพก และข้อมือ การหักที่ตะโพกค่อนข้างวิกฤติ เนื่องจาก

• ผู้ป่วยตะโพกหักไม่สามารถเดินหรือช่วยเหลือตนเองได้ การดูแลสุขอนามัยกระทำได้เฉพาะแต่บนเตียงนอนเท่านั้น ซึ่งยากลำบากมากแก่ผู้ดูแล

• ตัวเลขทางสถิติที่น่าตกใจพบว่าผู้ที่ตะโพกหักจะมีอัตราการเสียชีวิตถึง 1 ใน 5 นั่นคือ ผู้สูงอายุตะโพกหัก 5 คน 1 คนจะเสียชีวิต ภายในระยะ 1 ปี ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากโรคแทรกซ้อน อันได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดบวม แผลกดทับ เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น และมักมีโรคเดิมอยู่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดตีบ ไขมันในเลือดสูง ข้อเสื่อมแต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเสียชีวิต

• 1 ใน 2 ของผู้ป่วยจะไม่สามารถกลับมาเดินได้เหมือนปกติ และจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการช่วยเดิน เช่น ไม้ค้ำยัน ไม้เท้า เป็นต้น



นอกจากนั้นยังต้องมีค่าใช้จ่ายจากการผ่าตัดและต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ดังที่กล่าวมา ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความสูญเสียจึงจำเป็นต้องมีการตรวจหาความเสี่ยงของการหัก นับเป็นข่าวดีที่การตรวจหาความเสี่ยงสามารถกระทำได้ง่ายดายเหมือนกับการเอกซเรย์ทรวงอก ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องตรวจเลือด เรียกการตรวจความหนาแน่นของกระดูกหรือการตรวจมวลกระดูก เพื่อเป็นการเอกซเรย์หาความแข็งแรงของกระดูก ภาษาแพทย์เรียก B.M.D. หรือ Bone Mineral Density เรียกสั้น ๆ ว่า Bone Density โดยค่าที่ตรวจพบสามารถบอกได้เลยว่ามีความสูญเสียของเนื้อกระดูกไปมากน้อยเพียงใดเป็นค่าร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์ โดยที่ค่ามวลกระดูกน้อยกว่า หรือติดลบตั้งแต่ 2.5 จากค่ามาตรฐานลงไป บ่งบอกว่าเนื้อกระดูกหรือมวลกระดูกหายไปประมาณร้อยละ 30 อีกนัยหนึ่งเนื้อกระดูกจากเดิม 100 ส่วนเหลือเนื้อกระดูกเพียง 70 ส่วน จัดว่ามีภาวะกระดูกพรุนต้องให้การรักษา และการรักษาเพื่อให้กระดูกแข็งแรงไม่สามารถทำได้แบบทันทีทันใด ต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษาเพิ่มการสะสมของแร่ธาตุ แคลเซียม ฟอสเฟต ในเนื้อกระดูก และลดการทำลายหรือสูญสลายของกระดูกที่มากขึ้นตามอายุสูงวัย และกิจกรรมที่ถดถอยน้อยลง ดังนั้นหากพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วอย่าเพิ่งตกใจ สามารถทำการรักษาให้มีภาวะกระดูกหนาแน่นสมบูรณ์ได้อีกอย่างแน่นอน แต่ทว่า การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วย แร่ธาตุ แคลเซียม หรือการรับประทานยาแคลเซียมเสริมในผู้สูงอายุที่มีกระดูกพรุนมักไม่เพียงพอ ต้องให้ยาเสริมการดูดซึมแคลเซียม เช่นวิตามินดี และยาช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูก โดยให้ลดการสูญสลายเนื้อกระดูกร่วมกับการทำกิจกรรมกลางแจ้งบ่อยขึ้น

ส่วนยารักษาโรคกระดูกพรุนนั้นมีหลายกลุ่มด้วยกัน เช่น ฮอร์โมน เอสโตรเจน พาราไทรอยด์ แคลซิโตนิน วิตามินเค บิสฟอสโฟเนต เป็นต้น แต่กลุ่มหลักที่ใช้รักษา คือ บิสฟอสโฟเนต มีทั้งแบบรับประทานสัปดาห์ละครั้ง เดือนละครั้ง และปัจจุบันมีแบบฉีดปีละครั้งด้วย

- ยาชนิดรับประทาน เหมาะกับผู้ป่วยที่กินยาสม่ำเสมอ มีวินัย เพราะหากลืมกินยาจะทำให้ได้รับประสิทธิภาพไม่เต็มที่ ผู้ป่วยบางรายกินบ้างลืมบ้างเพราะต้องทานยาหลายขนานรักษาหลายโรค อีกทั้งผู้ป่วยต้องสามารถนั่งหรือยืนตัวตรงได้อย่างน้อย - 1 ชม. เพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร โดยมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีระดับแคลเซียมในกระแสเลือดต่ำ

- ยาฉีดปีละครั้ง เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถนั่งหรือยืนตัวตรงได้นาน ๆ ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านความจำ หรือต้องรับประทานยาหลาย ๆชนิด เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องปฏิกิริยาของยาต่างชนิดกัน ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลเรื่องผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร อีกทั้งยาฉีดปีละครั้งยังเป็นตัวยาเดียวในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต ที่มีการศึกษาถึงการลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยกระดูกตะโพกหักได้ถึง 28% ด้วย แต่มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยเด็ก สตรีมีครรภ์และผู้ให้นมบุตร รวมถึงผู้แพ้ยากลุ่มนี้กล่าวโดยสรุป โรคกระดูกพรุนนับเป็นภยันตรายที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต แต่สามารถป้องกันและรักษาได้ โดยการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก ๆ

ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันเอก นายแพทย์จิระเดช ตุงคะเศรณี ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2 http://www.phyathai.com




จาก ...................... เดลินิวส์ ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 08-02-2012 เมื่อ 08:13
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม