ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 19-05-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


อากาศเปลี่ยนแปลงเพิ่มโอกาสเกิดคลื่นความร้อนในเอเชีย 30 เท่า

ผลการศึกษาใหม่พบว่า ภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพิ่มโอกาสเกิดคลื่นความร้อนในเอเชียถึง 30 เท่า และทำให้อากาศร้อนขึ้นอย่างน้อย 2 องศาด้วย



สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 18 พ.ค. 2566 ว่า องค์กร World Weather Attribution (WWA) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอิสระ เผยผลการศึกษาใหม่พบว่า หลายพื้นที่ในอินเดียมีอุณหภูมิสูงกว่า 44 องศาเซลเซียสในช่วงกลางเดือนเมษายน โดยมีผู้เสียชีวิตจากอาการฮีทสโตรกในนครมุมไบถึง 11 ศพในวันเดียว ส่วนที่กรุงธากา ของบังกลาเทศ เผชิญวันที่ร้อนที่สุดในรอบเกือบ 60 ปี

ที่จังหวัดตากของไทย ทำอุณหภูมิสูงที่สุดตลอดกาลที่ 45.4 องศาเซลเซียส ชณะที่จังหวัดไซยะบุลี ของ สปป.ลาว ก็มีอุณหภูมิถึง 42.9 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติแห่งชาติ โดยมีรายงานพบผู้เสียชีวิตเพราะฮีทสโตรกในไทย 2 ศพ แต่จำนวนที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้ และมีผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลจำนวนมาก

ตามรายงานขององค์กร World Weather Attribution ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอิสระ พบว่า อากาศร้อนทุบสถิติในประเทศไทยรุนแรงขึ้นเพราะอัตราความชื้นสูง รวมถึงเหตุไฟป่าหลายจุดที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ส่วนที่ฟิลิปปินส์ มีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส 5 วันติดต่อกัน ทำให้เด็กนักเรียนป่วยเป็นลมแดดร่วม 150 คน

ทั้งนี้ WWA ทำการศึกษาอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชีย และดัชนีความร้อนสูงสุด ซึ่งรวมถึงค่าความชื้นด้วย และพบว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้โอกาสเกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้นด้วยความชื้น สูงขึ้นถึง 30 เท่า และคลื่นความร้อนนี้จะทำให้อากาศร้อนขึ้นกว่าตอนไม่มีปัจจัยจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างน้อย 2 องศาเซลเซียสด้วย

ผลการวิเคราะห์ยังพบว่า สภาพอากาศสุดขั้วเช่นนี้ในอินเดียกับบังกลาเทศ ซึ่งเมื่อก่อนจะเกิด 1 ครั้งในรอบ 100 ปี ตอนนี้คาดว่าจะเกิดทุกๆ 5 ปี เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศฝีมือมนุษย์

สำหรับประเทศไทยและลาว หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 30 ปีนี้ หากชาติต่างๆ ไม่รีบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งสองประเทศอาจเผชิญสภาพอากาศสุดขั้วในทุกๆ 20 ปี แทนที่จะเป็นทุกๆ 2 ศตวรรษอย่างทุกวันนี้

"อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นต่อไป และเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น จนกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะถูกหยุด" ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุในแถลงการณ์


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2695153


******************************************************************************************************


นักวิจัยไทย พบหอยกาบน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดใหม่ของโลกในแม่น้ำชีที่

นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มมส. ค้นพบ "หอยกาบน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดใหม่ของโลก" จากแม่น้ำชี ที่บ้านท่าขอนยาง และบ้านท่าสองคอน จ.มหาสารคาม แต่กลับใกล้สูญพันธุ์ โดยเล็งขยายพันธุ์เพิ่มให้ชาวบ้านเลี้ยง



เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 รศ.ดร.บังอร กองอิ้ม ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทุนอุดหนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า หอยกาบน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดใหม่ของโลกนี้มีความยาวของเปลือกถึง 21 เซนติเมตร เป็นหอยกาบน้ำจืดสกุลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาหอยกาบน้ำจืดด้วยกัน สามารถเรียกว่า หอยกาบใหญ่แม่น้ำชี หรือ หอยกาบใหญ่ลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นหอยกาบน้ำจืดชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำโขง หรือเรียกว่า หอยกาบใหญ่ศาสตราจารย์สมศักดิ์ ปัญหา ดังชื่อวิทยาศาสตร์คือ Kongim, Sutcharit & Jeratthitikul, 2023 ซึ่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ ปัญหา ผู้จุดประกายให้ทำวิจัยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มหอย

รศ.ดร.บังอร กองอิ้ม กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันหอยกาบชนิดนี้อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากจำนวนลดลงมากจนแทบไม่พบตัวเป็น ทั้งนี้ รศ.ดร.บังอร กองอิ้ม และคณะ ได้สำรวจหอยชนิดนี้มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี พบตัวเป็นเพียง 2 ตัว เราโชคดีที่เมื่อปีที่แล้วได้พบ 1 ตัวเป็นช่วงหน้าแล้ง มีความยาวของเปลือก 21 ซม. น้ำหนัก 2.5 กก. จากนั้นเราก็ได้นำมาศึกษาค้นคว้าจนสามารถชี้ชัดว่าเป็นหอยกาบน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกแน่นอน แต่ตอนนี้กลับพบว่ามีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวด้วยว่า ตลอด 10 ปีนี้เราเจอตัวเป็นแค่ 2 ตัวเอง เพราะชาวบ้านใช้ประโยชน์จากหอยกาบด้วยการนำตัวมาประกอบอาหาร เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ หรือนำมาเลี้ยงสัตว์ ส่วนเปลือกหอยจะนำมาทำเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ ภาชนะใส่อาหาร เป็นต้น หรือเผาเปลือกเพื่อผลิตแคลเซียมคาร์บอเนต หรือ ปูนขาว ในธรรมชาติหอยกาบน้ำจืดจะทำหน้าที่กรองตะกอนในแหล่งน้ำทำให้น้ำใส เปลือกเมื่อถูกย่อยสลายจะช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุคืนสู่ระบบนิเวศแหล่งน้ำ เรามองว่าอยากจะเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์เพื่อให้ชาวบ้านเลี้ยงต่อไป.


https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2695085


******************************************************************************************************


"กรมทะเลและชายฝั่ง" สั่งสอบปมโพสต์ขาย ฉลามหนาม-ปลานกแก้ว วอนหยุดสนับสนุน

"กรมทะเลและชายฝั่ง" สั่งตรวจสอบกรณีโพสต์ขาย "ฉลามหนาม" กับ "ปลานกแก้ว" พร้อมวอนหยุดสนับสนุน การซื้อ-ขาย เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล



จากกรณีตามที่มีข่าวการซื้อขายฉลามหนาม Echinorhinus brucus ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "แพปลาลุงนิล ภูเก็ต" ซึ่งจับได้จากบริเวณห่างฝั่งของเกาะราชาน้อยไปทางทิศใต้ 40 ไมล์ทะเล งานนี้ทำเอาคนในโซเชียลและสังคมนักอนุรักษ์ออกมาปกป้องพร้อมแสดงความเป็นห่วง เมื่อสัตว์ทะเลหายากถูกจับมาขาย แทนที่จะอวดความสวยงามอยู่ในท้องทะเล และสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ

ล่าสุด วันที่ 18 พ.ค. 2566 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เผยว่า หลังจากทราบข่าวว่ามีการประกาศซื้อขายฉลามหนามในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ตนรู้สึกเป็นกังวลใจอย่างมาก จึงมอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูล จากการประสานเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าชาวประมงได้มีการจับฉลามหนามในเขตทะเลที่ห่างฝั่งไป 40 ไมล์ทะเล จึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งเชิงพื้นที่และชนิดพันธุ์

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ฉลามดังกล่าว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เร่งประชาสัมพันธ์ไปยังชาวประมง นักตกปลา นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป หากท่านจับฉลามชนิดนี้ได้ ขอให้ปล่อยฉลาม และไม่ควรนำเนื้อฉลามหนามมาบริโภค เพราะอาจทำให้ได้รับสารพิษ ได้แก่ ปรอท แคดเมียม สารหนู ซึ่งหากร่างกายสะสมสารเหล่านี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และโรคเกี่ยวกับระบบประสาทได้

สำหรับฉลามหนามนั้น จะหากินบริเวณพื้นทะเลน้ำลึก 400-900 เมตร แต่อาจพบเข้ามาหากินบริเวณน้ำตื้นเป็นครั้งคราว พบแพร่กระจายทั่วโลกในเขตร้อนถึงเขตอบอุ่น บริเวณลำตัวมีสีม่วงน้ำตาลหรือดำ ขนาดโตเต็มวัยยาว 3.1 เมตร ในระดับโลกพบประชากรฉลามชนิดนี้มีจำนวนลดลงจนใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง จึงจัดเป็นสัตว์ทะเลหายากที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เป็นนักล่าสัตว์น้ำในอันดับต้นๆ จะกินสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซึ่งทำให้เกิดความสมดุลของความหลากหลายในระบบนิเวศในบริเวณนั้นๆ การมีอยู่ของฉลามจึงเป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในบริเวณนั้น

อย่างไรก็ดี กรมฯ พร้อมจะร่วมมือกับกรมประมงในการหาแนวทางการดำเนินงาน เพื่อการอนุรักษ์ฉลามหนาม พร้อมทั้งเร่งศึกษาสถานภาพของฉลามชนิดนี้ เพื่อเสนอเป็นสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ตลอดจนออกแบบมาตรการในการอนุรักษ์ในเชิงพื้นที่ โดยปัจจุบันกรมฯ อยู่ระหว่างการจัดทำพื้นที่คุ้มครองทางทะเล บริเวณไหล่ทวีปทางฝั่งตะวันตกของจังหวัดภูเก็ตและอันดามันตอนบน ซึ่งหากแล้วเสร็จจะมีส่วนช่วยรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของฉลามหนาม และชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่หายากอื่นๆ ได้เป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ได้มีการร้องเรียนจากประชาชนมายังเพจเฟซบุ๊กกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าพบการจำหน่ายปลานกแก้ว บริเวณตลาดเงินวิจิตร แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ตนได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 ร่วมกับกองป้องกันและปราบปราม ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว จากการตรวจสอบในตลาด พบมีการจำหน่ายปลานกแก้ว จำนวน 5 ร้าน จึงได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าของร้าน และทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ รณรงค์ร่วมกันไม่สนับสนุน ไม่ซื้อ ไม่รับประทานปลานกแก้ว เนื่องจากปลานกแก้วมีประโยชน์ในการสร้างสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการัง

สำหรับปลานกแก้ว เป็นปลาทะเลที่มีปากคล้ายนกแก้ว สีสันสวยงาม จึงมีผู้นิยมจับมาดูเล่นและนำมาเป็นอาหาร ทำให้ประชากรปลานกแก้วลดลง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวมเสียสมดุล ปะการังตายมากขึ้น ฟื้นตัวช้า เพราะปลานกแก้วมีหน้าที่สำคัญคือการกินสาหร่ายที่มักขึ้นคลุมแนวปะการังหลังปะการังตายจากเหตุปะการังฟอกขาว ถ้าไม่มีปลานกแก้ว สาหร่ายจะขึ้นคลุมพื้นที่ ทำให้ตัวอ่อนปะการังไม่มีที่ลงเกาะ แล้วก็จะไม่มีปะการังตัวอ่อนมาทดแทนตัวเก่า จึงทำให้ปลานกแก้วเป็นสัตว์ทะเลที่ต้องอนุรักษ์ และมีการรณรงค์ให้หยุดกิน

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ยังไม่มีกฎหมายออกมาคุ้มครองฉลามหนามและปลานกแก้ว แต่สัตว์ทะเลทั้งสองชนิดนี้ ถือเป็นสัตว์ทะเลที่หายาก ควรคู่แก่การอนุรักษ์ หากจับมาขายหรือซื้อมาเพื่อรับประทาน อาจจะสร้างความเสียหายให้แก่ความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล ดังนั้น ขอความร่วมมือจากชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประมงต่างๆ โดยเฉพาะเรือตกเบ็ด หากตกได้ อยากให้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม และประชาชนไม่ควรสนับสนุนการซื้อขายมารับประทาน.


https://www.thairath.co.th/news/local/2694924

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม