ดูแบบคำตอบเดียว
  #6  
เก่า 26-03-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ทะเลจีนใต้ จุดยุทธศาสตร์ที่หลายชาติแย่งกันครอบครอง



ทะเลจีนใต้ถือเป็นหนึ่งในอาณาบริเวณที่มีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์มากที่สุดในโลก

หลายประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน รวมถึงไต้หวัน ต่างอ้างความเป็นเจ้าของหมู่เกาะน้อยใหญ่ แนวปะการัง และแนวหินโสโครกในแถบนี้ แต่จีนเป็นประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์มากที่สุด คือราว 90% ของทะเลจีนใต้

รัฐบาลจีนมองว่าทะเลจีนใต้เป็นส่วนสำคัญในอาณาเขตทางทะเลของตน โดยไม่เพียงจะใช้เป็นปราการเพื่อยับยั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางทะเล แต่ยังเป็นประตูสู่เส้นทางสายไหมทางทะเลในโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ด้วย

นอกจากนี้ ทะเลจีนใต้ยังมีความสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของแผนพัฒนาเศรษฐกิจโครงการอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong -Hongkong-Macao Geater Bay Area)

ส่วนสหรัฐฯ แม้จะไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรงเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ แต่ก็ยืนกรานที่จะพิทักษ์เสรีภาพการเดินเรือในเขตน่านน้ำสากล ด้วยการส่งเรือรบเข้าไปได้ปฏิบัติภารกิจรักษาเสรีภาพการเดินเรือ (Freedom of Navigation Operation - FONOP) ในทะเลจีนใต้อย่างต่อเนื่อง เพื่อท้าทายสิ่งที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นรูปแบบการอ้างกรรมสิทธิ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจีนในเขตน่านน้ำสากล ส่งผลให้บริเวณนี้กลายเป็นที่แข่งขันทางอิทธิพลระหว่างสองชาติมหาอำนาจของโลก คือจีนและสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในบริเวณนี้อยู่เนือง ๆ


เหตุใดหลายชาติจึงแย่งกรรมสิทธิ์กัน

ทะเลจีนใต้ ครอบคลุมอาณาบริเวณ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร โดยตั้งอยู่ทางใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะไต้หวัน ทางตะวันตกของฟิลิปปินส์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซียและบรูไน ทางเหนือของอินโดนีเซีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสิงคโปร์ และทางตะวันออกของเวียดนาม

ทะเลจีนใต้ ถือเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญในภูมิภาคซึ่งเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน และเป็นเส้นทางการค้ามูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 90 ล้านล้านบาท) ต่อปี โดยเป็นเส้นทางการขนส่งทางเรือที่มีการจราจร 1 ใน 3 ของทั้งโลก

นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าบริเวณนี้มีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่มหาศาล อีกทั้งยังอุดมไปด้วยปลาและสัตว์น้ำนานาชนิด จึงทำให้หลายชาติพากันอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะและแนวปะการังเพื่อเข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในน่านน้ำแถบนี้


ภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นมุมสูงของเกาะวู้ดดี้ หรือเกาะหย่งซิง เกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะพาราเซล ที่จีนอ้างเป็นเจ้าของและเข้าไปก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ...... ที่มาของภาพ,DIGITALGLOBE VIA GETTY IMAGES


ใครอ้างกรรมสิทธิ์อะไรบ้าง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนแสดงท่าทีแข็งกร้าวขึ้นในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ อีกทั้งยังเร่งก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ และเสริมกำลังทหารเพื่อยืนยันคำกล่าวอ้างความเป็นเจ้าของอาณาเขตในแถบนี้

ครั้งหนึ่ง พลเรือเอกแฮร์รี แฮร์ริส อดีตผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก เคยเปรียบการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ว่าเป็น "กำแพงทรายแห่งเมืองจีน" (Great Wall of Sand) ซึ่งหมายถึงแผนที่ "เส้นประ 9 เส้น" (nine-dash line) ที่จีนลากขึ้นมาบอกอาณาเขตของตนในทะเลจีนใต้

เส้นประดังกล่าวปรากฏครั้งแรกในแผนที่ของจีนเมื่อปี 1947 ครอบคลุมบริเวณที่อยู่ห่างจากมณฑลไหหลำทางใต้สุดของจีนไปทางใต้และทางตะวันออกหลายร้อยกิโลเมตร รัฐบาลจีนอ้างว่ากรรมสิทธิ์ของจีนในพื้นที่นี้มีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปนานหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยที่หมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ขณะที่ไต้หวันก็อ้างกรรมสิทธิ์เหล่านี้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม มีการโต้แย้งว่าจีนไม่ได้อธิบายกรรมสิทธิ์ของจีนอย่างชัดเจนเพียงพอ และ "เส้นประ 9 เส้น" ที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ของจีนล้อมรอบพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ไม่มีระยะพิกัดกำหนดไว้

นอกจากนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า จีนอ้างกรรมสิทธิ์เฉพาะดินแดนที่เป็นแผ่นดินภายในขอบเขตเส้นประ 9 เส้น หรือรวมถึงน่านน้ำทั้งหมดในบริเวณนั้นด้วย


แผนที่พื้นที่พิพาททะเลจีนใต้

เวียดนามโต้แย้งการอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ของจีน โดยระบุว่าจีนไม่เคยมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะทั้งสองแห่งนี้ก่อนทศวรรษ 1940 เวียดนามบอกอีกด้วยว่า เคยปกครองหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และมีหลักฐานหลายอย่างพิสูจน์คำกล่าวอ้างนี้

ส่วนอีกประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่นี้คือฟิลิปปินส์ ซึ่งอ้างเรื่องภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้กับหมู่เกาะสแปรตลีย์เป็นเหตุผลหลักในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่บางส่วนของหมู่เกาะแห่งนี้

ทั้งฟิลิปปินส์และจีนต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือสันทรายสการ์โบโรห์ ซึ่งอยู่ห่างจากฟิลิปปินส์ราว 160 กม. และห่างจากจีนราว 800 กม. จีนเรียกสันทรายนี้ว่า "เกาะหวงเหยียน"

ข้อพิพาทนี้ทำให้ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์ แต่จีนไม่ยอมรับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ โดยศาลตัดสินให้ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายชนะเมื่อเดือน ก.ค. 2016

มาเลเซียและบรูไน ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของแต่ละประเทศ ตามคำนิยามของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea - UNCLOS)

บูรไนไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะพิพาททั้ง 2 แห่ง แต่มาเลเซียอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะขนาดเล็กจำนวนหนึ่งในหมู่เกาะสแปรตลีด้วย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้เร่งสร้างเกาะเทียมและฐานทัพทหารบนเกาะเหล่านี้ รวมทั้งลาดตระเวนทางทะเลเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ในทะเลจีนใต้

ขณะที่สหรัฐฯ ได้อ้าง "เสรีภาพในการเดินเรือ" ในการส่งเรือและเครื่องบินทหารหลายลำเข้าไปใกล้บริเวณเกาะพิพาท เพื่อสร้างความมั่นใจว่า จะสามารถเข้าถึงเส้นทางการขนส่งสินค้าทั้งทางน้ำและทางอากาศที่สำคัญได้

บรรยากาศความตึงเครียดที่กำลังพอกพูนขึ้นระหว่างสองชาติมหาอำนาจนี้ อาจทำให้ทะเลจีนใต้กลายเป็นจุดของความขัดแย้งทางทหารที่รุนแรงซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก


https://www.bbc.com/thai/international-56461377

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม