ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 27-03-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์


เรือยักษ์ขวางคลองสุเอซทำเศรษฐกิจทั้งโลกสะเทือน

เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ Ever Given ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยความยาว 400 เมตร ที่เกยตื้นขวางคลองสุเอซมาตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งแรงสั่นสะเทือนกับการค้าทางทะเลไปทั่วโลก



คลองสุเอซเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการค้าโลก ข้อมูลของปีที่แล้วพบว่ามีเรือบรรทุกสินค้าแล่นผ่าน 19,000 ลำต่อปี เฉลี่ย 50 ลำต่อวัน หรือคิดเป็น 30% ของการเดินเรือทั้งโลก และยังเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมัน 10% ของน้ำมันทั้งโลก

บลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (25 มี.ค.) มีเรือบรรทุกสินค้าลำอื่นๆ ติดอยู่ที่คลองสุเอซแล้วถึง 238 ลำ เพิ่มจากวันก่อนหน้าที่มี 186 ลำ และจาก 100 ลำในวันแรกที่เรือ Ever Given เกยตื้น และข้อมูลของนิตยสาร Lloyd?s List ระบุว่าในแต่ละวันมีสินค้ามูลค่ากว่า 9,600 ล้านเหรียญสหรัฐผ่านเส้นทางนี้

อย่างไรก็ดี การประเมินความเสียหายเป็นตัวเลขที่แน่นอนทำได้ยาก เนื่องจากมีสินค้าหลากหลายประเภทผ่านเส้นทางนี้ แต่เอกสารของสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (NBER) ซึ่งจัดทำโดย เดวิด ฮัมเมลส์ และกีออร์ก ชาวเออร์ นักเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์ว่าการขนส่งสินค้าล่าช้าในแต่ละวันมีต้นทุนเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.6-2.3% ของมูลค่าสินค้าที่อยู่บนเรือลำนั้นๆ

และเมื่อมีเรือกว่า 238 ลำรอให้เคลื่อนย้ายเรือ Ever Given ออกจากทางสัญจร ต้นทุนต่างๆ ย่อมเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวในแต่ละวัน ที่น่ากังวลก็คือ การเคลื่อนย้ายเรือ Ever Given น่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายวันหรืออาจเป็นสัปดาห์จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้เรือ

โจแอนนา โคนิงส์ นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทประกันภัย ING เผยว่า ความล่าช้าในการเคลื่อนย้ายเรือ Ever Given ออกจากเส้นทางเดินเรือจะมีผลกระทบทันทีกับการค้าระหว่างเอเชียกับยุโรป ซึ่งเผชิญกับความล่าช้าอยู่แล้วจากปัญหาซัพพลายเชนที่ส่งผลกระทบกับน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นน้ำมันดิบ

เหตุผลหนึ่งนั้นการขนส่งสินค้าจากระหว่างเอเชียและยุโรปไม่มีทางเลือกอื่นอย่าง รถไฟ หรือรถบรรทุก ดังนั้นความติดขัดที่คลองสุเอซจะทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งวัตถุดิบจากเอเชียไปยังยุโรป เช่น ฝ้ายจากอินเดียสำหรับผลิตเสื้อผ้า ปิโตรเลียมจากตะวันออกกลางสำหรับผลิตพลาสติก และชิ้นส่วนรถยนต์จากจีน

นอกจากนี้ การขัดขวางคลองสุเอซยังบล็อกไม่ให้ตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจากยุโรปเดินทางกลับเอเชีย เป็นการซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จากความต้องการบริโภคสินค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ Covid-19 ระบาด ขณะนี้ความไม่สมดุลของการค้าส่งผลให้ทุกๆ ตู้คอนเทนเนอร์ 3 ตู้ที่ส่งสินค้าจากเอเชียไปยังสหรัฐ จะมีตู้คอนเทนเนอร์เพียงตู้เดียวที่เดินทางกลับเอเชีย

อย่างที่ทราบกันดีว่าคลองสุเอซเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันเส้นหลักของโลก มีน้ำมันถูกขนส่งผ่านเส้นทางนี้ราว 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ข้อมูลของ Refinitiv ระบุว่านับตั้งแต่วันอังคาร (23 มี.ค.) ที่เรือ Ever Given เกยตื้นขวางคลอง เรือบรรทุกน้ำมันจอดรออยู่ทั้งสองฝั่งคลองเพื่อจะแล่นไปยังจุดหมายปลายทางกว่า 30 ลำ

ขณะที่เรือบรรทุกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐที่จะมุ่งหน้าเข้าตลาดเอเชียตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางขณะกำลังแล่นอยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติก โดยจะมุ่งหน้าไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกาเพื่อหลีกเลี่ยงการติดขัดที่คลองสุเอซ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าเส้นทางคลองสุเอซราว 2 สัปดาห์

ทว่า จิม เบิร์กฮาร์ด หัวหน้าทีมวิจัยน้ำมันดิบของ IHS Markit มองว่า ผลกระทบกับตลาดน้ำมันโลกจะอยู่ในวงจำกัดหากสามารถลากเรือ Ever Given ออกจากช่องทางเดินเรือได้เร็ว และหากต้องใช้เวลาเป็นเดือนก็ยังมีทางเลือกอื่น แต่แน่นอนว่าต้นทุนจะต้องเพิ่มขึ้น

หลังจากเรือ Ever Given เกยตื้นส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกทะยานขึ้น แต่เมื่อวันพฤหัสบดี (25 มี.ค.) ก็กลับลงมา โดยนักวิเคราะห์มองว่าที่ราคาลดลงเป็นเพราะมีรายงานออกมาว่าน้ำมันสำรองของสหรัฐมีอยู่มาก และยังมีความกังวลว่าการล็อกดาวน์สกัด Covid-19 ในยุโรปจะทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าความกังวลเรื่องเรือขวางคลองสุเอซ

อีกหนึ่งปัญหาที่จะตามมาคือ ค่าขนส่งที่สูงขึ้น ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตจากจีนไปยุโรปพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ราว 8,000 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 4 เท่าของตัวเลขเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ขณะที่เรือขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ตามมาตราสุเอซแม็กซ์ซึ่งมักจะบรรทุกน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล คิดค่าขนส่งวันละ 17,000 เหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งนับว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว

เอียน วูดส์ นักกฎหมายด้านการขนส่งทางทะเลเผยว่า หากการลากเรือ Ever Given ออกจากช่องทางเดินเรือยืดเยื้อออกไป ผู้ขนส่งคงต้องเปลี่ยนเส้นทาง ซึ่งหมายความว่าจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ตามมา สุดท้ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้จะไปตกอยู่ที่ผู้บริโภค

ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะมีแต่เสีย นักวิเคราะห์ของ JPMorgan เผยว่า ธุรกิจเดินเรือในเอเชียจะได้รับผลดีมากที่สุดจากเหตุการณ์นี้ แม้ว่าค่าระวางพิเศษเพื่อชดเชยความผันผวนของราคาน้ำมันจะสูงขึ้นเนื่องจากระยะทางที่เพิ่มขึ้น แต่ JPMorgan คาดว่าอัตราค่าระวางแบบผันผวนตามราคาตลาดปัจจุบันจะสูงกว่า ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้ประกอบการเดินเรือในเอเชีย


https://www.posttoday.com/world/648962

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม