ดูแบบคำตอบเดียว
  #8  
เก่า 21-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,331
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation


เปิดผลสรุปเบื้องต้น สาเหตุหญ้าทะเลตาย กระทบ "พะยูน" ตรัง กับกุญแจสำคัญแก้วิกฤต



เปิดผลสรุปเบื้องต้น สาเหตุหญ้าทะเลตาย กระทบ "พะยูน" ตรัง พบเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน พร้อมกางแผนรับมือแก้วิกฤต ขณะที่ อธิบดีกรมทะเลคาดพะยูนตรังอาจเคลื่อนย้ายที่หากิน จ่อบินสำรวจใหม่ปลาย มี.ค.นี้ ด้าน "มูลนิธิอันดามัน" จี้ ตามคุ้มครองเจ้าหมูน้ำย้ายที่หากินออกนอกเขตอนุรักษ์

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นข่าว หรือไม่ก็อาจผ่านตาตอนไถฟีดในโลกออนไลน์ ถึงการพบ "พะยูน" เข้ามาเกยตื้น ใกล้เรือหางยาวของชาวบ้านที่จอดอยู่บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง จ.ตรัง ในสภาพลำตัวซูบยาว ผอมโซ

โดยทางเพจ ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND ซึ่งเป็นเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่เกาะลิบง ได้โพสต์รูปภาพและข้อความ ระบุว่า "จะร้องแล้ว พะยูนผอมมาก ท่าเรือบ้านพร้าวเกาะลิบงไม่มีใครสนใจ รอให้ตายหมดก่อนเหรอคับ หญ้าก็หาย. ตะกอนจากการก่อสร้างก็ไม่มีใครทำอะไร บอกใครก็ไม่สนใจ มารวมกันช่วยหน่อยได้ป่าว หลายเดือนแล้วไม่บูมเลย พะยูนตายทุกคนก็เฉยๆสภาพแย่ลงไปทุกวัน หญ้าเหลือน้อยแล้วนะ ขอความสนใจหน่อย ปีนี่ตายไปหลายตัวแล้วนะ"

คนที่ได้เห็นภาพนี้ จำนวนไม่น้อยต่างสะเทือนใจ พร้อมกับความรู้สึกเป็นห่วงต่อสถานการณ์พะยูนในทะเลตรัง

คำถามที่ตามต่อมาคือ เกิดอะไรขึ้นกับท้องทะเล เพราะพะยูนตัวที่เข้ามาเกยตื้น มีสภาพผอมโซ จนสุดท้ายแล้วเขาก็จากโลกนี้ไป ซึ่งนับเป็น "พะยูน" ตรัง ตัวที่ 4 แล้ว ที่ตายลงในช่วงปี 2567 นี้ ถึงแม้ว่าจะผ่านมาไม่ถึง 3 เดือนก็ตาม

มิหนำซ้ำ จากผลการบินสำรวจของคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งติดตามการเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเล ที่สำรวจพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดตรัง เบื้องต้น เจอประชากรพะยูนทะเลตรังลดฮวบ หากเทียบกับในปี 2566

"Nation STORY" ขอนำเรื่องราวของหญ้าทะเลและพะยูนตรัง เมื่อพวกเขากำลังเผชิญกับวิกฤต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเคลื่อนไหวกับแผนรับมืออย่างไร แล้วผลสรุปเบื้องต้น สาเหตุที่หญ้าทะเลตรังเสื่อมโทรม คืออะไรกันแน่?


สาเหตุ "พะยูน" เกยตื้นส่วนใหญ่ เกิดจากอาการป่วย

อย่างที่กล่าวในตอนต้น พะยูนตัวที่ผอมได้ตายไป ซึ่งต่อมา เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลปละชายฝั่ง(ทช.) ได้นำซากพะยูนดังกล่าวมาทำการผ่าชันสูตรซากโดยทีมสัตวแพทย์

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นซากพะยูน เพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี ความยาว 250 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 220 กิโลกรัม ลักษณะภายนอกเขี้ยวอยู่ครบสมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง และยังมีร่องรอยการกินหญ้าคาอยู่ภายในปาก พบเพรียงขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วลำตัวบ่งบอกว่าสัตว์อยู่นิ่งเป็นเวลานาน เนื่องจากมีอาการป่วย

หลังผ่าพิสูจน์ 4 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ลงความเห็นสาเหตุการตายว่า สัตว์ป่วยเรื้อรัง เนื่องจากมีพยาธิตัวกลมเต็มกระเพาะอาหาร พร้อมทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและโครงกระดูก เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไป


นายสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทะเลและชายฝั่ง (ทช.) บอกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ทะเลตรังพบพะยูนเกยตื้นตายแล้ว 4 ตัว ที่ผ่านมาจะพบว่า พะยูนเกยตื้นมากที่สุดในช่วงปลายปีประมาณ พ.ย.-ธ.ค. ส่วนที่ตายในปีนี้อาจเกี่ยวเนื่องกับปลายปีที่ผ่านมา คาดว่าในช่วงกลางๆปีมีโอกาสการเกิดขึ้นน้อยลง แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขค่อนข้างน่าเป็นห่วง

"จากที่มีการเก็บข้อมูลมาหลายปี พบสาเหตุหลักของการเกยตื้นส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย แต่ค่อนข้างจะวินิจฉัยยาก เพราะซากจะเน่า น้อยมากที่จะเจอซากที่สด เมื่อเจอซากเน่า อวัยวะภายในค่อนข้างที่จะพิสูจน์ยาก จะเห็นได้ว่าตัวล่าสุด พบพยาธิในกระเพาะมากขึ้น ชี้ชัดว่ามันป่วย

ส่วนพะยูนตัวดังกล่าวผอม เป็นไปได้ 2 ลักษณะ คือ มันป่วยแล้วทำให้มันผอม หรือ มันอดอาหารแล้วเหนี่ยวนำทำให้มันป่วย ซึ่งจากการชันสูตรในเบื้องต้นพบว่า ลักษณะของหัวใจอักเสบ และมีก้อนไขมันในหัวใจ ถ้าพบว่าในกระเพาะของพะยูนมีแผล ก็อาจจะเป็นเพราะขาดอาหารได้ แต่นี่พบว่ามีพยาธิเต็มกระเพาะเกิดจากอาการป่วยเรื้อรัง" นายสันติ กล่าว


หญ้าทะเลเสื่อมโทรมหนัก กระทบเจ้าหมูน้ำตรัง

จากที่พบว่าพะยูนเกยตื้นตายในปีนี้แล้ว 4 ตัว เบื้องต้นมีการคาดสาเหตุหลัก เกิดจากปัญหาสภาพระบบนิเวศในทะเลที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง พื้นดินปกคลุมด้วยตะกอนดิน หญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูนทั่วทะเลตรังเสื่อมโทรมหนัก รวมไม่ต่ำกว่า 30,000 ไร่ ซึ่งผลทำให้พะยูนและสัตว์ทะเล กุ้ง หอย ปู ปลาหายไป จนชาวบ้านไม่มีแหล่งหากินบริเวณใกล้ชายฝั่งเหมือนที่ผ่านๆมา

เกี่ยวกับเรื่องพะยูนตรังและหญ้าทะเลนั้น ทาง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุถึง 10 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤตหญ้าทะเล/พะยูน

โดยสาระสำคัญส่วนหนึ่งที่ อ.ธรณ์ ยกขึ้นมาให้เห็น คือ หญ้าทะเลตรัง/กระบี่ตายเป็นจำนวนมากจากโลกร้อน อาจมีรายงานเรื่องขุดลอกหรือทรายกลบที่ลิบง แต่เป็นเฉพาะพื้นที่ในอดีตและการขุดลอกหยุดไปหลายปีแล้ว

ขณะที่หญ้าตายหนนี้เริ่มตายปี 2565-2567 ยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้น และอาจขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากโลกร้อนไม่หยุด นอกจากนี้ ยังมีรายงานหญ้าเสื่อมโทรมในลักษณะคล้ายกันในพื้นที่อื่นๆ เช่น เกาะพระทอง (พังงา) อีกหลายพื้นที่กำลังสำรวจเพิ่มเติม

อ.ธรณ์ ยังได้โพสต์ภาพหญ้าทะเลไหม้เนื่องจากน้ำลงต่ำผิดปรกติ น้ำยังร้อน/แดดแรง ปัจจุบันในพื้นที่นั้นหญ้าตายหมดแล้ว หญ้าทะเลยังตายจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนรุนแรง บางแห่งเน่าจากปลาย บางแห่งเน่าเฉพาะโคนก่อนใบขาด ยังมีความเป็นไปได้ในเรื่องโรค (เชื้อรา)

พะยูน 220 ตัวอยู่ที่ตรัง/กระบี่ (ศรีบอยา) เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คาดว่าพะยูนอาจเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่ยังมีหญ้าเหลือ


เร่งหาสาเหตุหญ้าทะเลเสื่อมโทรม - เจอประชากรพะยูนทะเลตรังลดฮวบ

ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ดูเหมือนจะค่อยๆ ชัดขึ้น เมื่อกรมทะเลและชายฝั่ง ส่งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก ด้านสมุทรศาสตร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อหาสาเหตุของการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล และนำมาออกมาตรการแก้ไขหรือฟื้นฟูหญ้าทะเลโดยเร็วที่สุด

ซึ่งทางคณะทำงานฯ ได้แบ่งการทำงานทั้งภาคพื้นดินในการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลหน้าดินบริเวณแหล่งหญ้า ติดตามการเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่จังหวัดตรัง (Line Transect, เก็บตัวอย่างดินตะกอน) เก็บข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์กายภาพในพื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรม เก็บตัวอย่างการปนเปื้อนของโลหะหนัก (Heavy metals) และ มลสารอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน(Persistent Organic Pollutants) ในตะกอนดินและหญ้าทะเล

นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังได้สำรวจพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก จากทั้งทางอากาศและทางเรือ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดตรัง เบื้องต้น เจอพะยูนเพียง 36 ตัว พบพะยูนคู่แม่-ลูก จำนวน 1 คู่ โลมาหลังโหนก 6 ตัว พบโลมาคู่แม่-ลูก 2 คู่ และเต่าทะเล 38 ตัว หากเทียบกับในปี 2566 พบพะยูน 194 ตัว คู่แม่ลูกถึง 12 คู่ จึงเชื่อว่าพะยูนทะเลตรังกำลังเผชิญวิกฤต มีโอกาสจะสูญพันธุ์ไปจากทะเลตรังในอนาคตอันใกล้นี้


ผลสรุปเบื้องต้น หญ้าทะเลตายเพราะอะไร - กางแผนรับมือวิกฤต

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงติดตามแก้ไขปัญหาวิกฤตหญ้าทะเลและพะยูนในทะเลตรังอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) สั่ง ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วย รมว.ทส. ลงพื้นที่ จ.ตรัง ร่วมกับ นายนิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชี รายชื่อ พรรคก้าวไกล , นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) , ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเร่งแก้ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม

จากนั้น คณะของ ร.อ.รชฏ ได้แถลงข่าวกับนายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง , นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน , เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล , กลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายหลังมีการลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาวิกฤตพะยูนและหญ้าทะเลตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

โดยระบุว่า จากการติดตามบริเวณเกาะลิบงนั้น พบว่า หญ้าทะเลตายไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ทำให้ระดับน้ำลดลง30-40 เซนติเมตร เมื่อน้ำลด ทำให้หญ้าทะเลตากแห้งเป็นเวลานาน ทำให้หญ้าทะเลตาย รวมทั้งตะกอนดิน ซึ่งยังต้องรอการพิสูจน์ที่แน่ชัด

ร.อ.รชฏ ผู้ช่วย รมว.ทส. บอกว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศหญ้าทะเล และผลกระทบที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องเร่งพัฒนาแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมโดยใช้หลักการ ตลอดจนเร่งการศึกษาวิจัยด้านการฟื้นฟูและเสริมความแข็งแรงของระบบนิเวศให้หญ้าทะเลได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเองได้โดยธรรมชาติ แต่ระหว่างการพักฟื้นเราก็สามารถช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวได้โดยไม่สร้างมลพิษหรือภัยคุกคามเพิ่มเติม จึงขอความร่วมมือไปยังชาวบ้านในพื้นที่ ประมงชายฝั่ง ผู้ประกอบการเดินเรือและโรงแรม ใน 3 แนวทาง คือ

1. ให้เดินเรือหรือสัญจรทางน้ำอย่างระมัดระวัง ไม่ทำประมงในแหล่งหญ้าทะเล

2. งดปล่อยน้ำเสียลงในทะเล

3. ไม่ก่อสร้างที่จะก่อให้เกิดตะกอนชะล้างลงสู่ทะเล เพราะแหล่งหญ้าทะเล และพะยูน อันเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศชาติ ที่ต้องคงอยู่คู่กับท้องทะเลตรังสืบไป


(ต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม