ดูแบบคำตอบเดียว
  #6  
เก่า 07-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,318
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


พบแพลงก์ตอนบลูม ทะเลอ่าวไทยบริเวณ "น้ำมันรั่วไทยออยล์"



นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเผยพบปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมในพื้นที่ผลกระทบคราบน้ำมันจากเหตุ "น้ำมันรั่วไทยออยล์" เปิดประเด็น "หรือที่ไม่พบคราบ เพราะปนไปกับน้ำทะเลสีเขียวของแพลงก์ตอนบลูม?" ขณะกรมควบคุมเผย "ไม่พบคราบน้ำมันแล้ววันนี้"

"หวั่นกระทบประการัง โดยเฉพาะระยะยาว" ทีมวิจัยจุฬาฯ เผยหลังลงพื้นที่สำรวจผลกระทบเบื้องต้น

ด้าน สส.ก้าวไกล ระยอง เปิดแถลงที่สภา กรณีน้ำมันรั่วไทยออยล์ "ข้องใจอีไอเอไทยออยล์-จี้เปิดข้อมูลจำเป็นแก่สาธารณะ-ชี้รั่วบ่อยเกิน ดำเนินการเหมือนเดิม"


"ข้องใจอีไอเอไทยออยล์-จี้เปิดข้อมูลจำเป็น" สส.ก้าวไกล

"เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ จ.ชลบุรี มีลักษณะเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นที่ จ.ระยอง ช่วงต้นปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการรั่วในลักษณะเดียวกันคือ รั่วระหว่างการขนถ่าย

โดยทางเราตั้งข้อสังเกตแรก คือ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของบริษัทไทยออยล์ มีการกำหนดวิธีการดำเนินการไว้อย่างครบถ้วน และมีมาตรฐาน แต่บริษัทได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งหากมีการปฏิบัติจริงตามรายงานก็ไม่น่าส่งผลกระทบร้ายแรงถึงขนาดนี้

รวมถึงบริษัทมีการปฏิบัติตามประกาศตามของประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 134/2564 เรื่อง มาตรการความปลอดภัย การป้องกัน และขจัดมลพิษทางน้ำ เนื่องจากน้ำมัน เคมีภัณฑ์ และสารที่เป็นอันตรายประจำท่าเรือหรือไม่ ที่กำหนดว่าการขนถ่ายน้ำมันต้องมีบูมที่มีความยาว 3 เท่าของลำเรือ ซึ่งกรณีนี้เรายังไม่สามารถตรวจสอบได้

นอกจากนี้ วิธีการกำจัดคราบน้ำมันได้มีการทำตามขั้นตอนหรือไม่ เพราะเท่าที่มีการตรวจสอบมีการใช้สารเคมีที่ควรใช้ในขั้นตอนสุดท้ายตั้งแต่ขั้นตอนแรก จึงทำให้เกิดความเสียหาย และผลกระทบจำนวนมาก โดยขอให้การถอดบทเรียน และดูแลภาคประชาชนอย่างทั่วถึง"

กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระยอง พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จากเหตุน้ำมันดิบจากเรือบรรทุกน้ำมัน รั่วไหลขณะขนถ่ายน้ำมันดิบบริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล หมายเลข 2 (SBM-2) ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ วันนี้ (6 ก.ย. 2566) ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา

"ครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น ดังนั้นรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องตรวจสอบอย่างรอบด้าน และเปิดเผย โดยขอให้มีการรายงานตัวเลขน้ำมันรั่วที่แท้จริง และขอให้ตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากฝั่งเอกชนร่วมกับภาครัฐ ตลอดจนตรวจสอบการใช้สารละลายคราบน้ำมันว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่

รวมถึงต้องมีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเล เยียวยาให้กับชาวประมง และผู้ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย เหตุการณ์น้ำมันรั่วเกิดขึ้นซ้ำหลายครั้ง แต่การเยียวยา และแก้ปัญหาก็ยังไม่ดีพอ ปัจุบันทรัพยากรทางทเะลของระยองก็ยังไม่ฟื้นตัว ชาวบ้านก็ไม่ได้รับเงินเยียวยาที่เป็นธรรม" กฤช กล่าว

"จากสถิติของ ทช. เหตุการณ์น้ำมันรั่วไม่ได้ลดลงเลย สิ่งที่เราจะเรียกร้องคือ ผู้เกี่ยวข้อง จะต้องเพิ่มมาตรการอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ซ้ำอีก ต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร และจะแก้ปัญหาอย่างไร และการรับมือภัยพิบัติหลังจากเกิดเหตุ ที่ยังใช้วิธีเดิม ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล และทรัพยากรธรรมชาติ

ภาครัฐและเอกชนต้องมาพูดคุย หาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการเยียวยาที่ต้องพูดถึงกรณีทรัพยากรธรรมชาติด้วยว่าจะทำอย่างไร" สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระยอง พรรคก้าวไกล กล่าวเพิ่มเติม


"ไม่พบคราบน้ำมันแล้ววันนี้" อธิบดีคพ.

"จากการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจทางเรือ และใช้ดาวเทียมสำรวจคราบน้ำมันที่รั่วไหลไม่พบมีคราบน้ำมันเข้าถึงชายฝั่งบริเวณหาดบางพระ และอ่าวอุดมตามที่ทำโมเดลไว้ โดยเมื่อวานนี้ พบคราบน้ำมันมีลักษณะเป็นฟิล์มน้ำมันบาง ๆ กระจายตัวกันเป็นกลุ่มบริเวณด้านทิศตะวันออกของเกาะสีชัง แต่ไม่พบกลุ่มน้ำมันที่มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนเข้มหนา

ถึงจะไม่พบคราบน้ำมันเข้าชายฝั่ง แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง และติดตามผลกระทบจากการใช้สาร Dispersant ขจัดคราบน้ำมัน 4,500 ลิตร จะมีผลต่อสัตว์ทะเล และทรัพยากรระยะยาวอีกอย่างน้อย 1 ปี ทั้งนี้ ภาพรวมการสกัดคราบน้ำมันไม่ให้เข้าถึงชายฝั่งได้อย่างรวดเร็วภายใน 2 ? 3 วัน ส่วนหนึ่งมาจาก บริษัทไทยออยล์ฯ ใช้แผนเผชิญเหตุทันต่อสถานการณ์และทันทีหลังเหตุน้ำมันรั่ว พร้อมขออนุญาตใช้สาร Dispersant ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ยังคงติดตามผลกระทบต่อเนื่อง ด้วยการเก็บตัวอย่างน้ำทะเล และตะกอนดินเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเปรียบเทียบกรณีเหตุน้ำมันดิบรั่วไหล 5 จุด คือ เกาะสีชัง อ่าวอุดม เกาะลอย (บริเวณสวนสุขภาพศรีราชา) หาดบางพระ และหาดวอนนภา"

ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้สัมภาษณ์กับ Thai PBS วันนี้ (6 ก.ย. 2566) ถึงความคืบหน้าเหตุน้ำมันรั่วไหลจากท่อส่งน้ำมันดิบของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดชลบุรี โดยจากประกาศชี้แจงของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด ที่เปิดเผยวานนี้ (5 ก.ย. 2566) คาดว่าปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลลงทะเลทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 60,000 ลิตร

ขณะที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับให้ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว หากในอนาคตมีผลกระทบเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ทะเลจะได้มีหลักฐานข้อมูลดำเนินคดี


"ไม่เจอคราบ หรือเพราะปนไปกับแพลงก์ตอนบลูม?" ดร.ธรณ์

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เปิดเผยว่า วานนี้ 5 (ก.ย. 2566) คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ลงพื้นที่ชายฝั่งศรีราชา เพื่อสำรวจคราบน้ำมันที่รั่วไหล แต่สิ่งที่เจอกลับเป็นมวลน้ำเขียวจากแพลงก์ตอนบลูมกำลังเข้าสู่ชายฝั่ง ในบริเวณเดียวกับที่คาดการณ์ว่าจะมีคราบน้ำมันเข้ามา ทำให้ไม่เจอคราบน้ำมัน ซึ่งเป็นไปได้ทั้งคราบน้ำมันถูกกำจัดไปแล้ว หรืออาจเป็นเพราะปนกับน้ำเขียว

"ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงซ้อนกัน ทำให้ซับซ้อนจนไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ได้แต่เศร้าว่าทำไมเราถึงเจอแบบนี้

ทั้งหมดนี้ อาจเป็นเพราะเราใส่ใจทะเลไม่พอ ทำให้เกิดผลกระทบทางอ้อม เช่น น้ำทิ้ง เร่งให้เกิดแพลงก์ตอนบลูมถี่ยิบ ยังมีผลกระทบทางตรงจากคราบน้ำมัน แม้เป็นอุบัติเหตุ แต่เราก็ต้องยกระดับเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำซาก

มิฉะนั้น เจอทั้งน้ำเขียวบวกน้ำมัน ทะเลจะเป็นอย่างไร พี่น้องคนทำมาหากินชายฝั่งจะเหนื่อยแค่ไหน" ดร.ธรณ์ เผยผ่านโพสต์เฟสบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat วานนี้ (5 ก.ย. 2566)

"ประเด็นน้ำมันรั่วอยู่ห่างจากเกาะสีชังประมาณ 2 กิโลเมตรขณะขนถ่ายน้ำมันของบริษัทไทยออยล์ มีปริมาณน้ำที่รั่วไหลประมาณ 70,000 ลิตร โดยกรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสอบ และพบว่ามีคราบน้ำมันสลายไปประมาณ 3,500 ลิตร และมีคราบน้ำมันกระจายตัวถูกพัดเข้าหาฝั่งชายหาดบางพระ ยาวไปจนถึงอ่าวอุดมประมาณ 4 กิโลเมตร แต่โชคดีที่มีแพลงก์ตอนบลูมสกัดไว้

อย่างไรก็ตามแพลงก์ตอนบลูมได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำบริเวณหน้าดินทั้งหมดตาย จึงขอเรียกร้องไปยังผู้ที่ต้องรับผิดชอบว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร และขอร้องเรียนไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมเจ้าท่าให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาปัญหาแพลงก์ตอนบลูม และการป้องกันน้ำมันรั่วไหล" กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.จังหวัดชลบุรี พรรคก้าวไกล กล่าวในการแถลงข่าว


"หวั่นกระทบประการัง" ทีมวิจัยจุฬาฯ

"จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ จ.ชลบุรี สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกไปสำรวจเบื้องต้น พบว่า ยังไม่พบผลกระทบที่เห็นชัดเกิดขึ้น เนื่องจากคราบน้ำมันได้ถูกกำจัดไปเกือบหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของทีมวิจัยที่ทำงานศึกษาผลกระทบของน้ำมันรั่วที่มีต่อระบบนิเวศปะการัง ในอดีตที่ระยองทั้ง 2 ครั้ง พบว่า ผลกระทบอาจจะยังไม่เกิดให้เห็นทันที แต่สิ่งมีชีวิตอาจจะใช้เวลาในการแสดงออกถึงผลกระทบที่ได้รับภายหลัง

โดยทางทีมนักวิจัยจากจุฬาฯ กำลังดำเนินการเก็บตัวอย่าง และสำรวจอย่างละเอียดโดยจะใช้เรือโดยการเก็บตัวอย่างน้ำทะเล และดิน ที่อยู่บริเวณรอบ ๆ กลุ่มคราบน้ำมัน เพื่อดูผลกระทบของน้ำมันที่รั่ว และสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน (Oil Spil Dispersant) ต่อสิ่งมีชีวิต และสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น และจะนำมาศึกษาวิจัยในเชิงลึก และนำเทคโนโลยีการแยกลำดับสารทางพันธุกรรม (DNA) ของสิ่งมีชีวิตแบบ metagenomic มาประยุกต์ใช้ โดยการศึกษาในลักษณะนี้จะสามารถบ่งบอกถึงผลกระทบภายในของสัตว์ทะเล รวมทั้งปลาต่าง ๆ ในบริเวณเหล่านั้นได้

นอกจากนี้ ทางทีมจุฬาฯ ได้วางแผนการศึกษาผลกระทบของการรั่วไหลของน้ำมันในระยะยาวด้วยเช่นกัน โดยจะมีการลงไปเก็บตัวอย่างมาศึกษาเป็นระยะ ๆ" Thai PBS รายงานวันนี้

"จากการศึกษาในอดีต และในห้องปฏิบัติการที่ผ่านมา พบว่า น้ำมัน หรือ คราบน้ำมัน รวมทั้งสารขจัดคราบน้ำมันสามารถทำให้ปะการังเป็นหมัน โดยปะการังไม่สามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่ และสเปิร์มได้ หรือ ถึงแม้ปะการังจะสามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่ และสเปิร์มได้ แต่คราบน้ำมันและสารขจัดคราบน้ำมัน จะทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่ถูกปล่อยออกมามีรูปร่างที่ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถปฏิสนธิกันได้จึงทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ปะการังเป็นหมันชั่วคราว

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสิ่งแวดล้อมกลับมาเหมือนเดิม ปะการังส่วนใหญ่ก็สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ แต่อาจจะไม่ 100 % ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีผลกระทบในระยะกลาง และระยะยาวอย่างไรต่อสัตว์ทะเล ซึ่งการตรวจติดตามผลกระทบนี้ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขึ้นสูงเพื่อดูไปถึงสรีรภายในของสัตว์ทะเล" ศ.สุชนา ชวนิชย์ รอง ผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับ Thai PBS


https://greennews.agency/?p=35493

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม