ดูแบบคำตอบเดียว
  #13  
เก่า 27-07-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


"น้ำทะเล" กลืนกิน แผ่นดินไทยหายสาบสูญ!





มีข่าวคราวเป็นระยะๆ จากนักวิชาการหลายท่านที่ออกมาเตือนว่า "ภาวะโลกร้อน" อาจทำให้พื้นที่ชายฝั่งเกือบทั้งประเทศไทยเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ

โดยเฉพาะพื้นที่อ่าวไทยตอนบนอย่าง "กรุงเทพมหานคร" นั้นมีความเสี่ยงสูง ถึงขนาดเกรงกันว่า

วันหนึ่งน้ำจะท่วมทั้งกรุงเทพฯ และกรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้บาดาล

สิ่งที่เราหลายคนตื่นตระหนกนี้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด?

รศ.ดร.ธนวัฒ น์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ติดตามศึกษาเรื่องนี้มานานกว่า 20 ปี นำผลการศึกษาที่ได้มาเผยแพร่ให้ความรู้ พร้อมๆกับเตือนสังคมไทยในเวทีเสวนา "จับตาประเทศไทยกับวิกฤตการณ์ภัยน้ำทะเลหนุนเพิ่มสูง" ซึ่งจัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา

รศ.ดร.ธนวัฒน์ เริ่มต้นการเสวนาว่า การศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ของอ่าวไทยตอนบน โดยการตรวจวัดระดับน้ำเฉลี่ยรายปีอย่างละเอียดนั้น แสดงให้เห็นว่า

เกิดความเปลี่ยน แปลงของ "ระดับน้ำทะเล" สูงขึ้นทุกขณะ

จากการศึกษาพบว่า ระดับน้ำทะเลของไทยสูงขึ้น 4.1 มิลลิ เมตรต่อปี

ในขณะที่รายงานของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ "ไอพีซีซี" เมื่อปี 2550 ระบุว่า

ระดับน้ำทะเลของโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 มิลลิเมตรต่อปี สูงกว่าเมื่อ 150 ปีก่อน ซึ่งสูงขึ้นปีละ 1.2-1.8 มิลลิเมตร


1.พระในวัดขุนสมุทรจีนต้องเอาตุ่มน้ำมายกสูงทำเป็นทางเดินเวลาน้ำทะเลหนุน
2.-3.ชาวบ้านขุนสมุทรจีน แสดงหลักฐานชายฝั่งที่ถูกน้ำกัดเซาะ
4.รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล


การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์นี้ ทำให้การเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างร้ายแรง

โดยในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ชายฝั่งของอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง ถึงจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีความยาวกว่า 120 กิโลเมตร มีถึง 82 กิโลเมตร ที่ถูกกัดเซาะอย่างหนัก มีพื้นดินหายไปแล้วถึง 18,000 ไร่

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ ยังมีผลต่อการคงอยู่ของ "หาดโคลน" ซึ่งเป็นแหล่งห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศบกและทะเล รวมถึงเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้านด้วยเช่นกัน โดยย้อนกลับไป 40 ปีที่แล้ว เมื่อระดับน้ำทะเลลดลงต่ำสุด หาดโคลนที่ "บางปู" จะโผล่ขึ้นมาประมาณ 5 กิโลเมตร แต่จากการตรวจวัดเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า บริเวณเดียวกันนี้ มีหาดโคลนเหลืออยู่เพียง 1 กิโลเมตร หดสั้นไปถึง 4 กิโลเมตร

ส่วนที่ "ขุนสมุทรจีน" จ.สมุทรปราการ ซึ่งเคยมีหาดโคลนอยู่ 2.5 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ประมาณ 1.1 กิโลเมตร

และ ที่ "มหาชัย" ซึ่งในอดีตเคยมีหาดโคลนอยู่ 2 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลือเพียง 250 เมตรเท่านั้น รวมทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันเราสูญเสียหาดโคลนไปแล้วถึง 180,000 ไร่

รศ.ดร.ธนวัฒน์ ยังเปิดเผยข้อมูลว่า การศึกษาผลกระทบการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ในอนาคตพบว่า

พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีอัตราการกัดเซาะเพิ่มขึ้นเป็น 65 เมตรต่อปี

หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป โดยไม่มีมาตรการใดๆมาป้องกัน อีก 10 ปีข้างหน้า แผ่นดินจะหายไป 1.3 กิโลเมตร อีก 50 ปีข้างหน้า จะหายไป 2.3 กิโลเมตร และภายใน 100 ปี แผ่นดินมีโอกาสหายไปถึง 8 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์เพิ่มสูงขึ้น มีด้วยกัน 3 อย่าง คือ

1.ปัญหาแผ่นดินทรุด
2.การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และ
3.การลดลงของตะกอนชายฝั่ง อันเกิดมาจากการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ

"ในอดีตแผ่นดินของกรุงเทพฯ มีอัตราการทรุดมากกว่า 10 เซนติเมตรต่อปี แต่หลังจากมีการควบคุมน้ำบาดาลแล้ว อัตราการทรุดลดลง เหลือประมาณ 1-3 เซนติเมตรต่อปี แต่ข้อเสีย คือจุดศูนย์กลางของการทรุดตัวย้ายไปอยู่ใกล้ชายฝั่ง ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งยิ่งรุนแรงมากขึ้น" รศ.ดร.ธนวัฒน์ แสดงความกังวล แล้วอธิบายต่อว่า การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสำคัญ 4 สาย ก่อนไหลลงสู่ทะเล ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน ทำให้ตะกอนดินจากแม่น้ำต้นสายไม่สามารถไหลลงสู่ชายฝั่งได้ เพราะถูกเขื่อนเหล่านี้ขวางกั้นไว้

"เราติดตามสถานีวัดระดับน้ำที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า หลังจากมีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยา ในปี 2500 เขื่อนภูมิพล ปี 2507 เขื่อนสิริกิติ์ ปี 2514 ระดับน้ำที่ผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลงอย่างเห็นได้ชัด การลดลงนี้จะส่งผลให้มี ตะกอนมาสู่ชายฝั่งน้อยลง ทำให้เกิดการท่วมของระดับน้ำทะเลได้ในอนาคต"

อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาฯ ชี้ด้วยว่า การสร้าง "เขื่อน" ทำให้ตะกอนที่เคยไหลลงสู่อ่าวไทยในปริมาณ 25 ล้านตันต่อปี ลดลงเหลือเพียง 6.6 ล้านตันต่อปี คือหายไปถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจำนวนตะกอนที่หายไปนี้ มีผลทำให้น้ำทะเลท่วมสูงขึ้นได้อีกถึง 2.5-3.5 เมตรต่อปี

ที่ผ่านมา เราอาจเข้าใจว่า ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งมีที่มาจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นหลัก

แต่ รศ.ดร.ธนวัฒน์ บอกว่า จากการศึกษาพบว่า ระดับน้ำทะเลส่งผลกระทบเพียง 9.6 เปอร์เซ็นต์ อีก 8 เปอร์เซ็นต์ มีที่มาจากตะกอนชายฝั่งที่ลดลง แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด และส่งผลกระทบถึง 82.5 เปอร์เซ็นต์ คือการทรุดตัวของพื้นดิน ซึ่งมีที่มาจากการขุดเจาะน้ำบาดาลเป็นหลัก

ทั้ง นี้ 5 จังหวัด ที่มีอัตราการทรุดตัวของพื้นดินมากที่สุด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และกรุงเทพมหานคร ผลจากการสูบน้ำบาดาลไปใช้เป็นจำนวนมาก มีผลให้พื้นดินทรุดตัวถึง 1-3 เซนติเมตรต่อปี ในขณะที่อัตราการทรุดตัวตามธรรมชาติโดยมากจะอยู่ที่ปีละ 0.5 มิลลิเมตรเท่านั้น

ส่วนอนาคตกรุงเทพฯ และแถบปริมณฑลจะจมทะเล กลายเป็นเมืองบาดาลหรือไม่ในวันข้างหน้านั้น รศ.ดร.ธนวัฒน์กล่าวว่า

วิธีป้องกันต้องควบคุมทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นไปพร้อมๆกัน

หากหน่วยงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยังไม่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและไม่พยายามปรับตัว หรือวางแผนรับมือ...

เมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาจริงๆ ก็อาจสายเกินไปเสียแล้ว




จาก : ข่าวสด วันที่ 27 กรกฎาคม 2553
ภาพจาก ... khunsamut.com

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม