ดูแบบคำตอบเดียว
  #52  
เก่า 03-02-2011
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default

มีข่าวเรื่องการเสวนามาเพิ่มให้อ่านค่ะ....




ชง'มาร์ค'ปิดท่องเที่ยวดำน้ำฟื้นปะการัง

นักวิชาการชงวาระเร่งด่วนแก้ปะการังให้ "อภิสิทธิ์" 1 ก.พ. เสนอปิดการท่องเที่ยว ปิดจุดดำน้ำ สร้างทางเลือกปะการังเทียมให้นักท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูปะการังระยะยาว นักดำน้ำเปิดข้อมูลพบเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ขอแบ่งเค้กค่าธรรมเนียมดำน้ำ 60 ต่อ 40 เรียกร้องกรมอุทยานฯ จัดโซนนิ่งพื้นที่ดำน้ำให้ชัดเจน


มูลนิธิเพื่อทะเล ได้จัดเสวนาเรื่อง "ระดมสมองกู้วิกฤติแนวปะการัง" โดย มีตัวแทนจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตัวแทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล กลุ่มนักดำน้ำ และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก วานนี้ (28 ม.ค.)

นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปะการังฟอกขาวในปัจจุบันอยู่ในช่วงการตายของปะการัง แต่แปลกที่หน่วยงานภาครัฐกลับบอกว่าปะการังที่มีสีเข้ม เพราะมีสาหร่ายขึ้นปกคลุมนั้นหายจากภาวะฟอกขาว โดยหารู้ไม่ว่าปะการังเหล่านั้นตายแล้ว ซึ่งแม้มีบางส่วนฟื้นคืนมาบ้างแต่ก็ไม่สมบูรณ์ และแตกต่างจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2534 และ 2538 ที่ปะการังฟอกขาวส่วนมากฟื้นกลับมาได้

นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วง คือ พวกปะการังโขดที่คาดว่าอายุ 300-400 ปี ซึ่งแต่ละปีจะเติบโตได้เพียง 1 เซนติเมตร ก็เกิดการฟอกขาว จึงต้องมองไปถึงปะการังส่วนที่เหลือรอดอยู่ซึ่งมีจำนวนน้อย หรือส่วนที่ตายไปแล้วจะทำอย่างไรให้รอดอยู่ได้ เพื่อไม่ให้ระบบนิเวศน์เสียหาย โดยเฉพาะถ้าไม่สามารถป้องกันการปกคลุมของสาหร่ายได้ เราก็จะไม่ได้ปะการังกลับคืนมา

นายศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า ในส่วนของอันดามันตอนใต้บริเวณช่องแคบมะละกาหรือบริเวณตั้งแต่ จ.ภูเก็ต-สตูล หลายแห่งพบปะการังฟอกขาว แต่ฟื้นคืนได้เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่หมู่เกาะอาดัง-ราวี ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา จ.สตูล มีฟื้นกลับมาได้ ตายไปเพียง 10% ซึ่งกำลังติดตามศักยภาพในการฟื้นตัวของปะการังวัยอ่อนที่กำลังลงเกาะซาก ปะการัง ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าประเทศไทยหมดหวังกับเรื่องปะการังแล้ว เพราะยังมีโอกาสจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของปะการังอยู่ ซึ่งทางฝั่งอ่าวไทยช่วงนี้เป็นช่วงที่ปะการังผสมพันธุ์อยู่ จึงต้องขอความร่วมมือในการปกป้องและรบกวนให้น้อยที่สุด

"วาระเร่งด่วน คือ ต้องปิดการท่องเที่ยว ปิดจุดดำน้ำ และสร้างแหล่งปะการังเทียมขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือก ส่งเสริมการท่องเที่ยวไปกลับบนเกาะแทนการนอนค้าง ลดการพัฒนาบนฝั่งที่ทำให้มีตะกอนลงทะเล โดยเฉพาะการก่อสร้างถนนของภาครัฐ และการเปิดหน้าดินเพื่อก่อสร้างรีสอร์ทของเอกชน ที่ทำให้มีตะกอนลงไปทับถมซากปะการัง แก้ปัญหาน้ำทิ้งจากเรือท่องเที่ยว"

ส่วนระยะยาวขอให้กรม อุทยานฯ ปฏิบัติตามกฎระเบียบและแผนแม่บทเพื่อควบคุมนักท่องเที่ยว และการปรับองค์กรของรัฐ โดยเฉพาะกรมอุทยานฯ ที่น่าจะมีนักวิชาการด้านทะเลมาทำหน้าที่ รวมทั้งการหาบุคลากรที่มีคุณภาพในการเข้ามาเป็นหัวหน้าอุทยานฯ ทางทะเล เป็นต้น

ด้านนายวิทเยนทร์ มุตตามระ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการมูลนิธิเพื่อทะเล กล่าวว่า จะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้ในการระดมสมอง จัดทำเป็นข้อสรุป เพื่อส่งถึงมือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม. 1 ก.พ.นี้ ยืนยันว่าจะใช้ทุกสถานะของตัวเอง เพื่อผลักดันในเรื่องนี้อย่างเต็มที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการระดมสมองครั้งนี้มีนักดำน้ำอิสระ และครูสอนดำน้ำ และผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์ ได้ร่วมประชุมและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเรียกรับผลประโยชน์ค่าธรรมเนียม เข้าอุทยานแห่งชาติทางทะเลในฝั่งอันดามัน โดยนักดำน้ำอิสระรายหนึ่ง กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เดินทางพาลูกทัวร์เข้าไปดำน้ำที่อุทยานฯ แห่งหนึ่ง พอไปถึงก็มีเจ้าหน้าที่กระโดดลงมาที่เรือทันที พร้อมกับยื่นข้อเสนอทางวาจาว่าจะแบ่งกันไหมเขาขอ 60 และให้เรา 40 จากเงินค่าธรรมเนียมจากจำนวนหัวของนักท่องเที่ยวที่มาในเรือลำนี้

"พอเจอแบบนี้ก็รู้สึกอึ้ง มาก และสอบถามกับเพื่อนๆ ที่ทำทัวร์ในพื้นที่นี้ ต่างยอมรับว่าการเก็บเงินค่าธรรมเนียมทางทะเล มีอิทธิพลท้องถิ่น และทำงานเป็นกระบวนการ"

นักดำน้ำอิสระรายนี้ กล่าวต่อไปว่า อยากเรียกร้องให้กรมอุทยานฯ ลงมาตรวจสอบสภาพปัญหาในพื้นที่ และให้กรมชี้แจงการเก็บเงินค่าธรรมเนียมดำน้ำจำนวน 400 บาทต่อคนด้วย ว่า เก็บเงินเข้ากระเป๋าส่วนตัวของใคร หรือได้นำเงินรายได้ส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลหรือไม่

ขณะที่นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ยอมรับว่า ความล้มเหลวในการจัดการทรัพยากรปะการัง มาจากการขาดนโยบายในระดับชาติที่ชัดเจน รวมทั้งมีปัญหาบุคลากรที่มาดูแลอุทยานทางทะเล ที่ส่วนใหญ่จะมาจากสายป่าไม้ ไม่ได้จบทางด้านทะเลโดยตรง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กรมเคยมีส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล และมีการเทรนด์หลักสูตรดำน้ำเสริมประสิทธิภาพให้กับหัวหน้าอุทยานทางทะเล แต่ปัจจุบันส่วนอุทยานทางทะเล ได้ถูกยุบไปแล้ว

"ในสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมเรื่องปะการังฟอกขาวตาย โดยเตรียมผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งในส่วนของกรมมีข้อเสนอหลักที่จะให้นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานฯ พิจารณา ประกอบด้วย ข้อเสนอให้โซนนิ่งแหล่งดำน้ำ เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหนที่ต้องเก็บเพื่ออนุรักษ์ และไม่ให้มีกิจกรรมท่องเที่ยว"

นายทรงธรรม กล่าวต่อไปว่า ส่วนแนวปะการังที่ตายบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน รวมทั้งที่หมู่เกาะอาดัง ราวี ของอุทยานฯ ตะรุเตา ถึงจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ แต่ก็ขอให้คงนโยบายปิดไว้ก่อน เพื่อให้นักวิชาการเข้าศึกษาวิจัยอย่างละเอียด นอกจากนี้ จะให้พิจารณาขึ้นค่าธรรมเนียมดำน้ำ เพื่อช่วยคัดกรองนักท่องเที่ยว และจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพราะถ้าเทียบกับแหล่งดำน้ำอื่นๆ อาทิเช่น ที่หมู่เกาะมัลดีฟส์ และออสเตรเลีย แล้วของไทยถูกที่สุดแล้ว

ส่วนนางแน่งน้อย ยศสุนทร ตัวแทนจากกลุ่มครูสอนดำน้ำ องค์กร Saveoursea เสนอว่า อยากให้กรมอุทยานฯ กำหนดพื้นที่ดำน้ำลึก และดำน้ำตื้นในแหล่งท่องเที่ยวแต่ละจุด โดยอิงเรื่องประสบการณ์ดำน้ำของนักท่องเที่ยวที่ต้องมีระดับของการดำน้ำมา เป็นเกณฑ์ แต่ในเมืองไทยทุกคนเข้าถึงพื้นที่ได้ง่าย

นอกจากนี้ ขอให้ยกเลิกสอบดำน้ำตามอุทยานต่างๆ เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ปะการังน้ำตื้นเสียหาย รวมทั้งขอให้ทบทวนพิจารณาประกาศปิดจุดดำน้ำ เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ที่ปะการังฟอกขาวตาย และยังเลือกปิดในจุดที่ไม่มีผลกระทบจากการฟอกขาว ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในแนวปะการังน้ำตื้น มากกว่าจุดดำน้ำลึก

นางกุลปราโมทย์ วรรณะเลิศ ตัวแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ข่าวปะการังฟอกขาวที่ออกไปนั้น ไม่พบว่ามีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมากนัก จะกระทบเฉพาะในส่วนการดำน้ำดูปะการังน้ำตื้นเท่านั้น


ขอบคุณข้อมูลจาก
....http://www.suthichaiyoon.com/detail/8106

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม