ดูแบบคำตอบเดียว
  #93  
เก่า 05-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,355
Default


สารพัดโรคภัยที่มากับ "น้องน้ำ" เรื่องที่ทุกบ้านไม่ควรมองข้าม



สถานการณ์น้ำท่วม ณ เวลานี้ ยังคงสร้างความเดือดร้อนอยู่มากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบ้านที่ถูก "น้องน้ำ" เข้าท่วมจนข้าวของเครื่องใช้เสียหาย ส่วนบ้านไหนที่ขนของขึ้นที่สูงได้ทัน ก็ถือว่าโชคดีไป แต่นอกจากจะมุ่งความสนใจไปที่การรับมือกับน้ำเพียงอย่างเดียวแล้ว การดูแลสุขภาพให้ปลอดโรคที่มากับน้องน้ำก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ทุกๆบ้านไม่ควรมองข้ามเช่้นกัน

รอ.นพ. พันเลิศ ปิยะลาศ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคภัยที่มากับน้ำมีหลากหลาย โดยเฉพาะโรคติดต่อและอันตรายที่มากับภาวะน้ำท่วม และหลังน้ำลด เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม โรคระบบทางเดินอาหาร อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคน้ำกัดเท้า และโรคฉี่หนูที่ทำให้มีไข้สูงฉับพลัน และเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก นอกจากนั้นแล้ว ภาวะน้ำท่วมขังเป็นเวลานานๆ ก่อให้เกิดโรคที่มาจากแมลงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย เป็นต้น

ความน่าเป็นห่วงข้างต้น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ มีวิธีรับมือกับสารพัดโรคภัยที่แฝงมากับ "น้องน้ำ" มาฝากทุกๆบ้านตามแนวทางที่สามารถทำได้ง่ายๆด้วยตัวเองดังต่อไปนี้

- บ้านที่มีน้ำท่วมขัง ควรหาหามุ้ง หรือยาทากันยุงติดบ้านไว้บ้าง โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็ก โดยกางนอนทั้งกลางวัน และกลางคืน โดยเฉพาะตอนกลางวัน เป็นช่วงที่ยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ออกหากิน

- ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น เช็ดตัวให้แห้ง หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากไข้หวัดใหญ่ และปอดบวม

- เลือกทานอาหารที่ปรุงสุก และสะอาด อาหารกระป๋องที่ยังไม่หมดอายุ กระป๋องไม่บวมหรือเป็นสนิม ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำจากขวดที่ฝาปิดสนิท น้ำต้มสุก หลีกเลี่ยงการถ่ายอุจจาระลงในน้ำ ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดของโรค

- หากไม่แน่ใจว่าน้ำที่เราใช้ดื่มมีความสะอาดเพียงพอหรือไม่ ควรต้มน้ำดื่มให้เดือดเพื่อทำลายเชื้อโรคในน้ำก่อนหรือในส่วนของน้ำใช้ หากไม่แน่ใจให้ใช้ผงปูนคลอรีนทำลายเชื้อโรคในน้ำ โดยคลอรีนสามารถทำลายเชื้อโรคได้มากกว่า 99% รวมทั้ง อี.โคไล (E.coli) และเชื้อไวรัส นอกจากนี้ผงปูนคลอรีนสามารถเพิ่มปริมาณอ๊อกซิเจนในน้ำได้ ซึ่งการใช้คลอรีนอย่างระมัดระวังจะไม่เกิดอันตราย

- หลีกเลี่ยงการลุยน้ำลุยโคลน และป้องกันไม่ให้บาดแผลสัมผัสถูกน้ำโดยการสวมร้องเท้าบู๊ทยาง หากไม่สามารถเลี่ยงได้ควรรีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเป็นโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิสซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรคที่มากับน้ำ

- หากพบอาการระคายเคืองบริเวณตา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคตาแดง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดทันที หรือถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตาไม่ควรขยี้ตาด้วยมือที่สกปรก อย่าให้แมลงตอมตา และหลีกเลี่ยงที่จะใช้ของร่วมกับผู้ป่วยเพื่อป้องกันการระบาดของโรค

- บ้านใครที่มีผู้ป่วยเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง ลมชัก จำเป็นต้องใช้ยาต่อเนื่อง ควรจัดเตรียมยาประจำตัวของตนเองให้พร้อมอยู่เสมอในภาชนะที่ปิดกันน้ำได้

นอกจากนั้นแล้ว อุบัติเหตุที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วมที่ต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน ได้แก่ ไฟดูด จมน้ำ เหยียบของมีคม สามารถป้องกันได้โดย

- ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า สับคัทเอาท์ตัดไฟฟ้าในบ้านก่อนที่น้ำจะท่วมถึง

- เก็บกวาดขยะ วัตถุแหลมคม ในบริเวณอาคารบ้านเรือน และตามทางเดินอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากของมีคมได้แล้ว ยังช่วยป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีน้ำมาหลบอาศัยในบริเวณบ้านเรือนได้ด้วย

"เมื่อต้องเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม อย่างแรกที่ต้องมีก็คือ สติ อย่าตกใจหรือกลัวจนขาดสติ ควรเตรียมตัว เตรียมใจรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ติดตามรายงานของทางราชการอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนศึกษาขั้นตอนการอพยพ ระบบการเตือนภัย เส้นทางการเคลื่อนย้ายในกรณีเร่งด่วนครับ" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพทิ้งท้าย




จาก ..................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม