ดูแบบคำตอบเดียว
  #24  
เก่า 10-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default


“อย่าประมาท!...โรคมือ เท้า ปาก วายร้ายใกล้ตัว” (ตอน 3)


จากตอนที่ 2 ของเรื่องนี้ได้บรรยายให้ความรู้ไปแล้ว 7 ข้อ ในตอนที่ 3 นี้จะขอตอบคำถามของโรคนี้ต่อเป็นข้อต่อไปดังนี้

8.หากบุตรหลานมีอาการป่วยควรทำอย่างไร
แยกเด็กป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น หรือหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ เป็นต้น ต้องรีบพากลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที

ไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้างสรรพสินค้า ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศระบายถ่ายเทได้ดี ใช้ผ้าปิดจมูก-ปากเวลาไอจาม และระมัดระวังการไอจามรดกัน และผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย

9.ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก ที่รุนแรง โดยทั่วไปโรคมือ ปาก เท้า เป็นโรคที่ไม่อันตราย ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้บ่อยแต่ไม่มีความรุนแรง ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการของโรค ผู้ป่วยมักมีอาการป่วยเล็กน้อย หายได้เองภายใน 7-10 วัน และแทบไม่มีผู้เสียชีวิตเลย แต่เด็กอ่อนและเด็กเล็กมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากกว่าเด็กโต

10.วินิจฉัยโรคมือ เท้า ปาก ได้อย่างไร โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติ อายุ อาการ และอาการแสดง โดยสังเกตลักษณะผื่นหรือตุ่มแผลต่างๆ ที่ปรากฏ รวมถึงวินิจฉัยแยกจากโรคที่มีอาการแผลในปากอื่นๆ เช่น โรคติดเชื้อเริมในช่องปาก

สำหรับการส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการมักไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น เพราะต้องใช้เวลานาน 2-4 สัปดาห์ เพื่อแยกและยืนยันเชื้อที่เป็นสาเหตุ จึงทำในเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง หรือยืนยันการระบาดเท่านั้น

11.โรคนี้รักษาได้หรือไม่ รักษาได้ตามอาการ โดยทั่วไปใช้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด แต่ยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ โรคนี้หากผู้ป่วยรับประทานอาหารและพักผ่อนได้เพียงพอ ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงและหายได้เองในช่วง 7-10 วัน

สำหรับผู้ดูแลเด็กควรดูแลเด็กป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเด็กทารก เด็กเล็ก และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพื่อสังเกตอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงชีวิต และส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที

12.จะป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ได้อย่างไร การป้องกันโรคนี้ที่สำคัญคือ แยกผู้ป่วย และรักษาสุขอนามัยของสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโรคมักระบาดในเด็กเล็ก ซึ่งอยู่รวมกันในโรงเรียน หรือสถานเลี้ยงดูเด็ก จึงควรเน้นเรื่องการล้างมือ ทำความสะอาดของเล่นและสิ่งแวดล้อม และเน้นความสะอาดของน้ำ อาหาร และทุกๆ อย่างที่เด็กอาจนำเข้าปาก เด็กป่วยควรให้อยู่บ้านไม่ให้มาเล่นกับเด็กคนอื่น บางครั้งอาจมีความจำเป็นต้องปิดโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็กชั่วคราวหากมีการระบาดเกิดขึ้นมาก ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้

ข้อมูลจาก แผนกควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลพญาไท 2 http://www.phyathai.com




จาก ...................... บ้านเมือง คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม