ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 19-09-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


2 ธารน้ำแข็งอันตรายสุดในโลกกำลังแตก เสี่ยงกระทบระดับน้ำทะเล



- ปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ทั่วโลก มีความเสี่ยงจะรุนแรงขึ้นเร็วกว่าที่เคยคิดไว้ เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่า ธารน้ำแข็งสำคัญในขั้วโลกใต้กำลังแตกเร็วขึ้นกว่าเดิม

- ภาพจากดาวเทียมทำให้รู้ว่า ธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดของขั้วโลกใต้ กำลังเผชิญวิกฤตการณ์ ซึ่งอาจก่อให้เกิด วังวนอันตราย ที่ส่งผลให้หิ้งน้ำแข็งพังทลายลงในอนาคต

- การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดในทันที แต่จะค่อยๆ สะสมพลัง และสร้างความเสียหายมากขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว

ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น วิกฤติที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามา

ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ความสูงเฉลี่ยของน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ถึง 1 ซม.ต่อปี แต่มันสะสมมาเรื่อยๆ จนในปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในปี ค.ศ.1900 ราว 13-20 ซม.แล้ว นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะก่อนยุคปี 2000 ระดับน้ำทะเลโลกไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยช่วงปี 1900-1990 ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.2-1.7 มม. แต่ในปี 2000 ตัวเลขกลับเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 3.2 มม. และ 3.4 มม.ในปี 2016

นักวิทยาศาสตร์เห็นตรงกันว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ และระดับน้ำทะเลก็เริ่มสูงขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1800 ไม่นานหลังจากมนุษย์เริ่มเผาถ่านหิน, ก๊าซธรรชาติ และเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อใช้เป็นพลังงาน สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ก๊าซตัวนี้ดูดความร้อนจากดวงอาทิตย์และกักเก็บเอาไว้ ทำให้ชั้นบรรยากาศโลกร้อนขึ้น

และเมื่อโลกร้อนขึ้น ก็เกิด 2 ปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น อย่างแรกคือ การละลายของน้ำแข็งบนแผ่นดิน อย่างเช่น ธารน้ำแข็ง (glacier) และพืดน้ำแข็ง (ice sheet) ที่เพิ่มน้ำลงในทะเล และอย่างที่ 2 คือ การขยายตัวของน้ำอุ่นกินพื้นที่น้ำเย็นมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำในทะเลเพิ่มสูง


รอยแยกที่หิ้งน้ำแข็ง ลาร์เซน ซี. เมื่อปี 2017

ธารน้ำแข็งอันตรายที่สุดในโลกกำลังแตก

อย่างที่ระบุไปข้างต้นว่า การละลายของธารน้ำแข็งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ในวันที่ 14 ก.ย. 2020 ผ่านมา ก็มีข่าวที่ไม่สู้ดีนักสำหรับสถานการณ์น้ำแข็งขั้วโลก เมื่อธารน้ำแข็ง "ไพน์ ไอส์แลนด์" (Pine Island) กับธารน้ำแข็ง 'ธเวตส์' (Thwaites) ในทะเลอามันด์เซน ทวีปแอนตาร์กติกา หรือขั้วโลกใต้ กำลังแตกตัวมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นในระดับสูง

การละลายของธารน้ำแข็งขนาดมหึมาทั้งสองในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนทำให้น้ำทะเลโลกเพิ่มขึ้นคิดเป็น 5% ของปริมาณที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด โดยธารน้ำแข็ง ธเวตส์ เป็นหนึ่งในก้อนนำ้แข็งขนาดใหญ่และไม่มั่นคงที่สุดในแอนตาร์กติกา มีพื้นที่มากกว่า 192,000 ตร.กม. ใกล้เคียงกับรัฐฟลอริดา และเกาะบริเตนใหญ่ ธารน้ำแข็งทั้งสองยังทำหน้าที่เป็นเหมือนหลอดเลือด เชื่อมต่อ 'พืดน้ำแข็งแอนตาร์ติกตะวันตก' กับมหาสมุทรด้วย


เครื่องบินของนาซา บินสำรวจ ธารน้ำแข็ง ไพน์ ไอส์แลนด์ ในปี 2011 เพื่อศึกษารอยแตกที่กำลังกระจายไปทั่วหิ้งน้ำแข็ง

การอยู่รอดของมันสำคัญถึงขนาดที่สหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักร ต้องทุ่มเทงบประมาณหลายล้านดอลลาร์เพื่อการศึกษาวิจัย เพราะหากธารน้ำแข็งทั้งสองหายไป ก็อาจกลายเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการถล่มเป็นวงกว้างของ พืดน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตก ซึ่งมีน้ำแข็งมากพอจะเพิ่มระดับน้ำทะเลได้ถึง 10 ฟุต

และผลการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ผ่านวารสารวิทยาศาสตร์ 'Proceedings of the National Academy of Sciences' เมื่อ 14 ก.ย. แสดงให้เห็นรอยแยกและรอยแตกมากมายบนธารน้ำแข็งทั้งสอง บ่งชี้ว่า ระบบเบรกตามธรรมชาติที่ป้องกันไม่ให้น้ำแข็งของ ไพน์ ไอส์แลนด์ กับ ธเวตส์ ไหลออกสู่ทะเล กำลังอ่อนแอลง และความเสียหายที่เกิดขึ้นตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้การถดถอยของธารน้ำแข็งรวดเร็วขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่หิ้งนำ้แข็งของมันจะพังทลายในอนาคต


กำลังเกิดอะไรขึ้นกับธารน้ำแข็ง ไพน์ ไอส์แลนด์ และ ธเวตส์

ระบบเบรกดังกล่าว เกิดขึ้นจาก หิ้งน้ำแข็ง (ice shelf) ซึ่งเป็นแผ่นน้ำแข็งลอยน้ำขนานใหญ่ที่แผ่ขยายจากขอบนอกของธารน้ำแข็ง ออกไปในมหาสมุทร โดยในขณะที่มันแผ่ขยายออกไปในน้ำ หิ้งน้ำแข็งเหล่านี้จะถูกแช่แข็งไปบนไหล่เขาหรือเกาะต่างๆ และยึดตัวเองกับพื้นทะเล ทำให้มันกลายเป็นเหมือนระบบเบรกตามธรรมชาติ ไม่ให้น้ำแข็งไหลออกไป

แต่ผลการศึกษาใหม่ซึ่งใช้การวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่ ค.ศ. 1997-2019 พบว่า พื้นที่ที่เรียกว่า ?shear margin? ซึ่งเป็นจุดที่น้ำแข็งซึ่งไหลออกสู่ทะเลอย่างรวดเร็วมาพบกับน้ำแข็งที่ไหลช้าหรือก้อนหินเบื้องล่าง จนทำให้เกิดแรงเสียดทานและชะลอการไหลของน้ำแข็ง กำลังอ่อนแอลง ทำให้น้ำแข็งไหลออกไปเร็วขึ้น กอปรกับน้ำทะเลอุ่นที่กัดเซาะด้านล่างของหิ้งน้ำแข็งจนมันเปราะบาง ทำให้ shear margin บางจุดเริ่มแตกเป็นชิ้นๆ หมายความว่า ตอนนี้น้ำแข็งจากธารน้ำแข็ง ธเวตส์ จะเพิ่มลงสู่ทะเลไวยิ่งขึ้นอีก

นักวิทยาศาสตร์พบด้วยว่า shear margin ของธารน้ำแข็ง ไพน์ ไอส์แลนด์ ที่เริ่มมีรอยแตกตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 เสียหายเร็วขึ้นอย่างมากในปี 2016 โดยน้ำแข็งแตกกินพื้นที่เข้าไปเรื่อยๆ และมีรอยแตกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วบนน้ำแข็งใกล้กับ 'เส้นเกยตื้น' (grounding line) หรือจุดสุดท้ายที่ธารน้ำแข็งสัมผัสพื้นดินก่อนยกตัวขึ้นเหนือก้นสมุทรกลายเป็นหิ้งน้ำแข็งลอยตัว

นักวิจัยเตือนว่า กระบวนการนี้กำลังจะทำให้เกิดวังวน ซึ่งหิ้งน้ำแข็งที่อ่อนแอลงจะเร่งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ shear margin อันเปราะบาง ก่อนจะส่งผลย้อนกลับไปเป็นความเสียหายและการแตกตัวของหิ้งน้ำแข็งเอง และนั่นอาจทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ในปัจจุบัน


ภาพถ่ายดาวเทียมในปี 2000 ของธารน้ำแข็ง ไพน์ ไอส์แลนด์ แสดงให้เห็นรอยแตกขนาดใหญ่ราว 400-500 เมตร


ธารน้ำแข็งขั้วโลกกำลังเผชิญวิกฤติ

เรื่องที่น่ากังวลเกี่ยวกับธารน้ำแข็ง ไพน์ ไอส์แลนด์ และ ธเวตส์ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะผลการวิจัยอีกฉบับที่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อน พบว่า มีช่องทางอยู่ลึกลงไปในทะเลใต้ธารน้ำแข็ง ธเวตส์ ซึ่งอาจทำให้น้ำทะเลอุ่นไหลเข้าไปละลายน้ำแข็งจากภายในได้ และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราการละลายของธารน้ำแข็งทั้งสอง เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ว่า ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีก้อนน้ำแข็งขนาดรวมกว่า 44 ตารางไมล์ หรือ 2 เท่าของเมืองแมนฮัตตัน แตกออกจากหิ้งน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่ของทวีปกรีนแลนด์ ในอาร์กติก หรือขั้วโลกเหนือ ยิ่งเพิ่มความกังวลว่าจะเกิดการแตกตัวอย่างรวดเร็วของน้ำแข็งในภูมิภาคนี้

ศ.สเตฟ แลร์มิตต์ ผู้เชี่ยวชายด้านการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี เดลฟ์ต ในเนเธอร์แลนด์ ผู้นำการวิจัยในครั้งนี้ กล่าวว่า ธารน้ำแข็งในแอนตาร์กติกากำลังอ่อนแอลงในทุกด้าน โดยเฉพาะจากเบื้องล่าง เพราะกระแสน้ำอุ่นกำลังเล่นงานฐานของธารน้ำแข็ง ทำให้มันอ่อนแอลง ซึ่งมันอ่อนแอลงมาเสียจน shear margin เริ่มแตกเป็นชิ้นๆ


ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ส่งผลกระทบอย่างไร?

ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ไม่ใช่จู่ๆ จะมีคลื่นยักษ์ถาโถมท่วมบ้านเรือนเหมือนกับในภาพยนตร์ แต่สัญญาณแรกของมันคือ พายุต่างๆ หรือแม้แต่คลื่นสูง จะก่อความเสียหายมากขึ้น เหตุน้ำท่วมน้อยใหญ่จะเกิดบ่อยขึ้น พื้นที่ชายฝั่งจะถูกกัดเซาะทีละเล็กละน้อย ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

ตามข้อมูลของรอยเตอร์ส ที่เผยแพร่ในปี 2014 เมื่อช่วงยุคก่อนปี 1971 หลายเมืองในพื้นที่ชายฝั่งทางตะวันออกของสหรัฐฯ มีระดับน้ำสูงถึงขั้นน้ำท่วมเฉลี่ยไม่ถึง 5 วันต่อปี ทว่านับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ค่าเฉลี่ยกลับเพิ่มเป็น 20 วันต่อปี

การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลยังทำให้ เส้นแนวชายทะเลขยับเข้ามาในแผ่นดินมากขึ้น ส่งผลให้คลื่นพายุหนุนซัดฝั่ง หรือ สตอร์มเซิร์จ เข้าท่วมชุมชนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการบุกรุกของน้ำเค็ม ทำลายพืชผลทางการเกษตร และเปลี่ยนแปลงสารเคมีในดิน น้ำเค็มยังสามารถไหลเข้าสู่แหล่งเก็บน้ำบาดาล ทำให้ดินเค็มเกินกว่าที่จะเพาะปลูก

แม้ว่าผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ถึงช้ามาก แต่หากมนุษย์ยังไม่สามารถควบคุมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ภายในไม่กี่ศตวรรษข้างหน้า พื้นที่ชายฝั่งที่ปัจจุบันเป็นที่อยู่ของประชาชนกว่า 470-760 ล้านคน จะจมอยู่ใต้บาดาล และลูกหลานของเราจะกลายเป็นผู้ที่ต้องรับเคราะห์


https://www.thairath.co.th/news/foreign/1931417

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม