ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 21-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,359
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


สนธิสัญญาทะเลหลวงเข้าใกล้ความเป็นจริง หลังการลงนามรับรองครั้งแรก



หลายสิบประเทศจะลงนามในสนธิสัญญาประวัติศาสตร์ว่าด้วยการปกป้องทะเลหลวง เพื่อเริ่มบังคับใช้ข้อตกลงที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องระบบนิเวศสำคัญของโลก

นักเคลื่อนไหวจากกรีนพีซกางป้ายขนาดใหญ่หน้าสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ ในระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาเพื่อปกป้องทะเลหลวง ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา (Photo by Ed JONES / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 20 กันยายน 2566 กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวภายหลังสนธิสัญญาว่าด้วยทะเลหลวงได้รับการรับรองในที่ประชุมสหประชาชาติเมื่อเดือนมิถุนายน ล่าสุด หลายสิบประเทศจะทำการลงนามเป็นครั้งแรกในสนธิสัญญาดังกล่าว เพื่อเริ่มบังคับใช้อย่างเร่งด่วน

สนธิสัญญาทะเลหลวงถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องระบบนิเวศที่สำคัญต่อโลก โดยการผลักดันขององค์การสหประชาชาติ ที่ใช้เวลาหารือกันนานกว่า 15 ปี รวมถึงการเจรจาอย่างเป็นทางการอีก 4 ปี

"การเริ่มต้นการลงนามในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปีของสหประชาชาติ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างการคุ้มครองที่มีความหมาย" นิโคลา คลาร์ก จากโครงการธรรมาภิบาลมหาสมุทรขององค์กร The Pew Charitable Trusts กล่าว และเสริมว่า "เราเริ่มต้นบทใหม่ที่ประชาคมโลกต้องดำเนินการอย่างกล้าหาญเพื่อให้บรรลุถึงการคุ้มครองเหล่านั้น และรับประกันว่าแหล่งกักเก็บความหลากหลายทางชีวภาพขนาดมหึมาในมหาสมุทรจะยังคงให้ประโยชน์ต่อสุขภาพของมหาสมุทรและชุมชนทั่วโลกที่ต้องพึ่งพามัน"

ข้อความของสนธิสัญญาได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการโดยฉันทามติ แม้รัสเซียจะท้วงว่ามีเนื้อหาบางส่วนไม่เป็นที่ยอมรับก็ตาม

ทั้งนี้ทะเลหลวง (มหาสมุทร) กว่าครึ่งของโลกอยู่นอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือนอกชายฝั่งเกินกว่า 370 กิโลเมตรของแต่ละประเทศ จึงไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของรัฐใดรัฐหนึ่งในการรับผิดชอบ ดังนั้นการให้ความคุ้มครองสิ่งที่เรียกว่า "ทะเลหลวง" จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกประเทศ

ทะเลหลวงถูกละเลยมานานในการต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากผู้คนมักจะสนใจอยู่แค่พื้นที่ชายฝั่งและสิ่งมีชีวิตหลักๆไม่กี่ชนิด

เครื่องมือสำคัญในสนธิสัญญาดังกล่าวคือ การกำหนดความสามารถในการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในน่านน้ำสากล ซึ่งปัจจุบัน ทะเลหลวงเพียงประมาณ 1% เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองโดยมาตรการอนุรักษ์ทุกประเภท

สนธิสัญญานี้ถูกมองว่ามีความสำคัญต่อประเทศต่างๆ ที่จะปกป้อง 30% ของมหาสมุทรและผืนดินของโลกภายในปี 2573 ตามข้อตกลงแยกอีกฉบับที่รัฐบาลโลกได้บรรลุร่วมกันในแคนาดาเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

สนธิสัญญาทะเลหลวงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สนธิสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนอกเหนือเขตอำนาจแห่งชาติ" หรือบีบีเอ็นเจ (BBNJ) และได้รับการคาดหวังให้มีการผลักดันสู่การให้สัตยาบันของทุกประเทศสมาชิกในการประชุมมหาสมุทรแห่งสหประชาชาติครั้งต่อไปที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนมิถุนายน 2568

หลังจาก 60 ประเทศให้สัตยาบันครบแล้ว สนธิสัญญาจะมีผลใช้บังคับภายใน 120 วัน

ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ รัฐบาลมากกว่า 60 ประเทศวางแผนที่จะเริ่มสนธิสัญญานี้ทันที แต่การให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการขึ้นอยู่กับกระบวนการภายในของแต่ละประเทศ

นักวิทยาศาสตร์เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของมหาสมุทรมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะแหล่งผลิตออกซิเจนส่วนใหญ่ที่มนุษย์ใช้ในการหายใจ และมีบทบาทในการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในระดับจุลภาค.


https://www.thaipost.net/abroad-news/451948/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม