ชื่อกระทู้: เต่าตนุ
ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 06-07-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,248
Default เต่าตนุ


เต่าตนุ


ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณหาดบ้านแหลมกุ่ม ตำบลทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พากันมุงดูเต่าตนุ ขนาดลำตัวยาว 86 ซ.ม. กว้าง 70 ซ.ม. หนักถึง 48 กิโลกรัม ซึ่งติดมากับอวนชาวประมง

น่าตื่นเต้นตรงที่ เต่าตัวนี้เป็นเต่าท้องแก่ มีไข่นับร้อยฟองอยู่เต็มท้อง ชาวบ้านต้องช่วยกันนำตัวใส่ถังน้ำ

ก่อนส่งให้เจ้าหน้าที่ประมงปล่อยคืนกลับสู่ท้องทะเล

เหตุการณ์ลักษณะนี้ เคยเกิดขึ้นที่ชายหาดบ้านแหลมกุ่ม เมื่อปีที่ผ่านมา

ครั้งนั้น ชาวบ้านซึ่งกำลังเดินทางไปตกปลากับครอบครัว พบซากลูกเต่าตนุ 1 ตัวที่ชายหาด

เมื่อขุดลงไปในดินก็พบลูกเต่ากำลังแหวกว่ายออกจากทรายอีกนับร้อยตัว จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ประมงลงมาสำรวจ

เป็นครั้งแรกที่นักวิชาการบันทึกไว้ว่า พบแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลบริเวณชายหาดฝั่งอ่าวไทย

ขณะที่ก่อนหน้านี้พบเพียง 2 พื้นที่ คือ ที่เกาะคราม จ.ชลบุรี และเกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช

เต่าทะเลเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ มีหลักฐานว่าอยู่อาศัยทั่วไปมากว่า 130 ล้านปีแล้ว

การแพร่กระจายของเต่าทะเล พบเฉพาะในเขตร้อนและเขตอบอุ่น

ทั่วโลกพบเต่าทะเลอยู่ 8 ชนิด คือเต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) เต่ากระ (Erethmochelys imbricata) เต่าตนุ (Chelonia mydas) เต่าตนุหลังแบน (Chelonia depressa) เต่าหัวค้อน (Caretta Caretta) เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) เต่าหญ้าแอตแลนติก (Lepidochelys kempii)
และเต่าดำ (Chelonia agassizii)

ในประเทศไทย พบเต่าทะเลอาศัย อยู่ 5 ชนิด คือ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่ามะเฟือง เต่าหัวค้อน และเต่าตนุ

เต่าตนุเป็นเต่าทะเลกระดองแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

จัดเป็นสัตว์หายาก ใกล้สูญพันธุ์ ตามบัญชีในอนุสัญญาไซเตส บัญชีที่ 1

ลักษณะเด่น คือ มีเกล็ดบนส่วนหัวตอนหน้า จำนวน 1 คู่ และเกล็ดบนกระดองแถวข้างอีก 4 เกล็ด ขอบเกล็ดจะเชื่อมต่อกัน สีสันและลวดลายสวยงาม

กระดองมีสีน้ำตาลแดงอมเขียว มีลายเส้นสีน้ำตาลเป็นแฉกๆ คล้ายแสงอาทิตย์ ขณะที่ขอบกระดองและขามีสีเหลืองอ่อนๆ

เต่าตนุชอบอาศัยอยู่ในแนวปะการังที่เงียบสงบ และวางไข่บนชายหาดที่ปราศจากการรบกวนของมนุษย์

ช่วงเวลาวางไข่ คือระหว่างเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ แต่ละฤดูจะวางไข่ได้หลายชุด

แต่ละชุดเว้นระยะห่างประมาณ 7-10 วัน

เต่าตนุที่โตเต็มวัยจะวัดขนาดกระดองได้ 90-100 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 110-180 กิโลกรัม

กินพืชทะเลพวกสาหร่ายและหญ้าทะเล เป็นอาหาร

ชะตากรรมของเต่าตนุ นอกจากจะเสียชีวิต เพราะติดอวนของชาวประมงแล้ว เมื่อวางไข่ที่ชายหาดก็ยังมีคนแอบขโมยไปขาย

เพราะเนื้อและไข่ของเต่าตนุ ที่เรียกกันว่า "ไข่จะละเม็ด" บางคนนิยมนำมากินเป็นอาหาร

ด้วยเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เต่าในท้องทะเลไทยลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ

ที่ผ่านมามีความพยายามศึกษาวงจรชีวิตของเต่าตนุ ด้วยการติดเครื่องมือสื่อสารส่งสัญญาณดาวเทียม หรือไมโครชิพที่กระดองเต่า ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ข้อมูลที่ได้จะบอกว่า เต่าชนิดนี้มีวิถีชีวิตเช่นไร

ชอบอาศัยอยู่ในอุณหภูมิแบบไหน และเดินทางไปตามเส้นทางใดบ้าง

ทั้งหมดนี้จะใช้เป็นแนวทางในการวางแผนฟื้นฟู และอนุรักษ์เต่าทะเลไทยให้คงอยู่ต่อไป



จาก : ข่าวสด คอลัมน์ ที่13 วันที่ 6 กรกฎาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม