ชื่อกระทู้: อวนลาก - อวนรุน
ดูแบบคำตอบเดียว
  #7  
เก่า 06-08-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default


เหมือนไกลตา แต่ใกล้ใจ : ปัญหาการนิรโทษกรรมเรืออวนลาก ...................... โดย ประสาท มีแต้ม


เมื่อพูดถึงการประมงรวมถึงการนิรโทษกรรมเรืออวนลากที่เป็นปัญหาของสังคมไทยอยู่ขณะนี้ หลายท่านอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เกี่ยวกับตนและซับซ้อนเกินกว่าจะรับรู้ได้ จึงปฏิเสธการรับรู้ไปเลย แต่ถ้าเราหยุดคิดสักนิด เราจะค้นพบด้วยตนเองว่า ความรู้สึกดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริงเลย เรื่องเรืออวนลาก แค่ดูภาพประกอบก็สามารถเข้าใจปัญหาที่จะเกิดขึ้นแล้ว (กรุณาดูภาพเลยแล้วค่อยอ่านต่อครับ)



ผมเข้าใจว่า ประเด็นเรื่อง “เหมือนไกลตา” น่าจะเบาลงแล้ว คือไม่ซับซ้อน ไม่ไกลตัวและไม่ใช่ยาก คงเหลือแต่เรื่อง “ใกล้ใจ” ซึ่งผมเชื่อว่าหากเรามีหัวใจที่รักความเป็นธรรม คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสาธารณะสมบัติทั้งของคนรุ่นนี้และอนาคตแล้ว เราก็จะสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้จนถึงขั้นที่ไม่อาจจะอยู่เฉยๆได้แล้ว

ผมตั้งชื่อบทความนี้ด้วยความรู้สึกที่เป็นด้านกลับของเพลงเพื่อชีวิต “ใกล้ตา ไกลตีน” ของสุรชัย จันทิมาธร ที่ว่าเป้าหมายของการปฏิวัตินั้นดูเหมือนอยู่ใกล้ๆ แต่เอาเข้าจริงแล้วกลับไปไม่ถึง ในเรื่องนี้ผมมองว่า การจัดการทรัพยากรทะเลให้ยั่งยืน ให้เป็นแหล่งอาหารของคนทั้งโลกนั้น ไม่ใช่เรื่องยากและซับซ้อน ขอแต่เพียงเราตอบคำถามในบรรทัดสุดท้ายของเพลงที่ว่า “ฝันและฝันให้ไกลที่สุด เจ้ามนุษย์ เจ้าหวังสิ่งใด”

เรื่องที่จะนำมาเล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากการประชุมเพื่อตรวจสอบของอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องปัญหาการนิรโทษกรรมเรืออวนลาก ตามคำร้องของกลุ่มประมงพื้นบ้าน อีกส่วนหนึ่งเป็นการค้นคว้าเพิ่มเติมและข้อสังเกตของผมเอง ไม่เกี่ยวกับองค์กร ลำดับเหตุการณ์ที่นำมาสู่การตรวจสอบครั้งนี้ เป็นข้อๆ คือ


หนึ่ง ..... สหภาพยุโรปหรืออียูได้ออกกฎระเบียบว่าด้วย “การป้องกัน ต่อต้านและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ระเบียบ IUU” (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) เมื่อปลายกันยายน 2551 โดยมีผลบังคับตั้งแต่มกราคม 2553 มาตรการที่ทางอียูนำมาใช้ก็คือ จะไม่รับซื้อสินค้าประมงที่ไม่สอดคล้องกับระเบียบนี้ เขาให้เวลาในการปรับตัว 15 เดือน

วัตถุประสงค์ของอียูในการออกกฎหมายดังกล่าวก็เพื่อ “ส่งเสริมและสนับสนุนกับการทำประมงที่เหมาะสม สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับทรัพยากรสัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหารของคนทั้งโลก” (คำชี้แจงของหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการตลาดอียู-จากศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง)


สอง ..... กรมประมงซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการประมงเรืออวนลากที่เกรงว่าจะขายสินค้าไม่ได้ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวตามคำชี้แจงของรองอธิบดี และนักวิชาการประมงทรงคุณวุฒิ ดังต่อไปนี้

ในปี 2546 เคยมีการศึกษาวิจัยโดยองค์กรด้านอาหารและการเกษตร สหประชาชาติ ร่วมกับกรมประมงพบว่า จำนวนเรืออวนลากของประเทศไทยเกินศักยภาพที่ทรัพยากรจะรองรับได้ไป 33% โดยที่ขณะนั้นมีเรือ 7,968 ลำ (อ่าวไทย 6,793 ลำ ทะเลอันดามัน 1,175 ลำ) จึงต้องลดจำนวนในอ่าวไทยให้เหลือ 4,551 ลำ

เมื่อรวมกับในทะเลอันดามันแล้ว ประเทศไทยควรจะมีเรืออวนลาก 5,693 ลำ แต่จากข้อมูลในปี 2552 พบว่าประเทศไทยเรามีเรืออวนลากที่ได้รับอาชญาบัตรไปแล้ว 3,619 ลำ จึงสามารถให้อาชญาบัตรได้อีก 2,074 ลำ (ตัวเลขที่ทางกรมฯ ชี้แจงคือ 2,107 ลำ ไม่ทราบว่าผมจดผิดตรงไหน แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักนะครับ)

ผมได้เรียนถามรองอธิบดีว่า “ในการนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้นิรโทษกรรมนั้นมีเหตุผลทางวิชาการรองรับหรือไม่” อนุกรรมการท่านหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตและถามว่า “งานวิจัยไม่ชัดเจน ขอช่วยส่งเอกสารงานวิจัยมาให้ด้วย การให้อาชญาบัตรใหม่ เป็นการทำเรื่องผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย กรมประมงตีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของอียูคือความยั่งยืนของทรัพยากรหรือไม่”

ท่านรองอธิบดีกล่าวว่า “ยืนยันว่าการนำเรืออวนลากจำนวน 2,107 ลำเข้าสู่ระบบครั้งนี้ จะเป็นการดำเนินการตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะการศึกษาศักยภาพของทะเลไทยในการรองรับการทำประมง” และจากคำชี้แจงเพิ่มเติมสรุปได้ว่า ไม่ได้ออกอาชญาบัตรให้กับเรือใหม่ แต่เป็นการออกให้กับเรือที่ลากอยู่แล้ว แต่ต้องขาดใบอนุญาตไปจากเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 บ้าง ขาดทุนบ้าง น้ำมันแพง ขาดแรงงานบ้าง เป็นต้น

สิ่งที่วงการวิชาการอยากจะทราบก็คือว่า หลักการและวิธีการที่นำไปสู่คำตอบในงานวิจัยเมื่อปี 2546 ว่าจำนวนเรืออวนลากไทยเกินศักยภาพของทรัพยากรไป 33% นั้นเป็นอย่างไร และเมื่อเหตุการณ์ผ่านมาแล้วเกือบ 10 ปี สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างไร ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ทราบกันทั่วไปในหมู่นักวิชาการและชาวประมงพื้นบ้านก็คือ แย่ลงกว่าเดิม แต่ทำไมกรมประมงจึงยึดผล “วิจัย” เดิมโดยไม่มีการตรวจสอบกับงานวิจัยอื่นๆ เลย

ผลงานวิจัยที่ทำโดยกรมประมงเองเรื่อง “ทรัพยากรประมงบริเวณอ่าวไทยตอนบนจากเรือสำรวจปี 2549” (ตีพิมพ์ในวารสารเทคโนโลยีการประมง ก.ค.-ธ.ค.2552) พบว่า ผลการจับต่อการลงแรงประมงในปี 2549 ลดลงเหลือ 14 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในขณะที่ในปี 2506 อยู่ที่ 256 กก./ชม. หรือลดลงเกือบ 20 เท่าในช่วงเวลา 43 ปี

ทุกครั้งที่มีการสำรวจก็พบว่ามีการลดลงตลอด เช่น 66 กก./ชม. (ปี 2514) 39 กก./ชม. (2524) และ 22 กก./ชม. (2547) งานวิจัยสำรวจแต่ละชิ้นได้ใช้งบประมาณของประชาชนและแรงกายของข้าราชการไปจำนวนมาก แต่ทำไมผู้บริหารระดับสูงของกรมจึงไม่นำไปใช้ประโยชน์ ที่น่าแปลกกว่านั้น ทำไมนักวิชาการของกรมประมงที่ทำวิจัยเรื่องนี้จึงวางเฉยต่อเรื่องที่เกิดขึ้น


สาม ..... อีกประเด็นหนึ่งซึ่งกรมประมงไม่ได้ชี้แจงก็คือ องค์ประกอบของสัตว์น้ำที่ติดมากับอวน (ไม่นับรวมฟองน้ำทะเลและปะการัง) จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับกรมประมงเอง (เอกสารการประชุมวิชาการครั้งที่ 39) พบว่าเรืออวนลาก (แผ่นตะเฆ่ ขนาดเรือยาวไม่เกิน 14 เมตร) ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการนำสัตว์น้ำวัยอ่อนมาใช้ก่อนวัยอันควร (ดูภาพ-ที่เรียกว่าปลาเป็ด) ปีละ 2.06 ล้านบาทต่อลำ โดยมีต้นทุนที่ 1.97 ล้านบาท แต่ได้ผลตอบแทนเพียง 0.38 ล้านบาท เอกสารของกรีนพีชระบุว่าในปี 2004 เรืออวนลากจะฆ่าสัตว์น้ำอื่นๆ 16 กิโลกรัมเพื่อให้ได้สินค้าที่ตลาดต้องการเพียง 1 กิโลกรัม ส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการก็ทิ้งลงทะเลข้างเรือนั่นเอง


สี่ ..... กรมประมงย้ำว่า การออกใบอนุญาตครั้งนี้จะตามมาด้วยการออกมาตรการควบคุม เช่น ไม่ให้เข้ามาลากในเขต 3 พันเมตรจากชายฝั่ง แต่ชาวประมงพื้นบ้านซึ่งหากินตามชายฝั่งแย้งว่า ที่ผ่านมาเรืออวนลากเข้ามาแค่ประมาณหนึ่งพันเมตรเท่านั้น เรื่องนี้ถ้ากรมประมงมีความจริงใจก็ต้องบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายเสียก่อน เรืออวนลากนอกจากจะทำลายหน้าดินซึ่งเป็นที่อยู่ของปลาแล้ว ยังทำลายอวนของชาวประมงพื้นบ้านด้วย บางคนซื้ออวนใหม่มาเพียงคืนเดียวด้วยราคานับหมื่นบาทก็ถูกทำลายไปแล้ว เป็นการซ้ำเติมให้เกิดหนี้สินเพิ่ม


ห้า ..... กรมประมงอ้างว่า เจ้าหน้าที่มีน้อย ดูแลเรืออวนลากที่เกเรได้ไม่ทั่วถึง ชาวประมงพื้นบ้านแย้งว่า หลายครั้งพวกเขาลงมือจับกุมเอง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้ความร่วมมือ บางครั้งชาวบ้านตกเป็นผู้ต้องหาเสียเอง ที่น่าเสียใจมากกว่านั้นก็คือ มีการยิงกันตายระหว่างชาวประมงอวนลากกับชาวประมงพื้นบ้านเมื่อสองคืนที่ผ่านมา อนุกรรมการสิทธิ์เสนอว่า กรมประมงควรจะมีการกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นโดยใช้หลักการมีส่วนร่วม


หก ..... นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ เรียนว่า ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ข้อ 5.2 บอกว่าจะฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง จำกัดและยกเลิกเครื่องมือทำลายล้าง กรมประมงเองก็ได้ทำปะการังเทียมด้วยงบหลายหมื่นล้านบาท จึงไม่น่าที่จะออกใบอนุญาตเรืออวนลากซึ่งเป็นต้นเหตุของการทำลายปะการังเทียม ในขณะเดียวกัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ออกวิดีโอเรื่อง “มหันตภัยเรืออวนลาก” น่าขันจริงประเทศไทยเรา!


เจ็ด ..... ผมเคยพยากรณ์เมื่อปี 2540 ว่า ถ้าการจัดการทะเลไทยยังคงเป็นเช่นเดิม ในอนาคตคนไทยจะได้กิน “ต้มยำแพลงก์ตอน” ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เกือบ 1,500 คนจาก 69 ประเทศ กำลังเรียกร้องให้ปกป้องระบบนิเวศน์ทะเลจากเรืออวนลาก (bottom trawling) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีการทำลายล้างมากที่สุด

นักวิทยาศาสตร์คาดหมายว่า “ถ้าไม่มีการทำอะไรอย่างเร่งด่วน แหล่งประมงทั้งหมดของโลกในปัจจุบันอาจจะล่มสลายภายในปี 2048” ศาสตราจารย์ Daniel Pauly จากศูนย์ประมงของมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย เน้นว่า สิ่งเดียวที่เป็นอาหารทะเลที่จะเหลืออยู่ให้เรารับประทานน่าจะเป็น “สตูแพลงก์ตอน” (ด้วยความเคารพ ผมเขียนไว้โดยไม่ได้เลียนแบบใคร)


แปด ..... ศาสตราจารย์ Jeremy Jackson อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ กล่าวไว้ในการบรรยายเรื่อง “เราทำลายมหาสมุทรอย่างไร” ว่า “มันไม่ใช่เรื่องของปลา ไม่ใช่เรื่องของมลพิษ ไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่มันเป็นเรื่องเรา ความโลภของเราและความต้องการตอบสนองการเติบโต และเป็นเรื่องของการที่ไม่มีความสามารถที่จะจินตนาการถึงโลกที่แตกต่างไปจากโลกที่เห็นแก่ตัวที่เราเป็นอยู่เช่นทุกวันนี้”


เก้า ..... กรมประมงได้ถามที่ประชุมว่า “ถ้าไม่ออกใบอนุญาตให้เรืออวนลาก แล้วจะให้ทำอย่างไร?” ผมเห็นว่า “เราจินตนาการถึงโลกที่มีความแตกต่าง…” ไม่ได้จริงๆ แต่ เอ๊ะ การนำปูไข่ที่จับได้ของชาวประมงพื้นบ้านมาเพาะฟักแล้วปล่อยไข่กลับลงทะเล ก่อนจะนำแม่ปูมาต้มกิน น่าจะเป็นความแตกต่างจากเรืออวนลากนะ


สิบ ..... สังคมโลกต้องร่วมกันตอบคำถามละครับว่า “ฝันและฝันให้ไกลที่สุด เจ้ามนุษย์ เจ้าหวังสิ่งใด”




จาก ........................ ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 5 สิงหาคม 2555


__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 06-08-2012 เมื่อ 08:37
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม