ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 28-08-2009
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,242
Default


เลี้ยงนวลจันทร์ทะเลเชิงพาณิชย์ อีกหนึ่งทางเลือกชาวประมงชายฝั่ง


นวลจันทร์ทะเลโตเต็มที่

กว่า 30 ปีที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ได้รวบรวมลูกปลา นวลจันทร์ทะเลจากธรรมชาติมาทดลองเลี้ยงไว้ในบ่อดินเพื่อรวบรวมไว้เป็นพ่อแม่ พันธุ์ พร้อมทั้งร่วมกับกองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำในการพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ปลานวลจันทร์ทะเลในรูปแบบต่างๆ อาทิ ปลานวลจันทร์รมควัน ปลาก้างนิ่ม ปลาต้มเค็ม-ต้มหวานบรรจุกระป๋อง ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีรสชาติดีและสะดวกในการบริโภค แต่เนื่องจากเกษตรกรไม่มีการเลี้ยงอย่างต่อเนื่องจึงยังไม่สามารถพัฒนาผล ผลิตไปสู่เชิงพาณิชย์ได้


"ตอนนี้มีกำลังดูอยู่ 2 แนวทางคือส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงแล้วนำมาแปรรูปเองเพื่อพัฒนาเป็นโอท็อป ของจังหวัด ทำแบบครบวงจรไปเลย เพราะถ้าขายปลาเป็นๆ ราคาจะถูกมาก จึงต้องนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ก็ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป เพื่อการส่งออก เพราะปลาชนิดนี้เป็นที่ต้องการของต่างประเทศมากโดยเฉพาะไต้หวัน จีนและประเทศในแถบยุโรป"

จินตนา นักระนาด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลแก่ชาวบ้าน โดยเน้นในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นหลัก เนื่องจากปลาชนิดนี้พบมากในบริเวณแถบชายฝั่งทะเลของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ง่ายในการส่งเสริมเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน สอดรับกับนโยบายของกรมประมงที่มุ่งเน้นการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ ทะเลอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดยมีหน่วยงานต่างๆ ภายใต้สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาอาหาร สำหรับพ่อแม่พันธุ์ ตลอดจนเทคนิคการเพาะฟักและอนุบาล โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์เป็นหน่วยงานหลักในการ ผลิตไข่และลูกปลาแรกฟักให้แก่ศูนย์วิจัยต่างๆ และสถานีอื่นๆ นำไปทดลองอนุบาลและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงให้แก่เกษตรกรที่สนใจต่อไป

ผู้ อำนวยการศูนย์คนเดิมระบุอีกว่า สาเหตุที่เกษตรกรไม่นิยมเลี้ยงในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากราคารับซื้อปลาชนิด นี้ในท้องตลาดมีราคาต่ำเฉลี่ยระหว่าง 18-25 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันมีนักธุรกิจชาวไต้หวันได้เข้ามาลงทุนเลี้ยงอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยนำเข้าลูกพันธุ์จากไต้หวันมาเลี้ยงที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์แล้วส่งปลาขนาด 500-1,000 กรัมไปขายที่ตลาดมหาชัย สนนราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท รวมถึงการใช้ปลานวลจันทร์เป็นเหยื่อในการตกปลาทูน่า ทำให้การเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลเริ่มได้รับความสนใจจากเกษตรกรมากขึ้น

ด้าน ฐานันดร์ ทัตตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมงเปิดเผยว่า ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์มีพ่อแม่พันธุ์ปลา นวลจันทร์ทะเลอายุ 6-7 ปี ขุนเลี้ยงไว้ในบ่อดินประมาณ 200 ตัว นอกจากนี้ยังมีปลาวัยรุ่นขนาดต่างๆ ตั้งแต่ 250-300 กรัมไปจนถึงขนาด 0.5-1 กิโลกรัม รวบรวมเลี้ยงไว้เพื่อคัดเลือกเป็นพ่อแม่พันธุ์รุ่นต่อๆ ไปอีกจำนวนไม่น้อยและยังมีหน่วยงานอื่นๆ อาทิ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประมงอ่างคุ้มกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี และศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำเพชรบุรี เป็นต้น ทำให้กรมประมงมีความพร้อมในการที่จะศึกษาพัฒนาการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลได้ เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบ คีรีขันธ์ยังได้ร่วมกับกองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำจืดฝึกอบรมการเพาะเลี้ยง และการแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล ทั้งวิธีการถอดก้างปลา ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในประเทศฟิลิปปินส์ การทำปลาก้างนิ่มรมควันเพื่อทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในปลานวลจันทร์ทะเล ตลอดจนการพัฒนาแปรรูปวิธีต่างๆ เช่น ปลานวลจันทร์ทะเลต้มเค็ม ไส้กรอกปลาและชิ้นปลาเพื่อเป็นแนวทางและส่งเสริมการตลาดต่อไป


****************************************************


ขยายพันธุ์"นวลจันทร์ทะเล"ผลงานวิจัย "มนตรี บัวบาล"



แม้จะเป็นนักวิชาการชำนาญการ สังกัดศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ มีผลงานวิจัยจนเป็นที่ยอมรับระดับประเทศ แต่ "มนตรี บัวบาล" ก็หันมาสวมหมวกเกษตรกรอย่างเต็มขั้น ด้วยการนำผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จของศูนย์ไปขยายผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย


กว่า 20 ปีที่คร่ำหวอดกับงานวิจัยที่ศูนย์แห่งนี้ ในที่สุดเขาก็ประสบผลสำเร็จในการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลใน บ่อซีเมนต์เมื่อปี 2540 หลังใช้เวลาศึกษาทดลองอยู่หลายปี เนื่องจากธรรมชาติปลาชนิดนี้ แม้จะเติบโตในน้ำจืดได้ แต่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์มันจะต้องลงไปในท้องทะเลลึกเท่านั้น

"ผมก็ เป็นลูกน้ำเค็มเหมือนกัน บ้านเกิดอยู่ที่จ.ตรัง หลังจบป.ตรีที่ม.สงขลานครินทร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติก็ไปทำงานอยู่ที่ภูเก็ตอยู่พักใหญ่ก่อนจะมาบรรจุเป็นข้า ราชการที่ศูนย์แห่งนี้ ช่วงนั้นก็เรียนต่อปริญญาโทที่จุฬาฯ สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลไปด้วย จบแล้วก็ยังอยู่ที่นี่ไม่ได้ย้ายไปไหน ทำงานร่วมกับผอ.จินตนา นักระนาด ผอ.ศูนย์มาตลอด" มนตรีเผย

แม้จะมี ดีกรีมหาบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ทางทะเล ประสบผลสำเร็จในงานวิจัยหลายแขนง แต่เขาก็ไม่ได้ทำตัวเป็นนักวิชาการอยู่บนหอคอยงาช้างให้ความรู้ทางทฤษฎี แต่กลับชอบลงพื้นที่การทำงานร่วมกับชาวบ้านเพื่อนำผลงานทางวิชาการที่ได้ไป ถ่ายทอดให้ชาวบ้านในพื้นที่รอบๆ ศูนย์และพื้นที่ใกล้เคียง

"การทำ งานของผมจะต่างกับคนอื่นๆ อาจจะด้วยเนื้องานที่รับผิดชอบก็ได้ บางครั้งก็ไม่มีวันหยุดหรอก อย่างเวลาลงพื้นที่ก็ต้องกินอยู่กับเขาเป็นอาทิตย์ๆ ก็มี หรือเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ของปลานวลจันทร์ ปกติจะตรงกับช่วงสงกรานต์พอดี เขาก็ได้หยุดกัน แต่ผมก็ไม่เคยหยุด ต้องคอยดูมัน เพราะถ้าพ้นช่วงนี้ไปต้องรอไปอีกปี" นักวิชาการคนเดิมบอก

จึงไม่แปลกหากเห็นผู้ชายวัยกลางคน ดีกรีมหาบัณฑิต สวมหมวกแก๊ป ผูกผ้าขาวม้า สาละวนอยู่กับบ่อเลี้ยงปลานวลจันทร์ของชาวบ้าน หลังศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ผลักดันให้เป็นปลา เศรษฐกิจส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ตามนโยบายของอธิบดีกรมประมงคนปัจจุบันนั่นเอง



จาก : คม ชัด ลึก วันที่ 27 สิงหาคม 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม